หมู่บ้านปั้นหม้อ “บ้านเหมืองกุง”

บ้านเหมืองกุงอยู่ในเขตตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่มีการทำเครื่องปั้นดินเผากันแทบทุกหลังคาเรือน จนสามารถพูดได้เลยว่าเป็นหมู่บ้านแห่งภูมิปัญญาไทยโดยแท้จริง แน่นอนว่าชาวบ้านที่นี่ยึดอาชีพการทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นอาชีพหลัก ถ้าเดินตามถนนคอนกรีตเล็ก ๆ ในหมู่บ้านจะพบเห็นหม้อดินเผาหลายชนิดหลายขนาด ทั้งแจกัน กระถางและอื่น ๆ ตากเรียงรายอยู่กลางลานบ้าน นอกจากนั้นใต้ถุนบ้านยังมีผู้เฒ่าผู้แก่ต่างช่วยกันตกแต่งหม้อน้ำดินเผาอย่างขะมักเขม้น
ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ หม้อน้ำที่มีปากแคบ ตรงกลางปล่อง ก้นสอบและมีฝาปิด บริเวณไหล่หม้อน้ำจะมีการแกะลวดลายอย่างสวยงาม ในสมัยก่อนผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากก็คือ น้ำต้น หรือ คนโท สำหรับใส่น้ำต้อนรับแขกผู้มาเยือน น้ำต้น เป็นงานเอกลักษณ์ของบ้านเหมืองกุงที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีหลายคนบอกว่า คนล้านนาสมัยโบราณคิดสร้างน้ำต้น นั้นอาจเลียนแบบมาจากลักษระลูกน้ำเต้า ดังนั้นชื่อน้ำต้นจึงเพี้ยนมาจากน้ำเต้านั่นเอง

กระบวนการในการผลิตเครื่องปั้นดินเผาของชาวบ้าน มีลักษณะที่พัฒนาไปไกลกว่าที่อื่น ๆ เพราะรู้จักการใช้แป้นหมุนมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ โดยใช้เหล็กแหลมปักบนดินแข็งแล้วใช้กระบอกไม้รวกตัดเป็นท่อนสั้น ๆ สวมบนแท่งเหล็กอีกที ด้านของไม้รวกติดกับแผ่นไม้กลมแบน การปั้นดินบนแท่นหมุนนี้ทำให้เร็วขึ้นส่วนเวลาเผาก็เผาในเตาที่มีอุณหภูมิสูง ประมาณ 200 – 300 องศาเซลเซียส ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะคงทนและสามารถอุ้มน้ำได้ดีกว่าการเผากลางแจ้ง

จากเทคนิคและวิธีการที่แตกต่างจากเครื่องปั้นดินเผาของหมู่บ้านอื่น และยังสามารถทำน้ำต้นได้ในขณะที่หมู่บ้านอื่น ๆ ทำน้ำต้นกันไม่เป็น ทำให้หลายคนคิดว่าชาวบ้านเหมืองกุงน่าจะอพยพมาจากที่อื่น นอกจากนั้นเรายังทราบว่าก่อนที่จะใช้ชื่อบ้านเหมืองกุงนั้น หมู่บ้านนี้มีชื่อเดิมว่า บ้านน้ำต้น เป็นหมู่บ้านเก่าแกของเชียงใหม่มีการปั้นน้ำต้นและหม้อน้ำมานานกว่า 150 ปี สันนิษฐานว่าชาวบ้านเหมืองกุงนั้นเป็นชาวไตที่อพยพมาจากแคว้นพุกาม ประเทศพม่า ซึ่งสามารถพิสูจน์ออกมาได้ในจากงานปั้น เพราะมีลักษณะและลวดลายคล้าย ๆ กัน จะต่างกันก็เพียงสีเท่านั้น ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าบรรพบุรุษของชาวบ้านเหมืองกุงคงอพยพมาอยู่ทีหลัง แล้วนำเอาวิชาการปั้นหม้อติอตัวมาด้วยและมีการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ
การปั้นหม้อน้ำและน้ำต้นถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของบ้านเหมืองกุง ชาวบ้านจะมีความถนัดและทำกันมากเป็นพิเศษ ในอดีตจะทำกันเกือบทั้งปีและยิ่งทำกันมากในช่วงฤดูแล้ง โดยขุดดินจากที่นาใกล้หมู่บ้าน พอทำเสร็จก็จะใส่เกวียนไปขายยังที่ต่าง ๆ จนผู้คนทั่วไปรู้จักชื่อเสียงของบ้านเหมืองกุงเป็นอย่างดี แต่ในปัจจุบันการปั้นหม้อแบบเก่าไม่สนองความต้องการของตลาดเหมือนแต่ก่อน การปรับเปลี่ยนจึงเป็นหนทางแห่งความอยู่รอด ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงหันไปปั้นหม้อแบบใหม่ ตามใบสั่งที่ได้มาโดยทางร้านค้าจะสั่งผลิตสินค้าในรูปแบบต่าง ๆ แล้วให้ชาวบ้านผลิตสินค้าตามที่ตลาดต้องการ เช่น มีการปั้นไหขนาดใหญ่ แจกันดอกไม้ อ่างเลี้ยงปลา ฯลฯ ดังนั้นหม้อน้ำในยุคหลัง ๆ จึงมีรูปแบบแปลกใหม่ แกะสลักลวดลายอย่างสวยงาม บางชิ้นมีการวาดลวดลายและทาแล็กเกอร์ทับอีกชั้นหนึ่ง

อย่างไรก็ตามอาชีพการทำเครื่องปั้นดินเผาคงจะไม่หมดไปจากหฒุ่บ้านเหมืองกุงอย่างแน่นอน เพราะชาวบ้านรู้จักการประยุกต์ให้เข้ากันสังคมปัจจุบัน ทั้งรูปแบบและการพัฒนาเทคนิคการทำตามความต้องการของตลาด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่า ชาวบ้านเหมืองกุงได้ก้าวผ่านการผลิตเพื่อยังชีพมาเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายมากขึ้นก็ตาม ถึงวันนี้เชื่อว่าชื่อของ “บ้านน้ำต้น” จะเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน แต่ชื่อของ “บ้านเหมืองกุง” ก็ยังคงประทับอยู่ในความทรงจำของคนเชียงใหม่และนักท่องเที่ยว รวมไปถึงผู้แสวงหารากเหง้าจากความเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน แม้ว่าจะเป็นเพียงภูมิปัญญาแบบ
ประยุกต์ก็ตามที แต่ก็ได้ประยุกต์ให้เหมาะสมกับสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นทุกวันนี้

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น