สะพานโต่วะ!! ในวัดเจ็ดลิน หนึ่งเดียวใจกลางเมืองเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวเดินชมไม่ขาดสาย

“วัดเจ็ด” หรือหนองจลิน ตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ ค่อนไปทางด้านทิศใต้ประตูเชียงใหม่ บนถนนพระปกเกล้า ต.พระสิงห์ อ.เมืองเชียงใหม่ ไม่ปรากฎหลักฐานหรือตำนานเกี่ยวกับวัดนี้โดยตรง แต่พบชื่อและที่ตั้งของวัดในโคลงโบราณชื่อ โครงนิราศหริภุญชัย ซึ่งแต่งขึ้นในปี 2060 สมัยพญาเมืองแก้ว กษัตริย์เชียงใหม่ ลำดับที่ 11(พ.ศ.2038-2068) สันนิษฐานว่า วัดเจ็ดลิน จะสร้างขึ้นก่อน พ.ศ.2060 อย่างน้อยสร้างขึ้นในสมัย พญาเมืองแก้ว ตอนปลายของราชวงศ์มังราย ประมาณ 450 กว่าปีมาแล้ว
หลักฐานทางด้านโบราณคดี วัดเจ็ดลิน มีเจดีย์ใหญ่ 1 องค์ และอาคารชั่วคราวมุงด้วยสังกะสีมี พระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัยองค์ใหญ่ 1 องค์ และด้านทิศตะวันตก มีหนองน้ำขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่าหนองจลิน ซึ่งวัดนี้ได้ปล่อยเป็นวัดร้างมานาน มีชาวบ้านเข้าไปยึดครองสร้างที่อยู่อาศัยเต็มพื้นที่หนองจลิน
การฟื้นฟูวัดเจ็ดลิน(วัดร้าง)เนื่องจากเคยเจริญรุ่งเรืองมาในอดีต มีองค์พระเจดีย์ตั้งตระหง่านอยู่อย่างสง่างาม มีพระพุทธรูป มีหนองน้ำขนาดใหญ่และยังสมบูรณ์อยู่ คณะสงฆ์ร่วมกับชาวเมืองเชียงใหม่ มีเจตจำ นงที่จะพัฒนาฟื้นฟู วัดประวัติศาสตร์ไว้ให้ลูกหลานในอนาคตได้ภาคภูมิใจ เริ่มพัฒนาฟื้นฟูตั้งแต่ วันที่ 30 ม.ค.2546 เป็นต้นมา ทางสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ยก วัดเจ็ดลิน(วัดร้าง)ขึ้นมาเป็น วัดเจ็ดลิน ที่มีพระภิกษุ-สามเณร จำพรรษา เมื่อวันที่ 28 ก.ค.2547 มีเนื้อที่ตามใบโฉนดประมาณ 7 ไร่ 2 งาน 11 วา และอีกโฉนดมีเนื้อที่ 1 งาน 16.6วา
ทาง พระเทพวรสิทธาจารย์ ประธานฟื้นฟูวัดเจ็ดลิน ได้มอบหมายให้ พระมหาวิษณุ จารุธมโม มาเป็นผู้ปกครอง ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2547 สำนักเจ้าคณะ ต.พระสิงห์ เขต 2 มีพระอธิการอุทัย ปุญญสมุภโว วัดพันเตา แต่งตั้งให้ พระมหาวิษณุฯ ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาส ต่อมาวันที่ 3 ต.ค.2548 พระเทพวรสิทธาจารย์ แต่งตั้งให้ พระมหาวิษณุฯ เป็นเจ้าอาวาสมีหน้าที่ดูแลปกครองพระภิกษุสามเณร และศิษย์วัดมาจวบจนปัจจุบัน
พระมหาวิษณุ จารุธมโม หลังจากเข้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาส ได้พัฒนาฟื้นฟูวัดเจ็ดลินอย่างต่อเนื่องจนเจริญรุ่งเรือง ในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย ชาวต่างประเทศ แวะเวียนกราบไหว้ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างไม่ขาดสายในแต่ละวัน ประกอบกับสถานที่ตั้งของวัดอยู่ในใจกลางเมืองเชียงใหม่ บนถนนพระปกเกล้า หรือสายวัฒนธรรม มีวัดวาอารามเก่าแก่ในประวัติศาสตร์อยู่หลายวัดด้วยกัน ในบริเวณวัดเจ็ดลิน
นอกจากจะมีโบราณวัตถุ องค์พระเจดีย์ พระพุทธรูปแล้ว และที่น่าสนใจคือ”สะพานโต่วะ” หรือชาวเหนือล้านนาเรียกว่า “ขั้วแตะ” ที่ พระมหาวิษณุฯริเริ่มสร้างขึ้นเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา เพื่อเชื่อมต่อระหว่างเขตพุทธวาส-สังฆวาส ข้ามกลางหนองเจ็ดลิน มีความยาวประมาณ 200 เมตร โดยฝั่งทางทิศใต้ของหนองน้ำ มีการอนุรักษ์ผักตบชวาให้เป็นที่อยู่อาศัยของนกน้ำ และฝั่งทิศเหนือ ได้ปลูกดอกบัวกระด้ง นับว่าพื้นที่หนองน้ำมีสะพานโต่ะวะ(ขั้วแตะ) เป็นหนึ่งเดียวที่อยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมกันอีกจุดหนึ่ง
อย่างไรก็ตามคำว่า”สะพานโต่วะ” เป็นชื่อแปลกๆไม่คุ้นหู พระมนตรี ติสสโร เลขานุการของพระมหาวิษณุ ได้เจริญพรว่า การตั้งชื่อ”โต่วะ”นั้นมาจากดำริของท่านพระมหาวิษณูฯแปลว่า “ไม้ไผ่”มาจากภาษากะเหรี่ยง เป็นการอนุรักษ์ภาษาชนเผ่าให้อยู่คู่กับหนองเจ็ดลิน ใช้เป็นทางเดินของพระเณรที่จำพรรษาอยู่ในกุฎิสงฆ์ได้ปฏิบัติกิจวัตร และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกด้วย ที่เห็นด้านหนึ่งมีผักตบชวาเต็มไปหมด เนื่องจากท่านพระวิษณุเห็นว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของนกน้ำมาก่อนในอดีต ให้คงอาศัยอยู่ต่อไป ส่วนอีกด้านมีการปลูกดอกบัวกระด้งไว้ และดอกบัวกระด้งเป็นดอกบัวมีลักษณะพิเศษใบมีขนาดใหญ่ ออกดอกลักษณะเป็นดอกตูม อยู่ 2 วัน เมื่อดอกบานช่วงเช้ามีสีขาว ช่วงกลางวันสีชมภู ช่วงบ่ายเปลี่ยนเป็นสีบานเย็น

ร่วมแสดงความคิดเห็น