เวียงหนองหล่ม ตำนานแห่งความล่มสลายของ “โยนกนาคพันธุ์”

เวียงหนองหล่มเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีลักษณะเป็นแอ่งรับน้ำ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่สุดของอำเภอแม่จัน และจังหวัดเชียงราย มีอาณาบริเวณติดต่ออยู่ 3 ตำบล 2 อำเภอ คือ ต.จันจว้า , ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน และ ต.โยนก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย มีพื้นที่ถ้าคำนวณจากการแบ่งสันปันน้ำประมาณ 60,000 กว่าไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่คงเหลือ ประมาณ 15,000 ไร่ เนื่องจากพื้นที่บางส่วน ได้มีการบุกรุก ครอบครอง ทำประโยชน์และออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินไปแล้ว พื้นที่บางส่วนถูกทำลายจากประชาชนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นจำนวนมาก จนทำให้สภาพแวดล้อมต่างๆ ถูกทำลายลงไป รวมทั้งแหล่งโบราณคดีที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และธรณีวิทยาที่ทรงคุณค่าได้สูญหาย และถูกทำลายอันเนื่องมาจากสาเหตุต่าง ๆ ดังกล่าว และสภาพพื้นที่ดังกล่าวในปัจจุบันยังคงมีสภาพที่เป็น หนองน้ำธรรมชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ หรือทางด้านระบบนิเวศน์ที่ค่อนข้าง มีความสมบูรณ์ ประกอบด้วย หนองน้ำ ทุ่งหญ้า ป่าไม้ สัตว์น้ำ และนกหลากหลายชนิด ซึ่งชาวบ้าน มักเรียกบริเวณแถบนี้ว่า “เมืองหนอง” หรือ เวียงหนอง” หรือบ้างก็เรียกว่า “ เวียงหนองหล่ม ” เวียงหนองหล่ม เป็นหนองน้ำและบริเวณที่ลุ่มต่ำ รูปร่างยาวตามทิศตะวันออกเฉียงเหนือ – ตะวันตกเฉียงใต้ ปิดล้อมด้วยเนินเขายกเว้นทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นที่ราบเปิดโล่งจนถึงแม่น้ำโขง บริเวณด้านใต้ของ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย น้ำในแอ่งระบายสู่แม่น้ำกกทางทิศตะวันออกตามลำน้ำแม่ลัว แต่ในฤดูน้ำหลาก น้ำจากแม่น้ำกกจะหลากท่วมเข้าไปในหนองทำให้เกิดบึงขนาดใหญ่ พื้นที่บริเวณโดยรอบเวียงหนองหล่ม แสดงให้เห็นร่องรอยของแนวรอยเลื่อนหลายแนว ที่สำคัญได้แก่ แนวรอยเลื่อนที่เป็นแนวยาววางตัวในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งก่อให้เกิดลักษณะภูมิประเทศตามแนวรอยเลื่อนอันได้แก่ แม่น้ำกก แม่น้ำบง ผาชันของดอยผาตอง รวมทั้งขอบของเวียงหนองหล่มด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้ จากการที่ขอบเวียงหนองหล่มเป็นแนวเดียวกันกับรอยเลื่อน ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเวียงหนองหล่มเป็นแอ่งที่เกิดจากการทรุดตัวของแผ่นดินตามแนวรอยเลื่อน ซึ่งแต่เดิมเกิดเป็นแอ่งยาวตามแนวรอยเลื่อน แต่ต่อมามีตะกอนมาทับถมบริเวณแอ่งด้านตะวันออกจนตื้นเขิน เหลือส่วนด้านตะวันตกเป็นหนองน้ำ

นักวิชาการบางท่านเชื่อว่าในอดีต บริเวณแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรโยนกนาคนคร ต่อมาได้เกิดการล่มสลายลงไป ซึ่งมีความเชื่อตั้งอยู่บนสมมุติฐาน มนต์ตราแห่งคำสาปของ “เวียงโยนกนาคพันธุ์” ที่มีความเป็นมาของดินแดนและชุมชนในแถบลุ่มแม่น้ำสายและแม่น้ำโขง รวมถึงแถบลุ่มแม่น้ำกกนั้น ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 ในรัชสมัยพญามังราย ปฐมกษัตริย์ผู้สถาปนาอาณาจักรล้านนา ทว่าก่อนหน้าพุทธศตวรรษที่ 19 นั้น พบว่ามีชุมชนเกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ ชุมชนในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำกก – โขง และชุมชนในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงเรื่องราวของการกำเนิดชุมชนในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำกก – โขงนั้น ปรากฏอยู่ในตำนานหลายฉบับเช่น ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ ตำนานสิงหนวัติ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ต่างกล่าวไว้ว่า เทวกาล เจ้าผู้ครองเมืองนครไทยเทศในยูนนาน ได้ให้ราชบุตรแยกย้ายกันไปสร้างบ้านแปงเมือง สิงหนวัติกุมารจึงได้นำผู้คนอพยพมาสร้างเวียงขึ้นในเขตลุ่มแม่น้ำกก ตำนานระบุว่า พญานาค ได้มาช่วยสร้าง จึงเรียกชื่อเมืองแห่งนี้ว่า “นาคพันธุ์สิงหนวัติ” หรือ “เวียงโยนกนาคพันธุ์” มีกษัตริย์ปกครองต่อมาถึง 45 พระองค์ จนในที่สุดเวียงโยนกนาคพันธุ์ก็ล่มสลายกลายเป็นหนองน้ำ เนื่องด้วยชาวเมืองไปจับปลาไหลเผือกตัวเท่าต้นตาล ยาว 7 วา ในแม่น้ำกก แล้วนำมา ชำแหละ และแบ่งปันกันกินทั่วเมือง พอถึงตอนกลางคืนเกิดฝนฟ้าคะนอง แผ่นดินไหวถึง 3 ครั้ง เป็นเหตุให้บ้านเมืองล่มสลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ กระทั่งปัจจุบันยังปรากฏหนองน้ำที่ชาวบ้านเชื่อกันว่าเดิมคือ เวียงโยนกนาคพันธุ์ของพระเจ้าสิงหนวัติ บริเวณกลางหนองมีเกาะเรียกชื่อว่า ดอนแม่ม่าย ซึ่งพ้องตามตำนานที่ว่ามีแม่ม่ายรอดตายจากเมืองล่มอยู่เพียงลำพังคนเดียว เพราะไม่ได้ร่วมกินปลาไหลเผือกกับชาวเมืองคนอื่น ๆ

ส่วนประเด็นเรื่องการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณพื้นที่เวียงหนองหล่ม (เมืองโยนกนาคนคร ) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เขตปกครองของ ต.จันจว้า , ต.จันจว้าใต้ ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน และ ต.โยนก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ว่ามีแนวลอยเลื่อนของเปลือกโลกที่เรียกว่า “ แนวลอยเลื่อน แม่จัน – เชียงแสน’’ หรือ “ รอยเลื่อนเชียง แสน’’ รอยเลื่อนนี้วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบนสุดของประเทศ มีความยาวประมาณ 130 กิโลเมตร โดยเริ่มต้นจากแนวร่องน้ำแม่จัน อ.แม่จัน ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตามแม่น้ำเงิน ทางด้านทิศเหนือของ อ.เชียงของจ.เชียงราย แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่วัดได้ตามแนวเลื่อนนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2521 วัดได้ 4.9 ริคเตอร์ และตั้งแต่ พ.ศ 2521 เป็นต้นมา ได้เกิดแผ่นดินไหววัดได้มากกว่า 3 ริคเตอร์ ซึ่งเกิดตามแนวรอยเลื่อนนี้ นับจำนวนได้ 10 ครั้ง และมี 3 ครั้งวัดได้มากกว่า 4.5 ริคเตอร์ แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นโดยทั้งหมดบริเวณนี้เป็นแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในระดับที่ตื้นกว่า 10 กิโลเมตร
และจากการศึกษา แผนที่หน่วยหินจังหวัดเชียงราย สำนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี เมื่อเดือน ตุลาคม 2547 พบว่า สภาพทางธรณีวิทยาในบริเวณกลางของพื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่ม ประกอบไปด้วยตะกอนปัจจุบัน สะสมตัวโดยทางน้ำ กรวด ทราย ดินในยุคควอเทอร์นารี ส่วนบริเวณขอบของพื้นที่หนองน้ำเป็นหินชั้นตะกอนที่ยังไม่แข็งตัวด้วยชั้นทราย ชั้นทรายกรวด ชั้นดินดานและชั้นทรายแป้ง ยุคเทอร์เชียรี และหินแกรนิต ไบโอไทต์-มัสโคไวต์แกรนิต ที่แสดงการเรียงตัวแบบยุคคาร์บอนิเฟอรัสช่วงล่าง

การพบหลักฐานทางโบราณคดี ที่ชาวบ้านได้ขุดพบเศษซากซึ่งเป็น ทั้งข้าวของ เครื่องใช้ในครัวเรือน กล้องยาสูบดินเผา แม้กระทั่งเครื่องรางของขลัง พระเครื่อง พระพุทธรูป กระจัดกระจายอยู่โดยทั่วบริเวณพื้นที่เวียงหนองหล่ม นอกจากนี้ยังพบว่าบริเวณกลางเวียงหนองหล่มยัง มีหนองน้ำร้อน (น้ำพุร้อน) ที่อาจเกิดจากรอยเลื่อนแม่จัน – เชียงแสน ที่ลากผ่านบริเวณพื้นที่เวียงหนองหล่ม แห่งนี้ จึงเป็นสมมุติฐานทางแนวความคิดที่สนับสนุนความเชื่อของประชาชนในท้องถิ่นซึ่งเชื่อว่าอาณาจักรโยนกนาคนครได้ล่มสลายลงอาจเกิดเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวแล้วทำให้เมือง ดังกล่าวได้ล่มจมลงเป็นหนองน้ำกว้างใหญ่ตราบเท่าที่เห็นในทุกวันนี้

ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้เข้ามาศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพในบริเวณพื้นที่เวียงหนองหล่ม พบว่าได้มีพืชจำนวน 286 ชนิด มีนก จำนวน 96 ชนิด และมีปลามากกว่า 22 ชนิด สัตว์น้ำและสัตว์ป่าอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากมายในระบบนิเวศน์ จึงถือได้ว่าบริเวณแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญยิ่งทางชาติพันธุ์และระบบนิเวศทางธรรมชาติ ดังนั้นพื้นที่เวียงหนองหล่มจึงนับว่าเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญแห่งหนึ่งของชุมชน โดยมีการจับสัตว์น้ำจำพวก ปลา กุ้ง หอย เพื่อนำมาเป็นอาหาร อีกทั้งยังมีพืชผักพื้นบ้านที่สามารถนำมาเป็นอาหารได้ ซึ่งขึ้นอยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่ม เช่น ผักขม ผักบ้งุ มะระ ตำลึง ขาเขียด สีเสียด เป็นต้น

และบริเวณพื้นที่แห่งนี้ยัง ถือได้ว่าเป็นแหล่งเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัวและควาย ซึ่งเป็นประโยชน์แก่พี่น้อง ประชาชนที่อาศัยอยู่รอบๆ เขตพื้นที่เวียงหนองหล่ม เป็นประโยชน์ต่อการอุปโภค บริโภค การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การเป็นแหล่งอุ้มน้ำหรือซับน้ำ เป็นการป้องกันการเกิดอุทกภัยและเป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ในใช้ในภาคฤดูแล้ง ซึ่งหากได้รับการปรับปรุงและพัฒนา ให้ดีกว่าสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คาดว่า พื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่มตามที่กล่าวมาข้างต้น จะเป็นประโยชน์โดยรวมแก่พี่น้องประชาชนทั้งในและ นอกพื้นที่ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งเป็นการพัฒนาเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และแหล่ง การเรียนรู้ทางโบราณคดี เรียนรู้เชิงระบบนิเวศ และ สิ่งแวดล้อม ไปพร้อม ๆ กับการอนุรักษ์สืบสานและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้เป็นมรดกไทยที่ดีงาม มีความหลากหลายด้านนิเวศน์ที่ยังคงงดงามตามธรรมชาติให้เหลือพอได้สัมผัสกลิ่นอายของ ประวัติศาสตร์สร้างสุขที่เลือกได้ของชุมชนคนจันจว้าตลอดไป

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น