เที่ยวแม่เมาะ ชมฟอสซิลหอยอายุ 30 ล้านปี

ข่าวการค้นพบซากฟอสซิลหอยที่เหมืองแม่เมาะ ซึ่งสร้างความตื่นเต้นดีใจจนนำไปสู่การอนุรักษ์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดลำปาง กระทั่งต้นปี 2547 เมื่อคณะกรรมการกลั่นกรองเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี โดย ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รองนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เป็นประธานเข้ามาศึกษาเกี่ยวกับซากฟอสซิลหอยที่พบ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เสนอแนวทางในการอนุรักษ์ไว้ 2 แนวทาง คือ กันพื้นที่อนุรักษ์ซากฟอสซิลหอยไว้ 18 ไร่ ซึ่งจะสูญเสียถ่านหินลิกไนต์ 4 แสนตัน คิดเป็นมูลค่าแร่ประมาณ 200 ล้านบาท กับอีกแนวทางหนึ่งคืออนุรักษ์ซากฟอสซิลไว้ทั้งหมด 43 ไร่ ซึ่งจะทำให้ กฟผ.สูญเสียถ่านหินไปถึง 265 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าแร่ประมาณกว่า 132,500 ล้านบาท นอกจากนั้นยังพบอีกว่าอายุของเหมืองและโรงไฟฟ้าแม่เมาะจะมีอายุลดลง 26 ปี ส่งผลให้เศรษฐกิจของจังหวัดลำปางขาดเงินหมุนวียนจาก กฟผ.แม่เมาะไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาทกฟผ.ได้เชิญ ศ.ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เข้ามาตรวจสอบพื้นที่ฟอสซิลหอย พร้อมให้ความเห็นว่า ฟอสซิลหอยที่เหมืองแม่เมาะไม่เข้ามาตราฐานการเป็นมรดกโลก เนื่องจากไม่มีคุณค่าโดดเด่นในระดับสากล ไม่มีความหลากหลายของซากฟอสซิลชนิดต่างๆ อีกทั้งไม่เป็น index Fossil ที่ชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในยุคดึกดำบรรพ์ นอกจากนั้นขนาดของพื้นที่ไม่ใหญ่เพียงพอและไม่ครอบคลุมช่วงอายุทางธรณีวิทยาที่นานเพียงพอ หากพิจารณาในแง่ผลประโยชน์ของประเทศชาติและเป็นทรัพย์สินทางธรรมชาติ ควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นมรดกแก่คนรุ่นหลังเห็นควรให้อนุรักษ์แหล่งฟอสซิลหอยที่เหมืองแม่เมาะ จำนวน 18 ไร่ก็เพียงพอแล้ว
ปลายปี 2547 กฟผ.ได้ประชุมร่วมกับกรมทรัยพากรธรณี เพื่อหารือแนวทางการปฏิบัติงานในการแก้ปัญหาผลกระทบจากการอนุรักษ์พื้นที่แหล่งฟอสซิลหอย โดยขอเสนเปลี่ยนแปลงพื้นที่อนุรักษ์จากเดิม 43 ไร่เป็น 52 ไร่โดยกรมทรัพยากรธรณี ได้นำผลการหารือร่วมกันเสนอต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเห็นชอบกับผลการศึกษาและตรวจสอบร่วมกันระหว่าง กฟผ.และกรมทรัพยากรธรณีในการกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ เนื่องจากพบว่า ชั้นหอยมีความหนาแน่นไม่แตกต่างจากชั้นหอยที่พบในพื้นที่อนุรักษ์เดิมมากนัก นอกจากนี้พื้นที่ๆเสนอใหม่ยังพบความหลากหลายทางชีวภาพโบราณ แสดงถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบน้ำจืดแม่เมาะอย่างต่อเนื่อง รวมถึงขนาดพื้นที่ยังสามารถพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ลางแจ้งและอาคารพิพิธภัณฑ์ถาวรได้ดี ประการสำคัญไม่กระทบกระเทือนต่อการทำเหมืองของกฟผ.
ฟอสซิลหอยที่พบมี 2 จุด คืออยู่บริเวณบ้านปงต้นปิน อยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 5 กม. มีอายุราว 30 ล้านปี และบริเวณบ้านดงห่างจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะไปทางทิศเหนือประมาณ 7 กม.โดยขณะนี้ทาง กฟผ.ได้กันพื้นที่ทั้งหมด 52 ไร่ เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดีแห่งใหม่ของจังหวัดลำปาง โดยจะสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์และการปรับปรุงภูมิทัศน์ ซึ่งอาจใช้เวลา 1-2 ปีถึงจะแล้วเสร็จเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมได้ จากการสำรวจพบว่าเป็นซากฟอสซิลหอยที่แม่เมาะเป็นฟอสซิลหอยที่มีความหนามากที่สุดในโลก อยู่ในตระกูลหอยวงศ์ Viviparidea ซึ่งพบได้ทั่วไปในประเทศไทย โดยหอยตระกูลนี้เป็นหอยขมน้ำจืด จะพบอยู่ในช่วงอายุ Jurassic ถึง Rccent (200 ล้านปีมาแล้ว) ในประเทศไทยพบได้ตามแอ่ง เทอร์เชียรี มีลักษณะเป็นชั้นหอยหนาและพบกระจายในดิน พบได้ที่แอ่งลี้ จ.ลำพูน (บ้านป่าคา บ้านนาทราย) แอ่งแม่สอด จ.ตาก แอ่งเชียงม่วน จ.พะเยา แอ่งกระบี่ บ้านหวายเล็ก สุสานหอยแหลมโพธิ์ แอ่งแม่ตีบ จ.ลำปาง แอ่งแม่เมาะ บ้านดง บ้านปงต้นปิน
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น