คนจีนส่งลูกมาเรียนเชียงใหม่ เรียนเพื่อรู้พร้อม “สู้ทุกสมรภูมิ”

กลุ่มชนชั้นกลางจนถึงกลุ่มรากหญ้า เกือบทุกประเทศทั่วโลก มีจุดดความคิดคล้ายๆกันคือ เข้าใจความยากลำบาก การดิ้นรนต่อสู้ของชีวิตเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี มีสุข มั่นใจว่า การศึกษา จะเป็นการสร้างโอกาสในชีวิต คือบันไดก้าวสู่ความมั่งคั่ง อำนาจ เกียรติยศ ดังนั้นครอบครัวกลุ่มคนเหล่านี้ จึงพยายามทุ่มเท ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ให้ลูกๆได้มีโอกาสทางการศึกษา
ข้อมูลจากเอชเอสบีซี (แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่นดังระดับโลก) ซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มพ่อค้าชาวยุโรป และนักธุรกิจท้องถิ่น ชาวจีนมีเครือข่ายสาขากว่า 10,000 แห่ง ใน 83 ประเทศ ระบุผลศึกษาการลงทุนด้านการศึกษาแต่ละประเทศ ล่าสุดพบว่าฮ่องกง ใช้เงินเพื่อการศึกษาลูกต่อปีมากที่สุด 132,161 ดอลล่าร์สหรัฐ, สิงค โปร์ 70,939, สหรัฐอเมริกา 58,464, ของไทยคงไม่ต้องเสนอซ้ำๆซากๆ ขอพุ่งไปที่จีนมีตัวเลข 42,892 ถ้าใช้ตัวเลขค่าแลกเปลี่ยนวันนี้เอา 30 บาทคูณเข้าไป เฉพาะจีนก็ราวๆ 1.2 ล้านบาท/ปี
ด้วยจำนวนประชากรที่มีมากกว่า 1,300 ล้านคน ทำให้จีนมีอัตราการแข่งขันสูง โอกาสเข้าศึกษาต่อ
มหาวิทยาลัยชั้นนำในจีน 150 แห่งยากลำบาก จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่คนจีนบางกลุ่ม หันมาส่งลูกหลานศึกษาต่างประเทศ กระแสนิยมของคนจีนส่งลูกมาเรียนที่เชียงใหม่ มีมานานกว่า 10 ปี ด้วยมหาวิทยาลัยดังๆในเชียงใหม่ ทั้งของรัฐและเอกชน มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา เช่น ม.แม่โจ้, มช. ,ม.นอร์ท, ม.พายัพ ไม่นับรวมสายอาชีวะ สายเทคนิค
สถาบันภาษา มช. ก็เป็นอีกแหล่งวิทยาการ ที่มี นักศึกษาจีนจาก ม.ดังๆของจีน อาทิ ม.ต้าหลี่ มณฑลยูนนาน ,ม.ป่าไม้ซีนาน , วิทยาลัยธุรกิจและภาษาต่างประเทศ เมืองคุนหมิง เอกภาษาไทย,เอกสังคมและวัฒน ธรรม แห่มาเรียน กลุ่มที่สำเร็จการศึกษา ส่วนหนึ่ง มองเห็นโอกาสลงทุนทำธุรกิจการค้า ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลจีน ส่งเสริมการเดินทางไปเรียนต่างประเทศอย่างมาก เพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆทุกมิติ นักศึกษาจีนจำนวนมาก ได้รับการยกเว้นใช้ทุนคืน กลายเป็นมังกรพลัดถิ่น ผู้ร่วมสานทางมังกรทะลุทลวงไปทุกพื้นที่
จากนั้นจะมีกลุ่มทุนจีน เข้ามาเติมรุกคืบลงทุนตามฐานข้อมูล”รู้เขา รู้เรา รบกี่ครั้งก็ชนะ” นักศึกษาจีนไม่น้อย ที่จบจาก ม.แม่โจ้ กลายเป็นหนึ่งในผู้ประสานงานค้าพืชไร่ ให้ล้งจีน เมื่อเชี่ยวชาญแยกออกมาทำเอง สามารถประสบผลสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว บางคนเป็นเจ้าของกิจการ ที่พักในเชียงใหม่เพื่อรองรับกลุ่มทัวร์จีนโดยเฉพาะก็เยอะ ที่น่าติดตามคือการเข้ามาร่วมบริหารจัดการมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดเล็กในหลายภูมิภาคของไทย ซึ่งมีเชียงใหม่อยู่ในนั้นด้วยแถวๆเขตเมือง โดยการเจรจายังไม่บรรลุข้อตกลงด้านราคา
นักวิชาการศึกษาในมหาวิทยาลัยดังของเชียงใหม่ หลายๆท่านมองว่า การซื้อกิจการ ม.เอกชน น่ากังวล เพราะการผลิตบัณฑิตจีน ให้มีความรู้ความเข้าใจบริบทของสังคมไทย รู้ถึงวิธีคิด วิถีชีวิตคนท้องถิ่น อาจจะส่งผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในอนาคตได้ ด้านดีคือธุรกิจ ตลาดการศึกษา หลายๆเมืองในบางประเทศ ประสบผลสำเร็จ ในการสร้างรายได้มหาศาลให้ประเทศ แต่ไทยยังต้องใช้เวลาเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น
โดยบริบทของสังคมไทยนั้น ความนิยมที่จะส่งลูกหลานไปเรียนที่จีน ยังมีน้อย ต่อไปบัณฑิตจีนอาจแย่งงานบัณฑิตไทย เพราะเด็กไทยส่วนหนึ่งติดโซเชียล ภาษาอังกฤษก็ไม่ค่อยดี ไม่ขยัน ขาดความมุ่งมั่น ทุ่มเท พ่อแม่ตามใจ แม้สังคมไทยจะขยับ ปรับกระบวนท่าอย่างช้าๆเพื่อก้าวทันทุกสมรภูมิ แต่กลุ่มผู้ปกครองต้องเร่งปรับชุดความคิด ในการวางรากฐานชีวิตลูกหลาน
มหาวิทยาลัยที่ดี เหมาะสมกับทุกชีวิตคือ มหาวิทยาลัยธรรมชาติ ใต้แผ่นฟ้า ทุ่งกว้าง ป่าเขา สังคม ทุกๆสิ่ง ในทุกประสบการณ์ที่ได้รู้ ได้เห็น คือ วัตถุดิบ ต้นทุนของทุกชีวิต ที่จะมองเห็นคุณค่า ในการสร้างมูลค่าให้ชีวิตได้อย่างไรมากกว่า การเรียนไม่ว่าระดับใด ที่ไหน ถ้าไม่ใส่ใจเรียนเพื่อรู้ หรือเรียนแบบงูๆปลาๆรู้ไม่จริง ก็ไร้ประโยชน์ แต่อย่าลืม สังคมไทย ใบปริญญายังเป็นใบเบิกทางที่สังคมให้การยอมรับที่สุด
(ขอบคุณ : ภาพประกอบบางส่วนจาก สถาบันภาษา มช.)

ร่วมแสดงความคิดเห็น