นกแต้วแล้วท้องดำ (Gurney’s Pitta )

เชื่อกันว่า “นกแต้วแล้วท้องดำ” นั้นได้สูญพันธุ์ไปแล้วก่อนที่จะมีการพบตัวอีกครั้งในปี 2529 เมื่อทราบแล้วน่าตกใจ ที่นกบางชนิดกำลังจะสูญพันธุ์ไปป่าจากผืนป่าเมืองไทยเรา

นกแต้วแล้วท้องดำ ชื่อสามัญ Gurney’s Pitta ตั้งชื่อตาม John Henry Gurney นักปักษีวิทยาชาวอังกฤษ เป็นหนึ่งในนกแต้วแล้ว 12 ชนิดที่พบในประเทศไทย รูปร่างอ้วนป้อม คอสั้น หัวโต หางสั้น ลำตัวยาว 22 เซนติเมตร ตัวผู้หัวสีดำ กระหม่อมและท้ายทอยสีน้ำเงินเหลือบฟ้า หางสีน้ำเงินอมเขียว ท้องสีเหลืองสดมีริ้วสีดำบาง ๆ พาดสลับตลอดช่วงท้อง ใต้ท้องแต้มสีดำสมชื่อ ตัวเมียกระหม่อมสีเหลืองอ่อน มีแถบดำผ่านใต้ตาลงไปถึงแก้ม ท้องสีขาว มีแถบสีน้ำตาลขวางจากอกลงไปถึงก้น
นกแต้วแล้วท้องดำอาศัยอยู่ในป่าดิบที่ราบต่ำ ซึ่งมีระดับความสูงไม่เกิน 200 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบตามที่ราบ ใกล้ร่องน้ำหรือลำธารที่ชื้นแฉะ ไม่ชอบอยู่บริเวณที่มีไม้พื้นล่างขึ้นรกทึบ เขตกระจายพันธุ์อยู่ในทางใต้ของพม่าที่ติดต่อกับประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศไทยพบเพียงแห่งเดียวที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม (เขานอจู้จี้) จังหวัดกระบี่เพียงแห่งเดียว

การออกหากิน ของนกแต้วแล้วด้วยการกระโดดหาแมลงบนพื้นดินกินหรืออาจขุดไส้เดือนขึ้นมากิน บางครั้งอาจจับกบ และสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กด้วย โดยเฉพาะในช่วงมีลูกอ่อน เสียง 2 พยางค์ เร็ว ๆ ว่า “ท-รับ” ของนกตัวผู้จะร้องหาคู่ แต่ถ้าตกใจนกร้องเสียง “แต้ว แต้ว” เว้นช่วงแต่ละพยางค์ประมาณ 7-8 วินาที และอาจร้องนานเป็นชั่วโมง ส่วนเสียงที่ใช้ในการสื่อสารกันระยะใกล้จะใช้เสียงนุ่มดัง “ฮุ ฮุ”
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน ออกไข่คราวละ 3-4 ฟอง

ภัยคุกคามหลักต่อนกแต้วแล้วท้องดำคือการบุกรุกป่าจากการทำไม้และการถากถางเพื่อทำการเกษตร การที่นกแต้วแล้วท้องดำอาศัยอยู่ป่าที่ราบต่ำซึ่งเหมาะในการทำไร่ จึงยิ่งทำให้ถูกคุกคามได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้การลักลอบจับนกมาขายก็เป็นภัยที่ร้ายแรงเช่นกัน เพราะผู้คนทางภาคใต้ของไทยนิยมการเลี้ยงนกไว้ในกรง ดังจะเห็นจากการพบบ่วงดักนกจำนวนมากวางอยู่ตามชายป่าเขานอจู้จี้

ปัจจุบันสถานภาพของนกแต้วแล้วท้องดำในประเทศไทยน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ในปี พ.ศ. 2529 เคยพบ 44-45 คู่ แต่ในปี พ.ศ. 2540 เหลือเพียง 9 คู่เท่านั้น ปัจจุบันคาดว่ามีอยู่ประมาณ 13-20 คู่เท่านั้น เป็นหนึ่งในสัตว์สงวน 15 ชนิดของไทย ตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ไอยูซีเอ็นเคยประเมินสถานภาพไว้ว่า ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CE) แต่จากการที่การสำรวจพบประชากรของนกชนิดนี้ในพม่ามากขึ้น ในปี 2551 จึงปรับสถานภาพให้ดีขึ้นเล็กน้อยเป็น ใกล้สูญพันธุ์ (EN)
ขอขอบคุณข้อมูล/โลกสีเขียว http://www.verdantplanet.org

ร่วมแสดงความคิดเห็น