ไปดูทะเลหมอกที่ “ห้วยน้ำดัง”

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเทือกเขาสูงใหญ่สลับซับซ้อนไกลสุดหูสุดตา คือปรากฏการณ์อย่างหนึ่งซึ่งธรรมชาติได้ใช้เวลาอย่างยาวนานในการสร้างสรรค์สิ่งมหัศจรรย์ชิ้นนี้ให้บังเกิดขึ้น จึงทำให้ดูเหมือนว่าภูเขาจะเป็นแหล่งธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งบนผืนแผ่นดิน
ด้วยเป็นที่รวมของสภาพภูมิประเทศและสภาพทางธรรมชาติต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นยอดเขา ภูผา น้ำตกหรือแม้แต่ผืนป่าอันเป็นต้นน้ำลำธารและเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด เช่น นก ผีเสื้อ ตลอดจนพรรณไม้ที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะถิ่น นอกจากนี้ก็ไม่อาจปฏิเสธได้อีกว่าภูเขาแต่ละแห่งล้วนเป็นจุดชมวิวทิวทัศน์อันงดงามยิ่งอย่างไม่มีที่ใดเสมือน ด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็นแตกต่างไปจากผืนแผ่นดินเบื้องล่าง เป็นที่ซึ่งเราสามารถพบพรรณไม้และดอกไม้แปลกตาที่หาชมได้ยาก รวมถึงได้ชมพระอาทิตย์ขึ้นและตกดินได้งดงามกว่าใคร ๆ

ผมมีโอกาสเดินทางเข้าไปเก็บเกี่ยวเรื่องราวความงามของธรรมชาติบนอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง ดินแดนที่ว่ากันว่ามีจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นและตกที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งและยังเป็นสถานที่ชมทะเลหมอกยามเช้าได้กว้างไกลสุดหูสุดตา ซึ่งนับเป็นปีที่สองติดต่อกันที่ผมเดินทางมาเยือนที่นี่โดยไม่รู้สึกเบื่อ

โดยเฉพาะสถานที่สักแห่งหนึ่ง หากจะให้มองเห็นถึงความงามของธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นจะต้องมีนักเดินทางที่มองเห็นความสวยงามของสถานที่นั้นเหมือนกันด้วย เพราะหากเมื่อใดที่นักเดินทางมองไม่เห็นความงามของสถานที่เหมือนกันแล้วละก็ ต่อให้ธรรมชาติแวดล้อมตัวเราจะสวยงามสักปานไหน จินตนาการแห่งความคิดฝันก็ไม่บังเกิด เรื่องราวความงามของธรรมชาติและสถานที่ยังคงไม่เปลี่ยนไปจากความทรงจำเดิม ทว่ามีนักเดินทางหลากหลายคนต่างหมุนเวียนเปลี่ยนหน้าเข้ามาค้นหาความทรงจำแห่งวันในต้นฤดูหนาว
หากย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน เรื่องราวของดอยสามหมื่น – ห้วยน้ำดัง เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งระหว่าง “คนสองกลุ่ม” กลุ่มหนึ่งคือ “ผู้พิทักษ์ป่า” อีกกลุ่มหนึ่งคือ “ผู้ทำลายป่า” ในยามนั้นผู้มาเยือนจึงไม่ใช่นักท่องเที่ยวที่แห่กันมากางเต็นท์ดูทะเลหมอกเหมือนวันนี้ หากแต่ที่นี่ได้ชื่อว่าเคยเป็นดินแดนแห่งการปลูกฝิ่นที่เทือกดอยทั้งลูกถูกปกคลุมไว้ด้วยไร่ฝิ่นออกดอกสีแดงสีขาวเบ่งบานสะพรั่งสุดลูกหูลูกตา เคยเป็นเส้นทางเดินทัพของทหารป่าพรรคคอมมิวนิสต์ และเคยเป็นไร่เลื่อนลอยของชาวเขาผู้รอนแรมอพยพมาจากประเทศจีน

กระทั่ง พ.ศ.2521 เป็นปีที่หน่วยอนุรักษ์ต้นน้ำของกรมป่าไม้เริ่มเข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่บริเวณดอยสามหมื่น – ห้วยน้ำดัง พร้อม ๆ กับการปราบปรามขบวนการทำไร่ฝิ่นอย่างจริงจัง การเข้ามามีบทบาทของ “โครงการพัฒนาที่สูงดอยสามหมื่น – หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยน้ำดัง” จึงเป็นโครงการปฏิบัติงานตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ไม่ใช่เน้นเพียงการปลูกป่าเท่านั้น แต่ยังต้องสัมพันธ์กับมวลชนชาวเขา ส่งเสริมให้ปลูกพืชเมืองหนาวแทนฝิ่น เลิกทำไร่เลื่อนลอย อันจะทำให้ชาวเขาไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน ตามแนวพระราชดำริที่จะให้ “คน” อยู่ร่วมกับ “ป่า” ตราบจนวันนี้ จากอดีตแหล่งปลูกฝิ่นขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ดอยสามหมื่น – ห้วยน้ำดังจึงกลายเป็นพื้นที่แม่แบบของการจัดการต้นน้ำที่ “คน” สามารถอยู่ร่วมกับ “ป่า” ได้อย่างสมบูรณ์พร้อมกับผู้มาเยือนชุดใหม่ที่เป็นนักท่องเที่ยวผู้หลงใหลในธรรมชาติแทนผู้บุกรุกผืนป่า เฉกเช่นในอดีต…วันนี้อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง พลิกมิติใหม่แห่งการท่องเที่ยวจากหน่วยจัดการต้นน้ำห้วยน้ำดังเมื่อ 30 ปีก่อน กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามแห่งหนึ่ง กระทั่งทุกวันนี้มีนักเดินทางจากทั่วสารทิศขึ้นไปชมทะเลหมอกยามเช้าและเฝ้ามองตะวันลับเหลี่ยมเขาเป็นจำนวนมาก ยามเมื่อลมพัดโชยเอาสายหมอกมาหยอกล้อกับภูเขา เสมือนเป็นสัญญาณบอกให้นักเดินทางผู้รักในธรรมชาติทั้งหลายว่า ถึงเวลาที่จะต้องรีบสะส่างการงานให้เรียบร้อย แล้วแบกเป้ออกเดินทางเข้าหาธรรมชาติ ที่ไหนสักแห่งหนึ่งที่อยู่ใต้แสงดาว ใกล้สายน้ำ เพราะจากนี้อีกไม่นานเมื่อลมฝนผ่าน ช่วงเวลาแห่งการดูพระอาทิตย์ขึ้นทะเลหมอก และเก็บเกี่ยวความงามของธรรมชาติก็คงพัดเลยไป กว่าจะกลับมาใหม่คงต้องรอถึงปีหน้า ที่สำคัญถ้าเกิดท่านเดินทางไปท่องเที่ยวในช่วง “ลองวีคเอนด์” ก็จะทำเอารถติดยาวเหยียด ต้องมาแย่งที่กางเต็นท์ แย่งกันเข้าห้องน้ำอีก
ใครที่อยากไปสัมผัสกับธรรมชาติ ดูดดื่มกลิ่นไอป่าแบบให้เข้าถึงทรวงแล้วละก็ ลองขึ้นเหนือไปตามถนนสายเชียงใหม่แม่ริม เลี้ยวซ้ายที่แยกแม่มาลัยไปตามทางสายปาย – แม่ฮ่องสอนประมาณ 65 กิโลเมตรก็จะถึงอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง จุดพักผ่อนและชมธรรมชาติที่สวยงามแห่งหนึ่ง ผมว่าใครที่พิศมัยทะเลหมอกน่าจะมาชมพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกที่ดอยกิ่วลมซึ่งอยู่ในบริเวณอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง นอกจากนี้ยังมีสถานที่พักผ่อนบริเวณใกล้เคียงเช่น จุดชมวิวดอยช้าง โป่งน้ำร้อนท่าปายและน้ำพุร้อนโป่งเดือด

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น