เปิดกู่ตำนานตลาดสันป่าข่อย เคียงคู่กับคนเมืองเชียงใหม่

วันนี้หากท่านมองหาตลาด ขายอาหารไม่ว่าจะเป็น พวก ของสด เช่น หมู อาหารทะเล ผักสด หรือ จะเป็นพวกกับข้าวสำเร็จรูป มีหมดตั้งแต่ อาหารไทย อาหารพื้นเมือง อาหารจีน ในราคาชาวบ้านแนะนำ…ลองมาเดินเที่ยวชมเล่น เลือกซื้อสินค้าที่ ตลาดสันป่าข่อย จ.เชียงใหม่ที่ตั้งตลาดสันป่าข่อย ให้ท่านใช้เส้นทาง ถนนเจริญเมือง ตลาดจะอยู่ระหว่าง สะพานนวรัฐ กับ สถานนีรถไฟเชียงใหม่และอยู่ใกล้กับ ค่ายทหารกาวิละ และ วัดสันป่าข่อย ด้านหลังตลาด ยังเป็นเวที่มวยกาวิละ ชื่อดังและเก่าแก่ของเมืองเชียงใหม่ย่านสันป่าข่อยเป็นพื้นที่ๆตั้งอยู่ตรงกันข้ามย่านวัดเกตุ มีถนนเจริญเมืองคั่นกลาง ก่อนที่ทางรถไฟจะขึ้นมาถึงเชียงใหม่ ย่านสันป่าข่อยเป็นย่านเล็กๆ มีผู้คนอยู่อาศัยไม่หนาแน่นมากนัก ชุมชนแรก ๆ ที่ตั้งอยู่ในเขตนี้ คือ ชุมชนบ้านท่าสะต๋อย ด้านหลังตลาดสันป่าข่อยในปัจจุบัน เมื่อรถไฟมาถึงเชียงใหม่ พร้อมกับนำชาวจีนจากกรุงเทพฯ เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินในพื้นที่นี้เป็นจำนวนมากทำให้ย่านนี้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของเชียงใหม่ มีร้านค้าตั้งเรียงรายอยู่ 2 ฝั่งถนนเจริญเมือง ทำหน้าที่เป็นแหล่งรวมสินค้าที่จะส่งลงไปขายที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะพืชผลทาง การเกษตรจากอำเภอรอบนอก เช่น ข้าว สุกร ยาสูบและครั่ง รวมทั้งทำหน้าที่กระจายสินค้าจากรุงเทพฯ ส่งไปยังตลาดต่าง ๆ ทั้งในเชียงใหม่และเมืองอื่น ๆ ในเขตตอนบน คนเชียงใหม่เล่าให้ฟังว่า ในยุคนั้นบริเวณย่านสันป่าข่อยเต็มไปด้วยโกดังสินค้าสำหรับพักรอสินค้าก่อนส่งต่อไปยังที่ต่าง ๆ คึกคักไปด้วยผู้คนที่มาซื้อขายสินค้า มีวัวล้อเป็นจำนวนมากบนสองฝั่งถนนรอรับจ้างขนของ กิจการค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นการดำเนินธุรกิจของกลุ่มพ่อค้าจีนแทบทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น นายทรง แซ่อั้ง (อังคไพโรจน์) เล่าว่า เขานั่งรถไฟไปซื้อของ เช่น เกลือ น้ำตาล และกะปิ จากกรุงเทพฯ มาขายที่ร้าน และจากที่นี่มีพ่อค้าจากกาดลำไยและกาดรอบนอกมาซื้อไปขาย ขุนอนุกรบุรี(ต้นตระกูลนิมากร) เปิดร้านเหลี่ยวชุ่นหลี สั่งรถจักรยานบรรทุกรถไฟจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาขาย เป็นต้น |ศูนย์กลางที่สำคัญของพื้นที่ตรงนี้คือ กาด(ตลาด) สันป่าข่อย ไม่มีหลักฐานกล่าวว่ากาดแห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อใดแน่ แต่เข้าใจว่าคงตั้งขึ้นก่อนปีพ.ศ.2469 เนื่องจากเมื่อรัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสเชียงใหม่ กาดแห่งนี้มีอยู่แล้ว มีหลักฐานว่ากาดแห่งนี้สร้างจากการร่วมทุนระหว่างพระพิจิตรโอสถ ขุนอนุพลนคร และพลตรี พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) ปัจจุบันตลาดสันป่าข่อยเป็นตลาดที่คนเก่าแก่ในเชียงใหม่รู้จักกันดีว่ามีของกินอร่อย โดยเฉพาะอาหารของชาวจีน ซึ่งมีทั้งที่วางแผงขายในตลาด และเปิดร้านขายอยู่ริมสองฝั่งถนนเจริญเมือง ร้านที่ยังเป็นที่รู้จักกันดี คือ ร้านซาลาเปาวิกุล และร้านอาหารเจริญเมือง เป็นต้น ศูนย์กลางความเชื่อของชาวพุทธในย่านสันป่าข่อย คือ วัดสันป่าข่อย วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ด้านข้างของกาดสันป่าข่อย เดิมวัดนี้ชื่อวัดนางเหลียว ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิง แต่บริเวณวัดถูกน้ำท่วม จึงได้ย้ายมาอยู่ในบริเวณพื้นที่ปัจจุบัน เรียกชื่อวัด ตามชื่อพื้นที่ตั้งว่าวัดสันป่าข่อย มีหลักฐานว่า เจดีย์ของวัดนี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ และมีการทำบุญฉลองพระเจดีย์ในปี พ.ศ. 2411 จากการเข้าไปสำรวจวัดนี้ พบว่าวิหารหลังปัจจุบันสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2472 แม้ว่าเขตนี้จะมีศาลเจ้าจีนซึ่งเป็นสถานที่ทำบุญของพ่อค้าชาวจีนแล้วก็ตาม แต่เข้าใจว่าวัดนี้คงเป็นศูนย์กลางการทำบุญของชาวจีนพุทธในแถบนี้ด้วยเช่นกันย่านสันป่าข่อยเริ่มซบเซาลงเมื่อถนนระหว่างกรุงเทพฯ กับเชียงใหม่สร้างเสร็จ การเดินทางและการขนส่งด้วยรถยนต์จึงเข้ามาแทนที่รถไฟ เพราะสะดวกรวดเร็วกว่าประกอบกับในสมัยนั้นรถไฟระหว่างเชียงใหม่กับกรุงเทพฯ เดินทางอาทิตย์ละ 2 วันเท่านั้น นอกจากนั้นรถยังสามารถเดินทางเข้าไปรับซื้อสินค้าจากแหล่งผลิตได้ โดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางที่ตลาดสันป่าข่อยอีกต่อไป (รายการอ้างอิงศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่. วัดสำคัญของนครเชียงใหม่ เล่ม 2. เชียงใหม่ : ส. ทรัพย์การพิมพ์, 2535.อนุ เนินหาด, พ.ต.ท. (2543). เชียงใหม่สะปะเรื่องตะวา. เชียงใหม่ : นพบุรีการพิมพ์.)ณ วันนี้ตลาดสันป่าข่อย ถือได้ว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนที่อาศัยในย่านนี้ ที่สำคัญยังคงหลงเหลือวิถีชีวิตความเป็นของพ่อค้าแม่ค้า สินค้ากว่าครึ่งหนึ่ง ยังเป็นสินค้าที่มีแหล่งผลิตอยู่ในท้องถิ่นโดยเฉพาะสินค้าประเภทผัก ผลไม้ยังเป็นพืชผลที่ออกตามฤดูกาล ทำให้สินค้าไม่แพง ทางด้านอาหารสำเร็จรูปบางเจ้าอยู่ คู่กับตลาดมานานสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ด้านร้านค้าที่ทำอาหารจำหน่ายจนเป็นที่รู้จักใครผ่านไปผ่านมาก็ต้องแวะซื้อกลับไปทานที่บ้านดังเช่นร้านป้าลักษ์ ซี่โคลงหมูอบร้านป้าต้อยไส้อั่ว อีกหลากหลายร้านที่ล้วนแล้วมีเมนูอร่อยน่าทานให้ได้เลือกใช้บริการ ที่สำคัญตลาดได้เปิดให้บริการตั้งแต่เช้า จนถึงดึก เรียกได้ว่าใครที่แวะมาใช้บริการต้องได้ของถูกใจติดไม้ติดมือกลับไปที่บ้านทั้งของอุปโภคและบริโภค

ร่วมแสดงความคิดเห็น