ความเชื่อเรื่อง “หำยนต์” ของคนล้านนา

หำยนต์เป็นชื่อของแผ่นไม้แกะสลักลวดลายโบราณที่ติดตั้งเหนือประตูห้องนอนของเรือนล้านนา ส่วนใหญ่เป็นแผ่นไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามักเกี่ยวข้องกับความเชื่อลี้ลับที่สามารถดลบันดาลความเป็นไปต่าง ๆ ให้กับเจ้าของบ้าน แม้ความเชื่อเรื่องหำยนต์ จะซ่าลงไปในยุคสมัยปัจจุบัน แต่กระนั้นตามบ้านเรือนล้านนาโบราณยังคงความเชื่อเช่นนี้อยู่และอาจสืบทอดไปสู่คนรุ่นหลังในบางพื้นที่
หำยนต์มักจะทำขึ้นพร้อม ๆ กับการปลูกเรือนใหม่ เมื่อเจ้าของบ้านได้แผ่นไม้ที่จะทำหำยนต์ อาจารย์หรือพระผู้มีวิชาจะนำแผ่นไม้มาผูกไว้กับเสาเอกเพื่อทำพิธีถอน ทั้งนี้เพราะคนเมืองล้านนานั้นเมื่อจะประกอบพิธีกรรมใด ๆ จะต้องทำพิธีสูตรถอนก่อนทุกครั้ง และก่อนที่แกะสลักลวดลายหำยนต์ เจ้าของบ้านจะต้องนำดอกไม้ ธูปเทียนมาอัญเชิญอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาไว้ที่หำยนต์ เมื่อทำการแกะสลักหำยนต์แล้วจึงนำมาประดับไว้ที่บริเวณเหนือประตูทางเข้าห้องนอนของเจ้าของบ้าน โดยจะมีการทำพิธียกขันตั้งหลวง ประกอบด้วย ดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู ผ้าขาว ผ้าแดง และสุราอาหาร ให้อาจารย์กล่าวอัญเชิญเทวดา อารักษ์ ผีบ้านผีเรือนมาปกป้องรักษาบ้านหลังนั้นให้อยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุข
นี่เป็นความเชื่อหนึ่งของคนล้านนาที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน ทว่าในช่วงเวลา 30 – 40 ปีที่ผ่านมา มีนักวิชาการและปราชญ์ท้องถิ่นออกมาให้ทัศนะต่อหำยนต์ในหลายความคิดเห็น บ้างก็ว่าเป็นการทำไสยศาสตร์มนต์ดำของพม่าในยุคที่ปกครองเมืองเชียงใหม่ ขณะเดียวกันก็มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งให้ความหมายของหำยนต์ว่าเป็น ยันตร์สำหรับป้องกันภัยอันตราย อีกกลุ่มหนึ่งบอกว่าหำยนต์มีที่มาจากทับหลังซึ่งเป็นวัฒนธรรมเขมร แล้วแพร่หลายเข้าสู่ดินแดนล้านนา ซึ่งก็ว่ากันไป…
ต่อไปนี้เป็นนานาทัศนะของผู้รู้หลายท่านที่ได้กล่าวถึงความหมายของหำยนต์ อาจารย์ไกรศรี หิมมานเหมินท์ กล่าวไว้ในหนังสือศิลปลานนาไทย เรื่องเรือนแบบล้านนาว่า คำว่า “หำ” เป็นศัพท์ล้านนาไทยแปลว่า “อัณฑะ” ถือว่าเป็นสิ่งที่รวมแห่งพลังบุรุษชน ส่วนคำว่า “ยน” คงได้มาจากภาษาสันสกฤตคือ “ยนตร์” แปลว่าสิ่งป้องกันรักษาที่ศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นหำยนต์จึงเป็นส่วนตกแต่งเรือนและทำหน้าที่เป็นยันต์อันศักดิ์สิทธิ์ที่จะป้องกันอันตรายจากภายนอก ซึ่งมีที่มาจากเกียรติมุขในศิลปชวา
อาจารย์ไกรศรี ยังกล่าวอีกว่า เมื่อครั้งที่สมัยพม่าเข้าปกครองล้านนา ได้บังคับให้คนเมืองอยู่อาศัยในบ้านที่มีรูปร่างคล้ายโลงศพของพม่า และหำยนต์นี้เป็นอัณฑะของพม่านั้นเอง เมื่อเจ้าของบ้านชาวล้านนาและคนในครอบครัวเดินเข้าออกห้องและลอดใต้อัณฑะนั้นก็จะถูกข่ม และทำลายจิตใจไม่ให้คิดกระด้างกระเดื่องต่อสู้ขับไล่พม่า ซึ่งไปสอดคล้องกับความคิดเห็นของ อาจารย์เฉลียว ปิยะชน กล่าวไว้ในหนังสือเรือนกาแลว่า เมื่อชาวล้านนาจะขายบ้านหรือซื้อบ้านต่อจากเจ้าของบ้านคนเก่า ก็จะทำพิธีด้วยการตีหำยนต์แรง ๆ เพื่อทำลายความขลัง การทุบตีหำยนต์เปรียบเหมือนการตีลูกอัณฑะวัวควายในการทำหมัน ซึ่งเป็นการทำให้หมดสมรรถภาพ การหมดความศักดิ์สิทธิ์ของหำยนต์ก็เช่นกัน
ด้านอาจารย์มณี พยอมยงค์ ปราชญ์พื้นบ้านล้านนาให้ทัศนะว่า หำยนต์ มาจากคำว่า อรห+ยนต รวมเป็นคำว่า อรหันยันตะ แปลว่า ยันต์ของพระอรหันต์ ท่านกล่าวว่าในลวดลายต่าง ๆ ที่แกะสลักบนแผ่นหำยนต์นั้น น่าจะมีคาถาติดอยู่ เช่น คาถานโมพุทธศาสนา คาถากันผี เป็นต้น
ในการกำหนดขนาดของหำยนต์ จะวัดจากความยาวของเท้าเจ้าของบ้าน ถ้าเป็นประตูขนาดเล็กก็จะใช้ขนาดสามเท่าของเท้า ประตูขนาดใหญ่จะต้องวัดให้ได้ขนาดสี่เท่าของเท้าเจ้าของบ้าน ทั้งนี้การปลูกเรือนในสมัยก่อน ส่วนใหญ่จะใช้สัดส่วนจากมนุษย์เป็นตัวกำหนด เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานและมีความเชื่อเข้าไปสัมพันธ์ว่า ควรจะเป็นขนาดเท้าของเจ้าของบ้านถือว่าเป็นการข่มผู้ที่จะลอดใต้หำยนต์ หากเป็นผู้มีวิชาอาคมต่าง ๆ ก็จะเสื่อมถอยลง คนล้านนาโบราณจึงถือว่าหำยนต์เป็นสิ่งที่สามารถคุ้มครองป้องกันสิ่งไม่ดีที่จะเข้ามากล้ำกลายเจ้าของบ้านได้
ขณะเดียวกัน อาจารย์อุดม รุ่งเรืองศรี ปราชญ์พื้นบ้านชาวล้านนาอีกท่านหนึ่งได้ให้ความหมายของหำยนต์ในอีกทัศนะหนึ่งว่า หำยนต์ น่าจะเรียกว่า หัมยนต์ มากกว่า สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า หมมิย+อนต อ่านว่า หัมมิยะอันตะ คำว่า “หัมมิยะ” แปลว่า ปราสาทโล้น หมายถึงเพิงบังแดดชั่วคราว ส่วนคำว่า “อันตะ” แปลว่า ยอด ดังนั้น “หัมมิยะอันตะ” แปลว่า ปราสาทที่ไม่มียอด จึงอาจเป็นส่วนที่ตกแต่งในส่วนยอดของปะรำที่ห้อยลงด้านล่าง ท่านยังแสดงความคิดเห็นว่า หำยนต์ เป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เป็นคาถาอาคม เป็นสิ่งที่เจ้าของบ้านต้องการให้เกิดความสวยงามแก่ตัวบ้านเท่านั้นเอง
ในงานนิทรรศการเรื่องเกี่ยวกับ หำยนต์ ซึ่งอาจารย์วิถี พานิชพันธ์ จากคณะวิจิตรศิลป์จัดขึ้นที่โรงแรมอิมพีเรียลควีนสปาร์ค เมื่อ ปี พ.ศ. 2537 ท่านได้อธิบายเรื่อง หำยนต์ในสถาปัตยกรรมการสร้างเรือนแบบล้านนาว่า อาจจะมาจากส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมของชาวลัวะ ซึ่งเป็นชนชาติพื้นเมืองเดิมของล้านนา เป็นรูปแบบลายไม้แกะสลักเหนือประตูทางเข้าห้องนอนของเรือนรุ่นเก่าของชาวลัวะด้วยและต่อเนื่องมาถึงเรือนกาแลของล้านนา แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับทับหลังปราสาทหินของขอมซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกัน ก็อาจเป็นข้อสันนิษฐานอย่างหนึ่งว่า อาจจะมีที่มาจากแหล่งต้นกำเนิดใกล้เคียงกันก็เป็นได้
ขณะที่ความสำคัญของหำยนต์แต่เดิมนั้น เป็นตัวบอกว่านี่คือประตูห้องนอนของเรือนหลังนั้น ซึ่งประตูห้องนอนนั้นมีความสำคัญมาก เพราะได้แบ่งพื้นที่ห้องนอนกับพื้นที่เติน คือห้องรับแขก เป็นการจัดแบ่งพื้นที่เฉพาะส่วนตัวของครอบครัวซึ่งนับถือผีเดียวกันของตระกูล เพราะตามปกติคนล้านนาก็จะไม่อนุญาติให้คนต่างผีหรือแขกผู้มาเยือนล่วงล้ำเข้าไปในเขตของตน หำยนต์จึงเป็นกำหนดจัดแบ่งพื้นที่เฉพาะ
ดังนั้นเมื่อเราขึ้นไปเยี่ยมบ้านคนอื่นถ้าเห็นหำยนต์ติดไว้เหนือประตู แสดงว่าพื้นที่นั้นห้ามิให้คนภายนอกล่วงล้ำเข้าไป ถ้าเข้าไปก็จะเป็นการผิดผี จะต้องทำพิธีขอสูมาลาโทษนานาทัศนะของเรื่อง หำยนต์ จากผู้รู้หลายท่านก็ว่ากันไป ซึ่งความเชื่อดังกล่าวจะถูกผิดอย่างไรก็เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนเสี้ยวจากผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตามจะพบว่าปัจจุบันหำยนต์ ถูกหลงลืมไปในหมู่คนรุ่นใหม่ หลายคนอาจไม่รู้จักและไม่เคยเห็นด้วยซ้ำว่า หำยนต์หน้าตาเป็นอย่างไร
หำยนต์จะเป็นเพียงงานสถาปัตยกรรมล้านนาที่ประดับตามบ้านเรือนทั่วไป หรืออาจเป็นความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ที่ป้องกันภยันตรายต่าง ๆ ไม่ให้เข้ามาในบ้าน ก็ยังไม่มีการค้นหาศึกษาอย่างจริงจัง คงมีเพียงข้อสันนิษฐานว่ากันไปต่าง ๆ นานา กระนั้นบทความชิ้นนี้น่าจะมีส่วนสะท้อนให้คนหันมาเห็นคุณค่าและค้นหาความหมายของหำยนต์กันมากขึ้น ซึ่งบางทีเราอาจไม่ได้เห็นหำยนต์เป็นเพียงไม้แกะสลักโบราณที่วางขายกันตามร้านค้าของเก่าเพียงเท่านั้น
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น