นกปีกแพรสีเขียว : Green Cochoa

วิ้ว ว ว ว ว ว ว ว ว ว ว ว ว ว ว ว ว วิ้ว ว ว ว ว ว ว ว ว ว ว ว ว ว ว ว ว เสียงร้องที่ดังก้อง สะท้อนทั่วผืนป่าดิบเขา ที่ทึบแน่นจนมืดครึ้ม ไม้ยืนต้นปกคลุมด้วยบรรดาพืชชั้นต่ำ ชุ่มชื้นด้วยละอองน้ำ และม่านหมอกจางๆ กล้องส่องทางไกลแบบสองตา กวาดสายตาไปมา ปรับวงแหวนโฟกัสระยะชัดทั้งหน้า กลางและระยะหลัง ที่จะค้นหาที่มาของต้นเสียงร้อง ทำให้เราแยกสีสันของตัวนก และสีของใบไม้ในธรรมชาติกัน แทบไม่ออก ราวๆกับนกที่ยังลึกลับอยู่ในตำนานตลอด นกปีกแพร (Cochoa) ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นนกที่สุดลึกลับแห่งป่าดิบเขา ที่นักดูนกต่างก็หมายปองที่ขอให้ได้เห็นตัวสักครั้ง ใครที่เคยเห็นแล้ว ก็อยากได้เห็นเป็นอีกถือว่าบุญตาอีกครั้ง ในบรรดานกปีกแพรที่มีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิด บนโลกนี้ นกปีกแพรสีเขียว (Green Cochoa) นับว่าสวยงามมากที่สุด แม้สีสันจะอยู่ในโทนเย็นๆดูไม่โดดเด่นนัก ระดับความหายากของมันก็เทียบไม่ได้เลย กับนกปีกแพรสีม่วง (Purple Cochoa) ที่น้อยคนจะมีโอกาสได้เห็นในเมืองไทย นกปีกแพรอีก 2 ชนิด ที่เหลือนั้นอาศัยอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย และมีสีสันออกไปทางโทนสีน้ำเงิน ซึ่งสวยเฉียบไม่แพ้นกปีกแพรของบ้านเรา แต่ก็เป็นโทนสีปกติของพวกนกกางเขน และนกจับแมลง (Muscicapine) ที่ในอดีตถูกเข้าใจว่าเป็นญาติใกล้ชิดของนกปีกแพร
ซึ่งผลจากการวิเคราะห์ทางดีเอ็นเอ บ่งบอกว่าจริงๆแล้วนกปีกแพร แตกแขนงออกมาเป็นกลุ่มแรกๆในสายวิวัฒนาการของนกเดินดง (Thrush) ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นญาติๆของนกกางเขนและนกจับแมลง แต่นกปีกแพรดูต่างจากญาติๆของมัน เพราะมันมีลำตัวที่อวบหนา คอยาว และหัวค่อนข้างเล็ก เมื่อเทียบกับลำตัว ทรวดทรงของนกปีกแพรดูเผินๆคล้ายนกเขา (Dove) มากที่สุด อีกทั้งยังชอบเกาะกิ่งไม้สูงๆ ด้วยลำตัวค่อนข้างตั้งตรงนิ่งๆ เป็นเวลานานเหมือนพวกนกเขาที่อาศัยอยู่ในป่าด้วย
อาหารที่โปรดปรานก็คือ ผลไม้ แต่มักจะไม่ลงเดินหากินตามพื้นเหมือนนกเดินดง นอกเสียจากช่วงที่ต้องจับสัตว์เล็กๆตามพื้นดินมาเป็นอาหารให้ลูกอ่อน ลำตัวมีสีเขียวของนกช่วยให้ดูกลมกลืนไปกับธรรมชาติของใบไม้ แถบปีก และหางสีฟ้าเงินจึงมักเป็นลักษณะเด่น ที่สะดุดตามากกว่าอย่างอื่น ปลายขนปีกและหางมีสีดำ หัวเป็นสีฟ้า คอเป็นสีเขียวเข้ม เช่น เดียวกับลำตัว และมีแถบคิ้วสีดำ ส่วนของตัวเมียจะต่างจากตัวผู้ ตรงที่มีปื้นสีน้ำตาลที่ปีกด้วย ส่วนนกวัยขวบปีแรก มีแถบกว้างสีขาวที่ข้างคอ และมีคอเป็นสีออกน้ำตาลอมเขียว นกวัยเด็กมีลำตัวสีน้ำตาลอ่อน และมีขอบขนเป็นสีดำ ทำให้เห็นเป็นลายเกล็ดทั่วทั้งตัว แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์แถบปีกสีเงินคาดดำคล้ายตัวเต็มวัย
ถิ่นอาศัยจะอยู่ตามป่าดิบ ที่ระดับความสูงตั้งแต่ 700 เมตรจากน้ำทะเล พบได้ทางตอนเหนือของอินเดีย และทางตอนใต้ของจีน ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยกเว้นมาเลเซีย ในบ้านเราอยู่ในสถานะเป็นนกที่มีประชากรไม่มาก ตามป่าดิบเขาหลายแห่งทางตอนเหนือของประเทศ ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ และเขาสอยดาวใต้ จ.จันทบุรี ด้วยนิสัยที่เป็นนกที่ชอบเกาะนิ่งๆ สีสันกลมกลืนกับธรรมชาติ จนสังเกตได้ยาก จึงต้องอาศัยการฟังเสียงร้องที่คล้ายเสียงผิวปากเบาๆแต่ลากยาว ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่พอจะช่วยบอกตำแหน่งที่เกาะร้องได้ เราได้เห็น เราได้ยินเสียงร้อง ได้เห็นการสร้างครอบครัว “เจ้าปีกแพเขียว” อย่างมีความสุขอยู่ในธรรมชาติ และขอให้เราเองได้สำนึกเสมอว่า ขอให้ความสุขของนกต้องมาก่อน รักนก…รักป่า…ร่วมรักษาธรรมชาติ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สนุกกับการดูนก ,นกในอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย
http://www.oknation.net/blog/plains-wanderer/2010/07/24/entry-1
http://www.lowernorthernbird.com/checklist.php?cat_id=33&c_id=409

ร่วมแสดงความคิดเห็น