“ประเพณีดับไฟเทียน” วัดหลวง เมืองปาย

ชื่อเสียงของเมืองปายยังคงเลื่องลือระบือไกลไปในหมู่นักท่องเที่ยวในฐานะที่เป็นเมืองเงียบสงบและสวยงามในทุกฤดูกาล นอกเหนือจากธรรมชาติอันสมบูรณ์ วิถีชีวิตผู้คนที่ผสมผสานอย่างกลมกลืนระหว่างชาวไต มุสลิมและต่างชาติแล้ว ความงดงามแห่งศิลปวัฒนธรรมของผู้คนหลากหลายเผ่าได้ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวพากันเดินทางเข้ามาสัมผัสเมืองปายอย่างไม่ขาดสาย กระทั่งนักท่องเที่ยวทั่วไปรู้จักชื่อเมืองปายในฐานะ “หมู่บ้านโลก”ด้วยการเดินทางที่ต้องผ่านภูเขาสูงหลายร้อยโค้ง ซึ่งมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศอีกทั้งยังถูกโอบล้อมด้วยกำแพงขุนเขา อันเปรียบเสมือนปราการธรรมชาติที่แบ่งกั้นเมืองแห่งนี้ออกจากผืนประเทศ จึงทำให้เมืองปายกลายเป็นเมืองของคนที่ตั้งใจจะเดินทางมาเยือนอย่างแท้จริง

มีเรื่องเล่าปนตลกเกี่ยวกับเส้นทางเข้าสู่แม่ฮ่องสอนซึ่งมีโค้งอยู่มากมายหลายโค้งว่า ครั้งหนึ่งมีพระภิกษุอยากจะรู้ว่าตลอดเส้นทางที่คดโค้งไปตามไหล่เขานั้นมีจำนวนเท่าไหร่ จึงนำเมล็ดมะขามขึ้นรถไปแม่ฮ่องสอนด้วย ตลอดเส้นทางเมื่อรถแล่นผ่านโค้ง พระภิกษุรูปนั้น ก็จะโยนเมล็ดมะขามลงไปหนึ่งเมล็ด เมื่อถึงแม่ฮ่อนสอนท่านจึงนับเมล็ดมะขามที่เหลืออยู่ในย่ามดู ปรากฏว่าเมล็ดมะขามหายไป 1,864 เมล็ด

ความสำคัญของเมืองปายในอดีต มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านทางฝั่งตะวันตกของล้านนาที่ขึ้นตรงต่อเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ นอกจากนั้นยังเคยเป็นที่ตั้งทัพของแม่ทัพพม่าหลายสมัย รวมทั้งพระเจ้าบุเรงนองก็เคยใช้เมืองปายเป็นเส้นทางผ่านเข้าไปตีเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จ กระทั่งมีเหตุการณ์แย่งชิงเมืองปายเกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว
เมืองปายนั้น เป็นเมืองที่สงบเงียบ มีวัฒนธรรม ประเพณีและธรรมชาติที่สวยงาม ผู้คนมีอัธยาศัยไมตรีอันดี ในความที่เป็นเมืองเล็ก ๆ เช่นนี้ ทำให้นักท่องเที่ยวผู้หลงใหลในธรรมชาติมักไม่พลาดที่จะเข้ามาทักทายเมืองปายแห่งนี้อยู่เสมอ ด้วยความที่ปายเป็นเมืองพุทธ ผู้คนของที่นี่จึงเคร่งครัดในศาสนาดังจะเห็นได้ในช่วงเทศกาลงานบุญ ผู้เฒ่าผู้แก่จะพากันไปร่วมทำบุญกันที่วัด ซึ่งแสดงออกได้ชัดเจนในงานประเพณีดับไฟเทียนในช่วงเทศกาลออกพรรษาที่ผ่านมา

ประเพณีดับไฟเทียนของวัดหลวงเมืองปาย เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวไตใหญ่ที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมานานนับร้อยปี จากหนังสือประวัติเมืองปาย ซึ่งเขียนโดยอาจารย์คณิต วนากมล กล่าวถึงประเพณีดับไฟเทียนวัดหลวงเมืองปายว่า เมื่อปี พ.ศ.2427 สมัยที่ขุนเนิงเป็นเจ้าเมืองปายอยู่นั้น มีพระภิกษุออเป็นเจ้าอาวาสวัดหลวงในสมัยนั้น ท่านได้เป็นผู้ริเริ่มจัดงานประเพณีดับไฟเทียนขึ้นมาเป็นครั้งแรก จนถึงวันนี้ประเพณีดับไฟเทียนวัดหลวงเมืองปายได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลา 125 ปี
ประเพณีดับไฟเทียนหรืองานปอยเหลินสิบเอ็ด บางชุมชนเรียกประเพณีแห่ต้นเกี๊ยะ ส่วนชาวไตใหญ่จะเรียกว่า “ปอยอ่องจ้อด” จะจัดขึ้นในช่วงหลังเทศกาลออกพรรษา โดยถือเอาวันแรม 14 ค่ำเดือน 11 ของทุกปี ในวันงานจะมีการแห่ต้นเกี๊ยะเพื่อนำไปจุดในบริเวณวัด กล่าวกันว่าความเชื่อของชาวไตใหญ่ ได้มีการอัญเชิญพระพุทธเจ้ามาประดิษฐานในจองพาราซึ่งชาวบ้านจะสร้างขึ้นไว้ตามบ้านเรือนของตนเองในวันออกพรรษา หลังจากที่พระพุทธองค์ได้เสด็จลงมาโปรดมนุษย์บนโลกแล้ว ชาวบ้านก็จะได้อัญเชิญพระพุทธองค์ขึ้นสู่สรวงสรรค์ ด้วยการดับไฟเทียนอันถือเป็นวันเสร็จสิ้นงานบุญออกพรรษาของชาวไตใหญ่ อีกนัยหนึ่งเพื่อเป็นการถวายแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ได้เสด็จลงมายังโลกมนุษย์

งานดับไฟเทียนของชาวไตใหญ่จะมีการละเล่นพื้นบ้านต่าง ๆ มากมาย มีการแข่งขันจุดดอกไม้ไฟ การแสดงลิเกไทใหญ่ หรือ จ๊าตไต มีการออกร้านจำหน่ายสินค้าของชาวไต ซึ่งบรรยากาศของงานคล้าย ๆ กับงานวัดในหมู่บ้านตามชนบทของภาคเหนือ ประเพณีดับไฟเทียนของวัดหลวงเมืองปายจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ มีชาวบ้านออกมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ตามท้องถนนมีการแห่ต้นเกี๊ยะของหมู่บ้านต่าง ๆ สองข้างถนนมีผู้คนสนใจยืนรอชมขบวน ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ หลังจากนั้นต้นเกี๊ยะของแต่ละหมู่บ้านจะถูกนำไปจุดไว้ที่วัด นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาปายในช่วงเทศกาลออกพรรษา จึงได้พบเป็นประเพณีดับไฟเทียนซึ่งเป็นประเพณีของชาวไตใหญ่ มีแห่งเดียวเท่านั้นที่แม่ฮ่องสอน

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น