นาฏศิลปเชียงใหม่ จัดทัพนักแสดง ร่วมงาน “เทศกาลรามายณะนานาชาติ” ที่อินเดีย

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2561 ที่ลานกลางแจ้ง วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ คณะนักแสดง วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ร่วมฝึกซ้อมการแสดงโขนเรื่อง รามเกียรติ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเดินทางไปร่วมงานเทศกาลรามายณะนานาชาติ ครั้งที่ 4 หรือ 4th Edition of International Ramayana Festival ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม – 7 พฤศจิกายน 2561 ณ ประเทศอินเดีย

ดร.กษมา ประสงค์เจริญ ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย แจ้งมายังกระทรวงวัฒนธรรม ว่า สภาความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมอินเดีย มีกำหนดจัดเทศกาลรามายณะนานาชาติ ครั้งที่ 4 หรือ 4th Edition of International Ramayana Festival ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม – 7 พฤศจิกายน 2561 ณ ประเทศอินเดีย จึงขอเชิญนักแสดงรามายณะของไทย จำนวน 15 คน เข้าร่วมแสดงในงานดังกล่าว โดยขอให้จัดการแสดง 45 นาที ที่กรุงเดลี และ 60-75 นาที ในอีก 2 เมืองอื่น ที่มีส่วนร่วมในการจัดเทศกาลที่ทรงคุณค่าทางศิลปะและวัฒนธรรม
ในการนี้วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ได้รับมอบหมายจากกระทรวงวัฒนธรรม นำ คณะนักแสดง คณาจารย์ นักเรียน และนักศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ จำนวน 15 คน เข้าร่วมงานดังกล่าว จึงได้ร่วมกันฝึกซ้อมการแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเดินทางไปร่วมงานเทศกาลรามายณะนานาชาติ ครั้งที่ 4 หรือ 4th Edition of International Ramayana Festival ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม – 7 พฤศจิกายน 2561 ณ ประเทศอินเดีย
สำหรับการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามตามกวาง กล่าวถึง ทศกัณฐ์พญายักษ์แห่งกรุงลงกาได้วางอุบายให้มารีศแปลงเป็นกวางทอง ไปล่อลวงจนสีดาหลงใหลและอ้อนวอนพระรามให้ตามจับ ทศกัณฐ์จึงลักพานางสีดาไปกรุงลงกา พระราม พระลักษณ์ และพลวานรจึงยกทัพมาทำสงครามกับทศกัณฐ์เพื่อชิงตัวนางสีดากลับคืนไป
การแสดงจะเริ่มจากการแสดงปฐมบท–หุ่นคน หนังใหญ่–จับลิงหัวค่ำ การแสดงประเลง หรือการแสดงเบิกโรง ก่อนที่จะเข้าสู่การแสดงโขนเรื่อง ‘รามเกียรติ’ ตอน ตามกวาง ลักษณ์–สีดา ถวายพล และยกรบ ซึ่งทั้งหมดจะแสดงออกถึงความสวยงามของเครื่องแต่งกาย ความงดงามอ่อนช้อย เข้มแข็งน่าเกรงขาม และคึกคักยามออกศึก ของท่าทางจากเหล่านัก แสดงสำคัญ อาทิ พระราม พระลักษณ์ นางสีดา กวางทอง ฤาษี ทศกัณฐ์ ลิง และยักษ์
ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีในการเผยแพร่ แลกเปลี่ยนศิลปะการแสดงของไทย รวมทั้งเป็นโอกาสในการสร้างประสบการณ์ให้คณะนักแสดงได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนศิลปะการแสดงรามายณะจากประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมงานดังกล่าว เพื่อนำมาต่อยอดและใช้ประโยชน์ ในการสร้างสรรค์งานนาฏศิลป์ของไทยต่อไปในอนาคต”

ร่วมแสดงความคิดเห็น