วัดหมื่นสาร เยี่ยมชมหอศิลป์เครื่องเงิน สักการะครูบา เรียนรู้ความเป็นมาสมัยสงครามโลก

วัดหมื่นสาร ตั้งอยู่บนถนนวัวลาย ต.หายยา ไม่ทราบประวัติความเป็นมาแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่มีตำนานพื้นบ้านมากมายกล่าวถึงวัดแห่งนี้
พงศาวดารโยนก ฉบับหอสมุดแห่งชาติกล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2065 พระเจ้าอาทิตยวงศ์ ส่งราชทูตมาสืบสัมพันธไมตรีกับพระเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 14 แห่งราชวงศ์มังราย พระเมืองแก้วทรงจัดการรับรองราชทูตและแปลพระราชสาส์น ณ วัดหมื่นสารแห่งนี้ ตามบันทึกใบลานภาษาบาลีของวัดเจดีย์หลวงกล่าวไว้ว่าในสมัยพระเกษเกล้า กษัตริย์พระองค์ที่ 15 แห่งราชวงศ์มังราย มีเสนาอามาตย์ผู้หนึ่งนามว่า “วิมลกิตติ” (นายทหารยศชั้นหมื่น) สร้างพระอารามแห่งนี้ขึ้น มีข้อความว่า “อาวาสนี้ อันหมื่นวิมลกิตติ ผู้เป็นมหาโยธา (ทหารผู้ใหญ่) ในนครนี้ตั้งไว้แล้ว” ในศิลาจารึกวัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) ก็ปรากฏชื่อวัดหมื่นสารเช่นกัน สรุปความได้ว่าหมื่นหนังสือวิมลกิตติสิงหละราชมนตรี ท่านได้อุปถัมภ์วัดแห่งนี้ตลอดมา พระอารามนี้จึงได้ชื่อว่า “วัดหมื่นสาร” ตามชื่อของราชมนตรีผู้นั้น
อุโบสถวัดหมื่นสาร สถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์
พระอุโบสถ สถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ยกพื้นสูง สร้างขึ้นเมื่อปี 2534 หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นพรรณพฤกษา โดยรวมมีลักษณะคล้ายกับพระวิหารขนาดย่อส่วน สถูปบรรจุอัฐิธาตุครูบาศรีวิชัย เป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของวัด หลังจากที่ครูบาศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนาไทยมรณภาพลง อัฐิธาตุของครูบาถูกแบ่งออกเป็น 6 ส่วน ส่วนหนึ่งนำมาเก็บไว้ที่วัดแห่งนี้ แต่อย่างไรก็ตามอัฐิธาตุที่วัดหมื่นสาร ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดเป็นลายลักษณ์อักษรว่ามีที่มาอย่างไร มีเพียงแต่คำบอกเล่าของผู้อาวุโสในหมู่บ้านวัวลายเท่านั้นว่า อัฐิธาตุครูบาศรีวิชัยที่บรรจุภายในสถูปวัดหมื่นสารนั้นเป็นอัฐิที่ได้รับมาจากครูบาขาวปี๋ ศิษย์เอกของครูบาศรีวิชัย
อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย วัดหมื่นสาร
ในอดีตวัดแห่งนี้เคยเป็นคลังเก็บเสบียง อาวุธ และเป็นที่พักสำหรับทหารบาดเจ็บของกองทัพญี่ปุ่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆ วัด ทหารเหล่านี้ยังสอนภาษาญี่ปุ่น และมอบอาหารให้แก่เด็กๆ หลังกองทัพญี่ปุ่นแพ้สงคราม จึงนำอาวุธสงครามหลายชิ้นทิ้งลงในน้ำบ่อหลวงภายในวัด ฯลฯ
หอศิลป์สุทธฺจิตฺโต ประดับเครื่องเงินทั้งหลัง
หอศิลป์สุทฺธจิตฺโต เป็นอาคารล้านนาประยุกต์ ช่างเงินบ้านวัวลายหลายคนช่วยกันดุนลายโลหะประดับตกแต่งทั้งภายใน และภายนอกหอศิลป์ ซึ่งเป็นลวดลายพื้นเมืองล้านนาดั้งเดิม เนื้อเรื่องเกี่ยวกับพระเวสสันดร เป็นต้น ลวดลายเหล่านี้สื่อถึงประวัติความเป็นมาของชาวบ้านวัวลาย ภายในมีหุ่นขึ้ผึ้งรูปเหมือน 3 ครูบา ที่ชาวบ้านเคารพได้แก่ ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ครูบาอินตา อินทปัญโญ (ครูบาอินต๊ะ) และพระครูโอภาสคณาภิบาล (ครูบาบุญปั่น ปุญญาคโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดหมื่นสาร

ร่วมแสดงความคิดเห็น