นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง (Black-headed Woodpecker)

ท่ามกลางความเงียบสงัด กลางผืนป่าเต็งรังผืนใหญ่ ที่ร้อนอบอ้าวแม้จะยังอยู่ในช่วงฤดูกาลฝนก็ตามที มีเสียงแววสะท้อนดังแต่ไกล….โปก…โปก…โปก….เป็นเสียงการเจาะต้นไม้ทำรัง ต้นไม้บางต้นเราจะสัง เกตเห็นรูตามต้นมีถึง 1-2 รู บางต้นก็มีมากถึง 4-5 รูเลย ของนกประจำถิ่นเจ้า “นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง”
นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง มีชื่ออังกฤษ: Black-headed woodpecker; ชื่อวิทยาศาสตร์: Picus erythropygius) เป็นนกชนิดหนึ่ง ในวงศ์นกหัวขวาน (Picidae)

ลักษณะที่โดดเด่น ที่ลำตัว มีส่วนหัวสีดำ คอและอกสีเหลือง ใต้ท้องสีนวลและมีลายซิกแซกสีเขียวไพล ขนตะโพกสีแดงมักจะฟูฟ่องยามตกใจ หากรู้สึกมีสิ่งคุกคามอาจกางปีกที่มีลายขาวสลับดำ ให้ดูน่าเกรงขามเพื่อขู่ศัตรู บางตัวมีแถบคิ้วสีขาว แต่เฉพาะตัวผู้เท่านั้น ที่จะมีสีแดงที่กลางกระหม่อม ขณะที่ตัวเมียมีกระหม่อมสีดำ

นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง มีอุปนิสัยแตกต่างจากนกหัวขวานทั่วไป คือ เป็นชนิดเดียวที่มักอยู่รวมกันเป็นฝูงตลอดทั้งปี สาเหตุก็มาจากการที่พ่อแม่นกมีนกตัวอื่น ๆ มาทำหน้าที่ช่วยเลี้ยงลูกอ่อน และยังไม่ได้รวมฝูงเฉพาะนกชนิดเดียวกัน หากแต่ยังรวมฝูงหากินร่วมกับ นกกะราง, นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ (Dicrurus paradiseus) หรือนกหัวขวานชนิดอื่น ๆ รวมอยู่ด้วย

มีอุปนิสัยชอบเลียกินมด และปลวก บนพื้นดิน แต่บางครั้งก็มากินเศษอาหารที่มนุษย์เหลือทิ้งไว้ เช่นเดียวกับนกกะรางด้วย และชอบส่งเสียงร้องเอะอะเสียงดัง มักได้ยินเสียงก่อนเห็นตัว โดยส่งเสียงรัวติดต่อกันว่า “แอะแอะ แอะแอ้ว” คล้ายๆกับลูกสุนัข

มีถิ่นอาศัยกระจายพันธุ์ในป่าเต็งรัง มีระดับความสูงไม่เกิน 900 เมตร จากระดับน้ำทะเล พบกระจายพันธุ์ในเวียดนาม, กัมพูชา, ไทย, ลาว, พม่า สำหรับในประเทศไทย พบในป่าผลัดใบและป่าสนทางภาคตะวันตก, ภาคเหนือและภาคอีสาน พบบ่อยเฉพาะในบางพื้นที่ เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี และอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จ.ลำพูน จัดว่าเป็นกลุ่มสัตว์ป่าคุ้มครอง
ขอขอบข้อมูลจาก /สนุกกับการดูนก /www.wikipedia.org / www.oknation.net

ร่วมแสดงความคิดเห็น