เที่ยววัดเก่าเมืองน่าน

น่าน เมืองเล็กแต่ไม่เล็กดินแดนแห่งล้านนาตะวันออกซึ่งมีความเก่าแก่รุ่นเดียวกับสุโขทัย มีเจ้าผู้ครองนครสืบต่อกันมารวมทั้งสิ้น 59 พระองค์ เมืองน่านมีชื่อเดิมว่า “นันทบุรีศรีนครน่าน” หรือ “วรนคร” สร้างขึ้นโดยพญาภูคาในราวพุทธศตวรรษที่ 18 บริเวณที่ราบในเขตตำบลศิลาเพชร อำเภอปัวในปัจจุบันประวัติศาสตร์ของการสร้างเมืองน่านกล่าวว่า ในปี พ.ศ.1902 สมัยพญาการเมืองได้รับพระบรมสารีริกธาตุมาจากกรุงสุโขทัย ทรงเลือกดอยภูเพียงแช่แห้งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุพร้อมกับย้ายเมืองมาสร้างใหม่ที่บริเวณเชิงดอย ต่อมาในราวปี พ.ศ.1911 แม่น้ำน่านได้เปลี่ยนทิศทาง พญาผากองราชบุตรพญาการเมืองจึงได้ย้ายเมืองอีกครั้งโดยมาตั้งที่บริเวณบ้านห้วยไคร้ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่านในปัจจุบัน
เมืองน่านแม้จะเป็นเมืองเล็กก็จริง แต่ก็รักษาตัวอยู่ได้ตลอดสมัยสุโขทัยจนกระทั่งสมัยกรุงศรีอยุธยา ทางอาณาจักรล้านนาไทยมีกษัตริย์ที่ทรงอานุภาพพระองค์หนึ่ง คือ พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์พระองค์นี้มีพระประสงค์ที่จะแผ่อาณาเขตลงมาทางใต้ จึงได้กรีฑาทัพมาตีเมืองน่าน เจ้าอินต๊ะแก่นท้าว ซึ่งครองเมืองน่านอยู่ในเวลานั้นไม่สามารถต่อต้านกองทัพพระเจ้าติโลกราชได้ จึงทิ้งเมืองและพาครอบครัวอพยพมาอยู่ที่เมืองเชลียง เมื่อพระเจ้าติโลกราชตีเมืองน่านได้นั้น ระยะแรกเมืองน่านมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของอาณาจักรล้านนา แต่หลังจากที่พระยาผาแสง เจ้าผู้ครองนครน่าน ราชวงศ์ภูคาองค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัย ฐานะของเมืองน่านกลายเป็นหัวเมืองในราชอาณาเขตของอาณาจักรล้านนา พระมหากษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ได้จัดส่งเจ้าเมืองที่อยู่ในเขตการปกครองของพระองค์ผลัดเปลี่ยนกันมาปกครองเมืองน่าน นับแต่หมื่นสร้อยเชียงของ เมื่อปี พ.ศ.2005 เป็นต้นมาจนถึงสมัยพระยาพลเทพฤาชัยในปี พ.ศ.2079 พงศาวดารกล่าวว่า ทรงสร้างวัดหลวงกลางเวียง-วัดช้างค้ำ ความมหัศจรรย์ของเมืองน่านก็คือวัฒนธรรมของไตลื้อที่อพยพเข้ามาจากสิบสองปันนาเมื่อกว่า 200 ปีก่อนจนวัฒนธรรมของไตลื้อนี้เองได้กลายเป็นจุดเด่นของจังหวัดน่านที่นักท่องเที่ยวหลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดี ซึ่งปรากฏร่องรอยทางประวัติศาสตร์ให้ได้พบเห็นตามวัดวาอารามต่าง ๆ ที่มีอยู่ในเมืองน่าน นอกจากนั้นยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังระดับมัสเตอร์พีทของวัดหนองบัว อำเภอท่าวังผากับวัดภูมินทร์ ฝีมือช่างสกุลไตลื้อที่มีอายุมากกว่า 150 ปี ว่ากันว่าภาพเขียนจิตรกรรมของจังหวัดน่านสวยสดงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศหาที่ใดเสมือน หากใครที่มาเยือนน่านแล้วไม่ได้ไปนมัสการวัดในเมืองน่านก็ยังนับว่ามาไม่ถึงเมืองน่าน วัดสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ วัดพระธาตุแช่แห้ง ปูชนียสถานสำคัญที่สุดมีอายุกว่า 600 ปี พญาการเมืองโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1891 เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากสุโขทัย องค์พระบรมธาตุแช่แห้งบุด้วยทองเหลืองปิดด้วยทองคำเปลวหมดทั้งองค์ เป็นพระธาตุราศีของคนเกิดปีเถอะ นอกจากนั้นมีวัดสำคัญอีกวัดหนึ่งตั้งอยู่กลางเมืองน่านคือ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร พญาภูเข่งเป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1949 รูปแบบของพระธาตุช้างค้ำเป็นเจดีย์ซึ่งเป็นรูปช้างปูนปั้นเพียงครึ่งตัวประดับอยู่โดยรอบ เป็นศิลปสมัยสุโขทัย นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปปางลีลาคือ พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุณี มีส่วนผสมของทองคำถึง 65 % สูง 145 เซนติเมตร สร้างขึ้นในปี พ.ศ.1969 โดยเจ้างั้วฬารผาสุม เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 14
ตรงข้ามกับวัดช้างค้ำ เป็นวัดภูมินทร์ สร้างขึ้นโดยเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ ความโดดเด่นของวัดนี้ไม่เหมือนกับวัดอื่นคือเป็นพระอุโบสถและวิหารในตัว รูปทรงอาคารแบบจตุรมุขมีนาคสะดุ้ง 2 ตัว เทินพระอุโบสถไว้ ในวิหารหลวงซึ่งสร้างเป็นแบบจัตุรมุขมีพระประธานจัตุรทิศคือ พระพุทธรูปปิดทองปางมารวิชัย 4 องค์หันพระปฤษฏางค์ชนกัน นับเป็นลักษณะเด่นที่ไม่มีที่ใดในล้านนาเหมือน ภายในวิหารหลวงวัดภูมินทร์ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างล้านนาที่หาชมได้ยาก ซึ่งเขียนเรื่องคัทธกุมารชาดกและเนมิราชชาดก ซึ่งทั้งหมดอยู่ในปัญญสชาดก รจนาขึ้นโดยพระเถระชาวล้านนาและแพร่หลายทั่วไปในหมู่ชาวพุทธนอกจากนี้ยังมีวัดสำคัญของชาวไตลื้อ วัดหนึ่งซึ่งสร้างขึ้นในยุคสมัยเดียวกับวัดภูมินทร์ คือ วัดหนองบัว ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของหมู่บ้านภายในวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเช่นเดียวกับวัดภูมินทร์ สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสมัยเดียวกัน หมู่บ้านหนองบัวเป็นหมู่บ้านของชาวไตลื้อ นอกจากจะประกอบอาชีพทำนาแล้ว ยามว่างชาวบ้านยังทอผ้าซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำของชาวไทลื้อก็คือ ผ้าทอลายน้ำไหลได้อย่างสวยงามอีกด้วย
เมื่อมาเยือนเมืองน่าน ลองแวะเข้าไปเที่ยววัดสำคัญของน่าน นอกจากจะได้ชมความสวยงามของศิลปะไตลื้อแล้วยังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ของเมืองน่านแห่งนี้ด้วย แม้หลายคนจะพูดถึงเมืองน่านไม่ใช่ในฐานะของเมืองผ่านทาง แต่เป็นเสมือนเมืองที่มีลักษณะเป็นใส้ติ่งที่ยื่นออกไป ซึ่งหากใครที่จะเดินทางมาเยือนเมืองนี้ก็ต้องมีความตั้งใจมา จนมีคำพูดเล่น ๆ จากผู้อาวุโสหลายท่านในเมืองน่านว่า “ถ้าแม้น่านจะเป็นเมืองใส้ติ่งที่ยื่นออกไป แต่ใส้ติ่งนี้จะเป็นถุงเงินที่ได้จากนักท่องเที่ยวในยามเดินทางมาเยือนเมืองน่านแห่งนี้”
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น