10 ตุลาคม “วันสุขภาพจิตโลก” แนะวัยรุ่นยุค 4.0 เตรียมสุขภาพจิตให้พร้อมกับโลกยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี ถือเป็นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้กำหนดธีมในปี 2018 คือ วัยรุ่นกับสุขภาพจิตในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลง (Young People and Mental Health in a Changing World)
เพื่อให้ความสำคัญกับวัยรุ่นที่เป็นวัยเริ่มต้นในการเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เป็นช่วงเวลาแห่งชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม หลายเหตุการณ์ในช่วงนี้ ทำให้วัยรุ่นต้องผลักดันตนเอง เพื่อจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลและเครียดกับสถานการณ์ที่ตนต้องเผชิญ
วัยรุ่นบางรายที่ไม่สามารถจัดการกับเหตุการณ์ความเครียดนั้นได้ และปล่อยให้สะสมนานวันเข้า อาจนำมาสู่ความเจ็บป่วยทางจิตได้ พบว่าร้อยละ 50 ของผู้ที่เจ็บป่วยทางจิต เริ่มมีปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่อายุ 14 ปี และหลายรายไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือทางการแพทย์
ปัญหาสุขภาพจิตที่พบในวัยรุ่นเป็นอันดับ 3 คือ
1.โรคซึมเศร้า
2.การฆ่าตัวตาย พบในกลุ่มวัยรุ่น อายุ 15-29 ปี มากที่สุด
3. การใช้แอลกอฮอล์ และยาเสพติด
การที่วัยรุ่นมีการเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตจะเป็นการดี เพื่อเป็นเกราะในการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่นไปจนตลอดชีวิตของเขา
ด้านแพทย์หญิงรัชนี ฉลองเกื้อกูล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วัยรุ่นสามารถเตรียมความพร้อมรับมือป้องกันกับปัญหาสุขภาพจิตในโลกยุคที่มีการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาตนเองให้มีความสุขได้ ดังนี้
1. การฝึกคิดบวก เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราได้ ความสุขเริ่มได้ที่ตัวเรา
2. การหากิจกรรมที่ชอบทำ เพราะความสุขมาจากการได้ทำในสิ่งที่รัก
3. หมั่นออก กำลังกาย เพราะการขยับตัว จะทำให้ความคิดวิตกกังวลลดน้อยลง เพราะพลังงานไปอยู่กับการขยับร่างกาย เป็นการเทความเครียดออกจากสมอง
4. การทำกิจกรรมจิตอาสา เป็นการใช้พลังให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม เพื่อเพิ่มความภูมิใจในตนเอง
5. การทำกิจกรรมกับเพื่อนฝูงและครอบครัว เพื่อพัฒนาทักษะในการอยู่กับผู้อื่นในสังคม
สำหรับครอบครัวที่มีลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่น ขอแนะนำให้ปฏิบัติกับวัยรุ่นอย่างสร้างสรรค์ โดยการเปลี่ยนจากการ “บ่นว่า” เป็นการ “เพิ่มชม” และให้บอกความรู้สึกจากใจ เช่น รัก, เป็นห่วง, คิดถึง หมั่นชื่นชมลูกบ่อยๆ และ คอยเตือนตัวเองให้นึกถึงข้อดีของลูกเสมอๆ เพื่อให้เป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ให้พ่อแม่สามารถยอมรับกับพฤติกรรมของลูกวัยรุ่นได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น