ข้าวไทยไม่แพ้ใคร!! กรมการข้าว แจงส่งออกข้าวหอมไทย

นายกฤษณพงศ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล รองอธิบดีกรมการข้าว รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการข้าว ชี้แจงกรณีที่มีการนำเสนอว่าข้าว “มาลี อังกอร์” ของเวียดนามได้แชมป์ข้าวคุณภาพดีที่สุดในโลก และข้าวหอมมะลิของไทย ตกอันดับอยู่ในลำดับที่ 3 ของโลก
โดยมีการนำเสนอข่าวว่า นโยบายทางการเกษตรของไทย ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และนโยบายการลดพื้นที่ทำนา ลดการปลูกข้าว และส่งเสริมให้ปลูกพืชอื่นทดแทน เช่น การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็น การเพิ่มความเสี่ยงให้ชาวนา ในการปลูกพืชชนิดใหม่ที่ตนเองไม่มีความรู้และขาดความชำนาญ รวมทั้งเป็นการทำลายทักษะและองค์ความรู้ที่เกษตรกรแต่ละอาชีพ มีความชำนาญอยู่เดิม นั้น
ประเด็นข่าวนี้ไม่จริง
กรณีที่ข้าว “มาลีอังกอร์” ของเวียดนาม ได้แชมป์ข้าวคุณภาพดีที่สุดในโลก จากการประกวดข้าวดีที่สุดในโลก ประจำปี 2561 ข้อเท็จจริงข้าว “มาลีอังกอร์” เป็นข้าวของประเทศกัมพูชา มิใช่ข้าวของประเทศเวียดนาม ส่วนข้าวหอมมะลิของไทย อยู่ในลำดับที่ 2 มิใช่ลำดับที่ 3 ตามข้อวิจารณ์ แต่อย่างใด

การประกวดข้าวดังกล่าว เป็นการจัดในส่วนของกลุ่มธุรกิจค้าข้าวเท่านั้น จากการประกวดมาแล้วทั้งหมด 10 ครั้ง ปรากฏว่าข้าวหอมมะลิไทย ชนะเลิศการประกวดถึง 5 ครั้ง ในขณะที่ประเทศกัมพูชาชนะเลิศการประกวด 4 ครั้ง
สถิติการส่งออกข้าวหอมในปี 2560
ประเทศกัมพูชาส่งออกข้าวหอมได้เพียง 394,027 ตันข้าวสาร ขณะที่ประเทศไทยส่งออกข้าวหอมได้มากถึง 2.30 ล้านตันข้าวสาร แม้กัมพูชาจะได้รับรางวัลชนะเลิศข้าวถึง 4 ครั้ง แต่การส่งออกข้าวหอมของกัมพูชายังมีน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการส่งออกข้าวหอมมะลิของไทย
สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยยืนยันว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวหอมมะลิไทย แม้ว่าในปัจจุบันข้าวหอมมะลิไทยมีคุณภาพดีและส่งออกได้มากที่สุดของโลก แต่กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ไม่นิ่งนอนใจ ได้ดำเนินการ ทั้งด้านการพัฒนาการผลิตและการตลาดข้าวหอมมะลิ เพื่อให้ประเทศไทยยังคงเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิชั้นเลิศ ที่ดีที่สุดของโลก แนวทางประกอบด้วย การเร่งรัดการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวหอม รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การจัดการก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว การอบลดความชื้น และการเก็บรักษา เพื่อยกระดับคุณภาพและความหอม ตามเอกลักษณ์ข้าวหอมมะลิไทย รวมทั้งผลักดันในการส่งเสริมสนับสนุน ให้เกษตรกรนาแปลงใหญ่ผลิตข้าวหอมมะลิชั้นเลิศ รวมทั้งให้มีการผลิตข้าวหอมมะลิที่ได้การรับรองมาตรฐาน GAP ที่มีคุณภาพและความหอม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายการลดพื้นที่ทำนา ลดการปลูกข้าว ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร โดยมีการวางแผนการคิดและการดำเนินงานอย่างรอบคอบแล้ว โดยการปรับเปลี่ยนพื้นที่การปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น

ได้พิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ปลูก ดิน จากแผนที่ Agri-map ความพร้อมการให้น้ำทางการเกษตรของกรมชลประทาน การถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้ให้เกษตรกร และมีการติดตามให้คำแนะนำการเชื่อมโยงตลาดและการประกันภัย เพื่อลดความเสี่ยงจากการเพาะปลูก ซึ่งการปลูกพืชอื่นให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่าข้าว เช่น กรณีการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าว ไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ไร่ละไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท

รวมทั้งเพิ่มผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีคุณภาพไม่น้อยกว่า 2 ล้านตัน ทำให้ไทยสามารถลดการนำเข้าข้าวสาลีและวัตถุดิบอาหารสัตว์อื่น เพื่อประหยัดเงินตราจากการนำเข้าจากต่างประเทศด้วย รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวด้วยว่า รัฐบาลได้ให้แนวทางในการพัฒนาคุณภาพข้าวของประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ส่งเสริมการพัฒนาข้าวอย่างต่อเนื่อง การผลิตข้าว GAP ในนาแปลงใหญ่ ส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ รวมทั้งควบคุมปริมาณการผลิตข้าวให้สมดุลกับความต้องการ และมีการชะลอผลผลิตข้าวออกสู่ตลาด เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น