นกจับแมลงหัวเทา (Grey-headed Canary-flycatcher)

จำนวนชนิดของนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์ที่มากมายรวมเข้ากับนกประจำถิ่นที่พบได้ตลอดปี ทำให้ช่วงกลางฤดูหนาวเป็นช่วงเวลาที่ เรามีโอกาสพบนกมากมายหลายชนิดที่สุดสำหรับเมืองไทย มีนกหลายชนิดเป็นขาประจำที่นักดูนกต้องได้พบเจอ ไม่ว่าจะเดินทางเข้าป่าที่ส่วนไหนของประเทศในฤดูกาลนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนกป่าประจำสัปดาห์ น่าตาจิ้มลิ้มฟินฟินที่มีชื่อว่า “นกจับแมลงหัวเทา” (Grey-headed Canary-flycatcher) นกจับแมลงหัวเทา(Grey-headed Canary-flycatcher) จัดอยู่ในกลุ่มวงศ์ Stenostiridae ที่มีถิ่นแพร่กระจายหลักอยู่ในทางทวีปแอฟริกา แต่ในประเทศไทยของเรานั้นสามารถพบได้ 2 ชนิด คือ นกจับแมลงหัวเทา(Grey-headed Canary-flycatcher) และ นกอีแพรดท้องเหลือง (Yellow-bellied Fantail) ทั้ง 2 ชนิด เป็นนกขนาดเล็กที่มีสีสันสดใส และมีลีลาการบินไล่โฉบแมลงที่ผาดโผนกลางอากาศ ถึงนกอีแพรดท้องเหลืองจะมีรูปร่างหน้าตาและอุปนิสัยคล้ายนกอีแพรด (Fantail) มาก แต่มันก็ไม่ใช่นกในวงศาคณาญาติของนกอีแพรด นักปักษีวิทยาบางคนจึงเสนอว่าควรเรียกนกอีแพรดท้องเหลืองด้วยชื่อ Yellow-bellied Fairy-flycatcher แทน Yellow-bellied Fantail เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้น
นกจับแมลงหัวเทา มีลำตัวสีเหลืองอมเขียวมะกอก ท้องเป็นสีเหลืองสด มีขนบนหัวเป็นหงอนฟูสั้นๆ อก และหัวเป็นสีเทาอมฟ้า บริเวณหน้าผากเป็นสีเทาเข้ม มีวงรอบตาจางๆสีขาว และมีหางค่อนข้างยาว เกาะกิ่งไม้โดยลำตัวตั้งตรงเหมือนนกจับแมลงแท้ ชอบเกาะกิ่งไม้ในระดับสายตา หรือระดับกลางของต้นไม้ มักบินออกไปโฉบจับแมลงแล้วกลับมาเกาะที่เดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ส่งเสียงร้องดังกังวานที่คล้ายเสียงผิวปากยาวๆ 5 พยางค์ ของนกจับแมลงหัวเทาอยู่เสมอ ส่วนใหญ่เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้บ่อย ตามป่าทางตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ แต่ในช่วงฤดูหนาวสามารถพบได้เกือบทั่วประเทศ ในป่าหลายประเภทตั้งแต่ที่ราบไปจนถึงยอดดอย ไม่เว้นแม้แต่ตามสวนสาธารณะที่มีไม้ยืนต้นร่มครึ้ม
นกจับแมลงหัวเทาชอบหากินร่วมกับนกชนิดอื่นๆ เป็นขาประจำที่จะพบเห็นได้ 1-2 ตัวเสมอใน bird wave ตามป่าดิบและป่าเบญจพรรณ มักพบใกล้ลำธารในป่า แต่ในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ก็พบได้ไม่ยาก ตามสวนและป่าชายเลนด้วย บ้านใครมีไม้ยืนต้นหนาแน่น และอยู่ใกล้แหล่งน้ำก็อาจมีนกชนิดนี้มาอาศัยอยู่เช่นกันครับ
ว่าแล้วเรามาช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้น้อยใหญ่ไม้ดอกไม้ใบ ในบ้านเราเอง ที่จะได้สร้างสวรรค์น้อยๆให้นกตัวจ้อยมาเยี่ยมเยือนถึงหน้าบ้าน
ข้อมูล : http://www.oknation.net/blog/plains-wanderer/2011/01/30/entry-1

ร่วมแสดงความคิดเห็น