กลอย หรือ ก๋อยที่เรารู้จัก กว่าจะมาเป็นขนมของทานเล่นพวกเรา มีวิธีการและนำมาจากไหนกัน?

ก๋อย ( กลอย )สร้างรายได้ วิถีชีวิตของชาวบ้านในจังหวัดลำปาง มีการเข้าป่าไปตามหากลอย ซึ่งกลอยถือว่าเป็นของกินมีมาตั่งแต่สมัยโบราณ ซึ่งปัจจุบันหลายคนอาจจะไม่รู้จัก

คนในหมู่บ้านหมู่ที่ 3 ต.พระบาทวังตวง อ.แม่พริก จ.ลำปาง พามารู้จักกับกลอย ของกินเล่นขนมยอดนิยมในช่วงปลายฝนต้นหนาว กว่าจะได้กินไม่ใช่เรื่องง่าย ลักษณะของต้นกลอยไม่ต่างจากใบไม้ใบหญ้าชนิดอื่น แต่หากสังเกตดีดีจะมีใบย่อยสามใบเรียงสลับกัน เป็นไม้เถาล้มลุก มีหนามรอบเถา เลื้อยพันขึ้นตามต้นไม้ใหญ่ ก่อนการขุดหัวกลอยต้องสังเกตที่ใบหากใบกลอยร่วงลงแสดงว่าหัวกลอยต้นนี้จะมีความเหนียวเนื้อกลอยไม่อร่อย เถากลอย 1 ต้นมักมีหัวกลอย 3 – 4 หัว หัวกลอยมีลักษณะคล้ายหัวมันเทศ
ใช้จอบหรือเสียมขุดขึ้นมา กลอยที่ขุดขึ้นมาจะต้องใช้ความระมัดระวังเพราะเป็นพืชที่มีพิษ การหยิบจับด้วยมือเปล่าอาจทำให้เป็นผื่นคันได้ กลอยที่ได้จะนำมาปลอกและหันสไลด์บางๆ แช่น้ำสะอาดหมักทิ้งไว้ 3 วัน 3 คืน แล้วนั้นรีดเอาน้ำออกด้วยการใช้เขียงหรือวัตถุที่มีน้ำหนักกดทับ ต่อมานำมาล้างด้วยน้ำไหลผ่านมักจะใช้น้ำจำนวนมาก ชาวบ้านที่นี่จึงนำไปล้างที่บริเวณน้ำตกธรรมชาติใกล้บ้าน ทำการชะล้างประมาณ 8 ชั่วโมง เพื่อคั้นเอายางกลอยออกให้หมด ในขั้นตอนสุดท้ายนำมาผึ่งให้แห้งด้วยลมอากาศอุณหภูมิห้อง เมื่อกลอยแห้งแล้วก็นำมานึ่งพร้อมกับกล้วยน้ำว้า ฟักทอง และข้าวโพด จะต้องนึ่งวัตถุดิบให้สุกพร้อมกัน ประมาณ 20 นาที ผสมกับเนื้อมะพร้าวปรุงด้วยเกลือและน้ำตาลรับประทานตอนอุ่นๆ หากต้องการเก็บกลอยไว้กินนานๆต้องตากกลอยให้แห้งสนิท บรรจุหีบห่อที่มิดชิดและสุญญากาศก็สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานถึง 1 – 3 ปี
นอกจากชาวบ้านที่นี้จะเข้าป่าหากลอยมาไว้รับประทานแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้ดีให้กับ คนในชุมชนอีกด้วย การจำหน่ายขายกลอยเปียกหรือเรียกว่ากลอยเน่าขายกิโลกรัมละ 50 บาท ส่วนกลอยแห้งกิโลกรัมละ 80 บาท อย่างไรก็ตาม กลอยในสมัยอดีตถูกนำมารับประทานแทนข้าว กลอยมี 2 ชนิด กลอยข้าวเหนียว ลักษณะเนื้อกลอยสีเหลือง กลอยข้าวจ้าว ลักษณะเนื้อกลอยสีขาว นอกจากกินเล่นเป็นขนมแล้ว หัวกลอยหากนำไปต้มสามารถดื่มแก้น้ำเหลือเสีย ขับปัดสวะ แก้ปวดตามข้อได้ด้วย ส่วนรากหากนำไปบดให้ละเอียดผสมกับน้ำมันมะพร้าว ใบยาสูบ ใบลำพง สามารถนำมาทาที่แผลน้ำหนองของสัตว์ได้ดีเลยทีเดียว

ร่วมแสดงความคิดเห็น