หมู่บ้านแกะสลักไม้ “ทาทุ่งหลวง”

ผืนแผ่นดินล้านนาในอดีตเคยเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้สักเป็นจำนวนมาก หลังจากที่รัฐบาลได้เปิดให้มีการสัมประทานการทำไม้สักอย่างถูกต้องตามกฏหมายแล้ว ไม้สักจำนวนมากได้ถูกแปรรูปออกมาในแบบของเครื่องใช้ในครัวเรือน บางส่วนถูกแปรรูปให้เป็นไม้แกะสลัก คนล้านนาสมัยก่อนมีฝีมือในการแกะสลักไม้ได้สวยสดงดงามมาก ดังจะเห็นได้จากมีการแกะสลักไม้ประดับอาคารในพุทธสถานอย่างวิจิตรอลังการและประดิษฐ์พุทธศิลป์แปลกตาชนิดต่าง ๆ ไว้ใช้ในกิจกรรมทางพุทธศาสนาปัจจุบันการแกะสลักไม้ยังคงเป็นกิจกรรมที่มีชื่อเสียงของเมืองเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง แม้ว่างานแกะสลักของเชียงใหม่รุ่นใหม่นี้จะแตกต่างไปจากงานของล้านนาดั่งเดิมก็ตาม ช่วงระยะเวลา 20 – 30 ปีที่ผ่านมา ชีวิตและวัฒนธรรมของคนล้านนามีพัฒนาการที่แตกต่างไปจากวิถีชีวิตแบบดั่งเดิมมาก ชีวิตสมัยใหม่และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งการผลิตเครื่องใช้และเครื่องตกแต่งบ้านสมัยใหม่กับการทำของที่ระลึกซึ่งทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันนั้น การแกะสลักไม้ก็เปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยมีการทำอยู่ในวัดวาอารามมาสู่การผลิตในระบบอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลักก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปด้วย ช่างแกะสลักไม้ประดับวิหารวัดก็หาได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตามในท่ามกลางกระแส
ความเปลี่ยนแปลงของสังคม ช่างแกะสลักแบบดั่งเดิมของล้านนาก็ยังคงพอมีสืบเชื้อสายอยู่บ้าง อาจกล่าวได้ว่าการที่งานแกะสลักไม้ของเชียงใหม่เป็นที่รู้จักมักคุ้นกว่าที่อื่น ๆ ก็เพราะว่าในเชียงใหม่ยังมีช่างแกะสลักดั่งเดิมอยู่มากและส่วนหนึ่งก็เพราะเชียงใหม่ยังคงอยู่ใกล้แหล่งทรัพยากรก็คือ ไม้สัก ไม้แกะสลักจากเชียงใหม่เป็นงานหัตถอุตสาหกรรมหนึ่งที่ขึ้นชื่อของภาคเหนือและเป็นที่นิยมไม่น้อยหน้า ผ้าทอมือ เครื่องเงินและเครื่องเขิน สินค้าไม้แกะสลักที่นี่มีฐานะเป็นสินค้าส่งออกของท้องถิ่นไปยังภาคอื่น ๆ ของประเทศหรือแม้แต่ต่างประเทศ เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้วจะมีไม้แกะสลักเป็นของที่ระลึกจากเชียงใหม่บ้างก็เป็นเพียงช้างไม้ขนาดต่าง ๆ ช้างไม้เหล่านั้นแกะสลักโดยกลุ่มชาวบ้านที่มีฝีมือในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่นั่นเอง เริ่มจากที่บ้านนันตา บ้านพวกช้าง ต่อมามีการกระจายการผลิตไปยังเขตอำเภอสันป่าตองคือที่บ้านกิ่วแลน้อย บ้านเนิ้ง บ้านแม จนชาวบ้านเหล่านั้นมีชื่อว่าแกะสลักได้สวยงามที่สุด เมื่อการท่องเที่ยวเริ่มขยายตัว โบราณศิลปวัตถุที่ลักลอบนำเข้าจากพม่าเป็นที่นิยมอย่างมาก จนรัฐบาลพม่าเริ่มเข้มงวดมากขึ้น ร้านค้าในเชียงใหม่จึงได้จ้างช่างชาวไทยใหญ่จากพม่าเข้ามาทำของเลียนแบบ แล้วช่างชาวเชียงใหม่ก็ได้เรียนรู้วิธีการแกะสลักจากช่างชาวพม่า
ตลอดเวลา 50 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านที่บ้านถวายและหมู่บ้านใกล้เคียง ในเขตอำเภอหางดงได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญงานเลียนแบบของเก่ามากที่สุด เพราะนอกจากของที่ระลึกแล้วงานไม้แกะสลักพวกเครื่องเรือน เช่น โต๊ะ ตู้ เตียง แหย่งช้าง ก็เติบโตตามมาด้วย เริ่มจากร้านค้าเครื่องเรือนในตัวเมืองเชียงใหม่ ขยายไปสู่ชาวบ้านในเขตอำเภอสันกำแพงและดอยสะเก็ต ทำให้มีร้านค้าเกิดขึ้นมากมายริมถนนจากเชียงใหม่ถึงสันกำแพงกลายเป็นแหล่งเฟอร์นิเจอร์ไม้แกะสลักที่มีชื่อไปทั่วโลก ปัจจุบันไม้สักลดจำนวนลงจึงต้องนำเข้าไม้จากต่างประเทศทำให้กิจการแกะสลักไม้ได้รับความกระทบกระเทือนและอาจซบเซาไปบ้างขณะที่การแกะสลักเครื่องเรือนที่ต้องใช้ไม้เป็นจำนวนมากกำลังประสบปัญหากับภาวะการขาดไม้ แต่การแกะสลักไม้เพื่อการตกแต่งและเป็นของที่ระลึกที่ใช้ไม้น้อยกลับได้รับควมนิยมเข้ามาแทน กลุ่มชาวบ้านที่มีฝีมือในการแกะสลักรูปประติมากรรมลอยตัวทั่วไปตามแต่จะสั่งทำ โดยเฉพาะในเขตอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูนและยังรวมไปถึงเขตอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปางมีความชำนาญในการแกะสลักไม้รูปสัตว์ได้ดี
หมู่บ้านทาทุ่งหลวง อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ชาวบ้านเกือบทั้งหมู่บ้านประกอบอาชีพแกะสลักไม้มาตั้งแต่เด็ก บางคนมีฝีมือขึ้นชั้นครูมีลูกศิษย์มาเรียนแกะสลักไม้เป็นจำนวนมาก ไม้แกะสลักที่ชาวบ้านทำขึ้นส่วนใหญ่จะประยุกต์ให้มีความทันสมัย ใช้เป็นของฝากของที่ระลึก บางครั้งจะทำตามรายการที่ลูกค้าสั่งมาอีกทีหนึ่ง จะเห็นว่าอาชีพแกะสลักไม้ของชาวบ้านทาทุ่งหลวง ซึ่งเป็นอาชีพหนึ่งที่ชาวบ้านให้ความสนใจ จากแต่เดิมที่การทำเพียง 2-3 ครอบครัว ปัจจุบันได้ขยายวงกว้างออกไปเกือบทั้งหมู่บ้าน จนกระทั้งหมู่บ้านใกล้เคียงก็เริ่มหันมาประกอบอาชีพแกะสลักกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้านอีกทางหนึ่งด้วย
ปัจจุบันการแกะสลักไม้ของชาวบ้านทาทุ่งหลวงมีการนำไม้ฉำฉามาใช้แทนไม้สักในงานแกะสลักบางประเภทและก็ใช้ได้เป็นอย่างดี เพราะไม้ฉำฉามีราคาถูก เนื้อไม้อ่อน แกะง่ายและมีการตกแต่งลงสี นอกจากนี้ยังมีการทำให้เป็นสีขรึมดูเหมือนของโบราณอีกด้วย งานแกะสลักไม้ยังคงเป็นงานฝีมือของล้านนาต่อไปอีกนาน พัฒนาการที่ต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาทำให้เกิดช่างฝีมือดี ๆ เพิ่มขึ้นไม่น้อย เศรษฐกิจที่ดีขึ้น ความรู้ที่สูงขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจและซาบซึ้งกับงานฝีมือมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะมีส่วนทำให้สล่าพื้นเมืองฝีมือดีมีโอกาสยังชีพอยู่ได้กับงานฝีมือของพวกเขา
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น