นกแว่นตาขาวสีข้างแดง/ Chestnut-flanked White-eye

นก ที่เรามักพบตามต้นไม้ในป่าที่มีน้ำหวานดอกไม้เสมอๆ โดยเฉพาะตามภูเขาสูงบนภาคเหนือ ในประเทศไทยเราพบกลุ่นนกแว่นตาขาว 4 ชนิด 1)นกแว่นตาขาวสีเหลืองปักษ์ใต้ 2)นกแว่นตาขาวสีข้างแดง 3)นกแว่นตาขาวสีทอง 4)นกแว่นตาขาวหลังเขียว นกแว่นตาขาวทุกชนิดมีขนาดเล็ก ขนาดและรูปร่างใกล้เคียงกับนกกระจิ๊ด แต่มีปากโค้งเล็กน้อยและปลายปากแหลม ลักษณะเด่นคือวงตาสีขาวเด่นชัดมี“กรอบแว่น”บางๆสีดำรอบวงตาลากไปจรดกับมุมปาก เป็นที่มาของชื่อ“แว่นตาขาว”และ White-eye ในภาษาอังกฤษนกแว่นตาขาวทุกชนิดในเมืองไทยมีหลังเป็นสีเขียว หรือ เหลืองอมเขียว ท้องเป็นสีเทาอ่อน คอและก้นเป็นสีเหลือง ทำให้อาจสับสนในการจำแนกชนิดได้ นกแวนตาขาวสีข้างแดง(nut-flanked Whiteeye) จึงเป็นชนิดที่จำแนกได้ง่ายที่สุดเพราะสังเกตุจากด้านข้างของลำตัวเป็นสีน้ำตาลแดง ดูคล้ายกับเป็นแผลมีเลือดออก แต่นกบางตัวก็มีสีแดงน้อยมาก จนเห็นเป็นสีชมพูเรื่อๆเท่านั้น ทำให้ดูคล้ายกับนกแวนตาขาวหลังเขียว ซึ่งมีลำตัวด้านบนเป็นสีเขียวเข้มคล้ายกัน แต่นกแว่นตาขาวหลังเขียวมีบริเวณหน้าผากเป็นสีเหลือง ต่างจากหน้าผากของนกแว่นตาขาวสีข้างแดง ซึ่งเป็นสีเขียวไพล เช่น เดียวกันกับสีบนหัว บางครั้งนกแว่นตาขาวทั้งสองชนิดนี้ก็รวมฝูงกันด้วย เช่น เดียวกับนกแว่นตาขาวอื่นๆ

นกแว่นตาขาวสีข้างแดง เป็นนกขนาดเล็กที่ว่องไวมาก เรามักได้ยินเสียงเจี๊ยวจ๊าวคล้ายกับลูกเจี๊ยบของฝูงนกแว่นตาขาว ก่อนที่จะเห็นตัวห้อยโหนตีลังกากินน้ำหวานอยู่เต็มต้นไม้ ตามปกติแล้วนกแว่นตาขาวจะขยับตัวไปมาตลอดเวลาไม่ยอมหยุดนิ่ง จึงแทบไม่มีโอกาสพิจารณาพวกมัน ถ้าไม่ใช่ตอนกำลังกินน้ำหวานดอกไม้ บางครั้งพวกมันก็กินผลไม้ขนาดเล็ก และแมลงเป็นอาหารด้วย แม้ว่าจะมีขนาดที่เล็ก และมีน้ำหวานดอกไม้เป็นอาหารจานโปรด แต่นกแว่นตาขาวก็ไม่ได้เป็นญาติ กับ นกกินปลี และนกกาฝาก ที่มากินน้ำหวานของดอกไม้

นักปักษีวิทยาในปัจจุบันยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าญาติที่ใกล้ชิดที่สุดของ นกแว่นตาขาว คือ นกภูหงอน(Yuhina) ซึ่งจัดอยู่ในวงศ์นกกนแมลง(Babbler) เป็นวงศ์ที่มี ความหลากหลายมาก และส่วนใหญ่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง โดย นกแว่นตาขาว เป็น นกกินแมลง เพียงไม่กี่กลุ่มที่พบว่ามีการอพยพย้ายถิ่นตามฤดูกาล อาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด เพราะสามารถพบได้ทั้งในทวีปแอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย โดยเฉพาะตามเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก

นกแว่นตาขาวสีข้างแดง เป็นนกอพยพที่พบได้บ่อยตามป่าบนภูเขาที่ความสูงตั้งแต่ 800 เมตร จาระดับน้ำทะเลขึ้นไป แต่บางครั้งก็ยังสามารถพบได้ตามสวน หรือ ชายป่าในที่ราบ ทำรังทางตอนเหนือของประเทศจีน และตอนใต้ของไซบีเรีย ในฤดูหนาวจะรวมฝูงกันอพยพลงมาในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นกแว่นตาขาวสีข้างแดงจึงถือเป็นนกแว่นตาขาวที่อพยพเป็นระยะทางไกลที่สุดในโลกด้วย
ขอขอบคุณ /ดร.ประภากร ธาราฉาย,คุณวิศาล น้ำค้าง,อ.จรัลศักดิ์ ลอยมี

ร่วมแสดงความคิดเห็น