เที่ยวป่ามหัศจรรย์ที่ “ดอยหลวงเชียงดาว”

ดอยหลวงเชียงดาว ถือได้ว่าเป็นภูเขาหินปูนเพียงไม่กี่แห่งของประเทศที่ไม่เพียงแต่มีความงดงามของธรรมชาติเท่านั้น หากบริเวณนี้ยังเป็นป่าต้นน้ำชั้นหนึ่งของแม่น้ำปิง และยังเป็นแหล่งที่อาศัยของสัตว์ป่าหายากอีกหลายชนิด ด้วยความสูงที่อยู่เหนือจากระดับน้ำทะเล 2,225 เมตร ประกอบไปด้วยดอยเขาหินปูนสูงสลับซับซ้อน อันเกิดจากตะกอนทับถมอยู่ใต้ทะเลเมื่อราว 50 ล้านปีมาแล้ว กระทั่งในยุคต่อมามีการเคลื่อนตัวของชั้นเปลือกโลกอย่างรุนแรง ทำให้แผ่นดินยกตัวสูงขึ้นเป็นภูเขา ขณะเดียวกันแผ่นดินส่วนที่ทรุดตัวลงก็กลายเป็นแอ่งระหว่างภูเขานั้นไป และยั่งนานวันสายน้ำและสายฝนก็ทำหน้าที่กัดเซาะเทือกเขาหินปูนให้สึกกร่อนเป็นผิวขรุขระเกิดหน้าผาสูงชันจากความโดดเด่นของภูเขาหินปูนที่มีความสูงเกิน 1,900 เมตร ทำให้พืชพรรณที่ขึ้นอาศัยบนดอยแห่งนี้มีลักษณะที่โดดเด่นพิเศษตามไปด้วย เมื่อขึ้นไปบนดอยหลวงเชียงดาวเราจะพบว่ามีดอกไม้สวยงามหลายชนิดขึ้นอยู่ตามเชิงผาและซอกหิน พรรณไม้บางชนิดขึ้นอยู่ได้เป็นกลุ่ม ๆ มีทั้งพืชล้มลุกและไม้พุ่มขนาดเล็ก ซึ่งเป็นพรรณไม้ในเขตอบอุ่น เราจึงเรียกกลุ่มของพรรณไม้ที่พบในลักษณะนี้ว่า สังคมพืชกึ่งอัลไพน์ (Sub-alpine)

ดอยหลวงเชียงดาวมีองค์ประกอบอื่นที่ช่วยให้สังคมพืชกึ่งอัลไพน์ดำรงอยู่ได้ ด้วยสภาพของพื้นที่ที่เป็นหินปูนในบริเวณยอดดอย ผนวกกับสภาพอากาศที่แปรปรวนตลอดทั้งปี ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นปราการธรรมชาติที่คอยปกป้องไม่ให้สังคมพืชป่าดิบเขามีโอกาสเติบโตขยายอาณาเขตขึ้นมาสู่ยอดเขาได้ ขณะเดียวกันความสูงในระดับที่มีเมฆปกคลุมทำให้ได้รับความชุ่มชื้นอยู่เสมอดังนั้นดอยหลวงเชียงดาวจึงเป็นเสมือนบ้านสำหรับพรรณพืชในเขตอบอุ่นที่กระจายพันธุ์มาจากที่ต่าง ๆ ทั้งจากหิมาลัยตะวันออก และจากตอนใต้ของจีน การกระจายพันธุ์มาบรรจบกันและสิ้นสุดลงที่ดอยหลวงเชียงดาวแห่งนี้ ในยุค ปี 2515 – 2520 ดอยหลวงเชียงดาวอบอวลไปด้วยกลิ่นไอของการทำไม้และพิษภัยของยาเสพติด โดยเฉพาะไร่ฝิ่นที่ขึ้นอยู่ตามที่ราบเชิงเขาบนดอยหลงเชียงดาว ภายหลังหมดยุคสัมปทานป่าที่แห่งนี้ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ในช่วงนี้เองมีการเผาทำลายไร่ฝิ่นที่มีอยู่มากมายบนดอยหลวง กระทั่งปลายปี 2520 กรมป่าไม้ได้ประกาศให้บริเวณพื้นที่ดอยหลวงเชียงดาวเป็นเขตรักษาพันธุ์ป่าดอยเชียงดาวขึ้นดอยหลวงเชียงดาว เริ่มปรากฏชื่อครั้งแรกในฐานะของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เมื่อมีคณะสำรวจจากสโมสรเพื่อนเดินทางขึ้นไปสำรวจบนดอยหลวงเป็นครั้งแรก เมื่อ ปี 2524 และหลังจากนั้นเป็นต้นมาชื่อของดอยหลวงเชียงดาวก็เข้าไปอยู่ในความทรงจำของนักเดิน
ทางที่ชื่นชอบการท้าทาย

กล่าวกันว่านักเดินทางทั้งหลายที่เคยเดินทางข้ามภูดอยต่าง ๆ มานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว หากยังไม่มีโอกาสขึ้นไปสัมผัสความงามของดอยหลวงเชียงดาวก็ยังไม่นับว่าเป็นนักเดินทางได้อย่างสมบูรณ์ เพราะดอยหลวงเชียงดาวมีอะไรที่มากกว่าการเป็นภูเขาหินปูน ดอยหลวงเชียงดาว ผ่านวันเวลาทั้งสุขและทุกข์มาเนิ่นนาน ช่วงเวลาที่ดอยหลวงบอบช้ำและถือเป็นยุคตกต่ำที่สุด ในช่วงที่มีการจัดคาราวานขึ้นดอยหลวงเชียงดาว ในครั้งนั้นมีนักท่องเที่ยวสนใจเดินทางขึ้นไปเยือนดอยหลวงกว่า 1,000 คน ขณะเดียวกันทางอำเภอก็ได้
เชิญสื่อมวลชนประโคมโหมข่าว ทำให้ชื่อดอยหลวงเชียงดาว “บูม” สุดขีด หลังจากนั้นมาประมาณกันว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นดอยหลวงเชียงดาวมากกว่า 1,000 คนในแต่ละปี ส่งผลให้ธรรมชาติถูกทำลายอย่างบอบช้ำ สัตว์ป่าหลายชนิดหายไปแต่สิ่งที่เข้ามาแทนที่ก็คือกองขยะจำนวนมหาศาล สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบมาอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนแรงมากขึ้น กระทั่ง ปี 2533 เมื่อมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับตัวแทนชาวบ้านได้เริ่มตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของธรรมชาติบนดอยหลวง มีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านการท่องเที่ยวเพื่อค้นหารูปแบบการจัดการท่องเที่ยวอย่างเหมาะสมกับดอยหลวงเชียงดาว

ปัจจุบันมีการกำหนดคนที่จะเดินทางขึ้นดอยหลวงเชียงดาวอยู่ที่ไม่เกินวันละ 200 คน และกำหนดสถานที่พักแรมบนดอยหลวง 3 จุดคือ บริเวณอ่างสลุง ดงท้อและอ่างกล้วยแดง ขณะเดียวกันมีรายงานว่าในปี 2546 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นดอยหลวงเชียงดาวราว 2,000 คน คิดโดยเฉลี่ยแล้ววันละ 22 คน ดอยหลวงเชียงดาว มีชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ และมีตำนานเล่าขานเรื่องราวหลากหลายไม่ว่าจะเป็นตำนานเจ้าหลวงคำแดงที่โปรดปรานการเที่ยวป่าล่าสัตว์ในแถบสบคาบแม่นะ เทือกดอยเชียงดาวจนถึงถ้ำเชียงดาว กระทั่งเป็นที่มาของตำนานรักระหว่างเจ้าหลวงคำแดงกับนางอินทร์เหลา

ตำนานของดอยหลวงหรือดอยอ่างสลุง (อ่านว่าสรง) กล่าวไว้ว่าในสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับที่ดอยหลวงและทรงสรงน้ำในอ่างเชิงเขานี้ จึงเป็นที่มาของชื่อ ดอยอ่างสลุง ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น ดอยหลวงเชียงดาว ดอยหลวงเชียงดาว ขุนเขามหัศจรรย์หนึ่งในสถานที่ใฝ่ฝันของคนเดินทางในการดั้นด้นค้นหา ผ่าด่านอุปสรรคและความยากลำบาก จึงนับเป็นบททดสอบทางใจของคนหนุ่มสาวได้ดีบทหนึ่งทีเดียว ตำนานการเดินทางของดอยหลวงเชียงดาวยังไม่จบสิ้น ทว่าการเดินทางเพื่อค้นหาของคนสิ้นสุดลงเป็นบันทึกหน้าหนึ่งของเรื่องราวภูผา นามว่า “ดอยหลวงเชียงดาว” ท่ามกลางวันเวลาแห่งฤดูหนาวบนดอยหลวงเชียงดาว ทำให้ผมได้รับรู้และมองเห็นเรื่องราวในอดีตของ
สถานที่ พอ ๆ กับความอ่อนโยนงดงามของธรรมชาติได้อย่างกลมกลืนและอัศจรรย์

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น