ขับรถเที่ยวเมืองลำพูน บนเส้นทางสายธรรมชาติและวัฒนธรรม

เส้นทางสายธรรมชาติและวัฒนธรรม 106 จากเชียงใหม่ – ลำพูน เพียง 20 กม.ก็จะถึงเมืองวัฒนธรรมโบราณนครลำพูน ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ ถนนเชียงใหม่ – ลำพูน สายนี้สร้างบนผนังดินธรรมชาติของแม่น้ำปิงห่าง จึงนับเป็นถนนที่มีความสำคัญและเป็นถนนสายแรกที่เป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อระหว่างเมืองทั้งสอง
กระทั่งปี พ.ศ.2454 ทางราชการได้นำต้นยางมาให้ชาวบ้านช่วยกันปลูกตลอดสองข้างทาง เพื่อความร่มรื่นและสวยงาม ส่วนในเขตเมืองลำพูนได้ปลูกต้นขี้เหล็ก ต้นไม้ตลอดเส้นทางของถนนสายนี้มีร่วมสองพันต้น มีการปลูกเป็นแถวอย่างมีระเบียบ มีระยะห่างกันระหว่างต้นประมาณ 10 ถึง 20 วา ตลอดเส้นทาง นับเป็นเอกลักษณ์คู่ถนนสายนี้ตลอดมาร่วมร้อยปี

จากถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน จนสุดเขตต้นยางเป็นที่ตั้งของแดนเมือง ซึ่งเป็นเขตรอยต่อระหว่างอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่กับอำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เมื่อเข้าเขตเมืองลำพูน ริมถนนเส้นนี้จะปลูกต้นขี้เหล็กตลอดแนวสองฝั่งจนถึงตัวเมืองลำพูน แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในเขตตำบลอุโมงค์ และมักไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวรู้จักมากนัก ก็คือ พระมณฑปของวัดเชตวันหนองหมู เป็นมณฑปรูปทรงกรวยเหลี่ยมครอบพระพุทธบาทและพระพุทธไสยาสน์ พื้นที่ของมณฑปเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 3 ชั้น สร้างอยู่

กลางสระน้ำ เดิมบริเวณที่ตั้งของมณฑปนี้เป็นพระเจดีย์เก่าที่พังทลายลงมา ต่อมาปี พ.ศ.2480 ทางวัดจึงได้สร้างเจดีย์ใหม่ขึ้นภายในวัดและสร้างพระมณฑปปราสาทขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทและพระพุทธไสยาสน์ โดยครูบาคำแสน (พระครูคำแสนสิริ) โดยให้ช่างชาวพม่า ชื่อ โม่ส่วย เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง
รูปแบบการก่อสร้างมณฑปวัดเชตวันแบ่งเป็น 3 ชั้น ชั้นแรกมีฐานสูงประมาณ 1 เมตรก่อเป็นกำแพงแก้ว โดยรอบเป็นระเบียงสันนิษฐานว่าคงมีการขุดเอาดินรอบ ๆ นั้นมาถมเพื่อป้องกันการทรุดตัวของมณฑปสูงมีความสูงมาก บริเวณมุมของกำแพงแก้วมีซุ้มสี่เหลี่ยม คล้ายมณฑปขนาดเล็กประดับอยู่ทั้ง 4 ด้าน ซุ้มทั้ง 4 มีรูปปั้นของคนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เทวดา ทหาร ชาวบ้านทั้งชายและหญิงประดับอยู่ ทางเข้าอาคารเป็นสะพานมีราวก่อด้วยอิฐ หัวสะพานมีรูปปั้นนรสิงห์ บันไดทางขึ้นทอดตัวจากทางเข้าขึ้นไป 2 ระดับไปสิ้นสุดที่หน้ามณฑป

บริเวณฐานพระมณฑปชั้นที่ 2 ค่อนข้างสูงมีระเบียงแก้วโดยรอบคล้ายกับชั้นแรก แต่ฐานของชั้นนี้มีโขงคล้ายกับคูหาเล็ก ๆ ด้านละ 7 โขง ภายในโขงมีรูปปั้นเป็นพระสงฆ์ในกิริยาต่าง ๆ เช่น พระยืนเรียงกัน 3 รูป พระสงฆ์จูงสุนัข เป็นต้น ระเบียงชั้นสองนี้สามารถเดินได้โดยรอบมณฑปวัดเชตวันหนองหมู นับว่าเป็นต้นแบบของงานสถาปัตยกรรมที่สะท้อนภูมิปัญญาเชิงช่างของล้านนาที่ผสมผสานระหว่างศิลปกรรมท้องถิ่นกับพม่าได้อย่างลงตัวที่สุด

จากวัดเชตวัน เข้าสู่เมืองลำพูนระยะประมาณ 10 กิโลเมตร เมื่อเข้าเขตตัวเมืองลำพูนจะพบแนวคูเมืองและกำแพงเมืองโบราณ นักท่องเที่ยวสามารถลงรถโดยสารที่บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหริภุญชัย กลางเมืองลำพูนซึ่งอยู่ตรงประตูทางเข้าวัดพระธาตุหริภุญชัยพอดิบพอดี

เมื่อเข้าเมืองลำพูน ต้องแวะไปชมเจดีย์เหลี่ยมแบบพุทธคยา ชื่อ สุวรรณจังโกฏ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “กู่กุด” ที่วัดจามเทวี เชื่อกันว่าภายในบรรจุอัฐิของพระนางจามเทวีปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย เมื่อเข้ามาถึงตัวเมืองแวะเข้าไปไหว้พระที่วัดพระธาตุหริภุยชัยวรมหาวิหาร วัดนี้ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของพุทธศาสนาในแผ่นดินล้านนา วัดนี้มีจุดที่น่าสนใจมากมาย เช่น ซุ้มประตูโขง วิหารหลวง องค์พระธาตุ เยื้องกับวัดพระธาตุหริภุญชัยเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ภายในมีการจัดแสดงวัตถุโบราณสมัยหริภุญชัยและสมัยล้านนา

ตรงข้ามกับวัดพระธาตุหริภุญชัยมีวัดพระยืน หรือชื่อเดิมพฤทธมหาสถานพระเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงมณฑปคล้ายกับอานันทเจดีย์ที่เมืองพุกาม ประเทศพม่าและเจดีย์ป่าสักที่อำเภอเชียงแสน ใกล้กับวัดพระยืนมีหมู่บ้านหัตถกรรมผ้าฝ้ายยกดอกบ้านเวียงยอง เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทอผ้าโบราณของลำพูน จนเป็นสินค้าโอท็อประดับ 5 ดาว
หากมีเวลาลองขับรถไปชมสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองเช่น กู่ช้าง เป็นสุสานช้างศึกคู่บารมีพระนางจามเทวี วัดมหาวัน ตำนานว่าสร้างขึ้นสมัยพระนางจามเทวีขึ้นครองเมืองหริภุญชัย เป็นต้นตำนานของพระรอดวัดมหาวันหนึ่งในพระเครื่องเบญจภาคี

ลำพูนยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่ออีกหลายแห่ง เช่น อำเภอป่าซาง เป็นอำเภอที่มีชื่อในการทอผ้าฝ้าย ปัจจุบันมีร้านค้าจำหน่ายผ้าฝ้ายทอมือของอำเอป่าซางตั้งสองข้างถนน แต่หากนักท่องเที่ยวที่ชอบงานปฏิมากรรมเกี่ยวกับธรรมะและพุทธศาสนาก็แวะเข้าซอยข้าง ตลาดป่าซาง ประมาณ 500 เมตรก็จะพบอุทยานธรรมะแกลเลอรี่ รอบ ๆ อาคารมีแบบจำลองปฏิมากรรม โดยศิลปินแห่งชาติอินสนธิ์ วงศ์สาม
ออกจากป่าซางมาราว ๆ 6 กม. ตามถนนเส้นทางป่าซาง – ลี้ เลี้ยวซ้ายเข้าไปชมวัดพระพุทธบาทตากผ้า ปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของลำพูน ตามตำนานการสร้างวัดเล่าว่าพระพุทธองค์เคยเสด็จมาประทับที่นี่แล้วทรงนำจีวรออกตากกับผาหิน จากนั้นจึงอธิษฐานเหยียบพระบาทประดิษฐานรอยไว้บนผาลาดซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดในปัจจุบัน

จากป่าซางมุ่งหน้าสู่ อ.ลี้ ดินแดนทางใต้สุดของจังหวัดลำพูน แผ่นดินอันได้ชื่อว่าเป็นถิ่นกำเนิดของนักบุญแห่งล้านนา ครูบาเจ้าศรีวิชัย ครูบาชัยยะวงศา ครูบาอภิชัยขาวปี นอกนั้นอำเภอลี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อได้แก่ อุทยานแห่งชาติแม่ปิง

อุทยานแห่งชาติแม่ปิง สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้แบบตลอดปี ส่วนใหญ่จะนิยมมาค้างแรม การเดินทางสู่อุทยานฯแบ่งออกเป็น 2 ทาง คือ ทางบก เดินทางจากอำเภอลี้ จังหวัดลำพูนไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1087 สายลี้ – ก้อ ที่ทำการอุทยานฯ จะตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 20 ทางน้ำ สามารถเดินทางจากอ่างเก็บน้ำดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านลำน้ำปิงไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิงยังถือเป็นแหล่งกำเนิดกล้วยไม้ป่าที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่ง ว่ากันว่ากล้วยไม้ป่าของที่นี่บางชนิดเป็นพันธุ์หายาก

และไม่เคยพบที่ใด้มาก่อน เจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ พาเราไปเยี่ยมชมดอกกล้วยไม้ป่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติบริเวณทุ่งกิ๊ก ซึ่งเป็นแหล่งเพาะกล้วยไม้ป่านานาชนิด บางชนิดถูกค้นพบใหม่และยังไม่ได้มีการตั้งชื่อ นอกจากนี้จะสังเกตุเห็นว่า ป่าบริเวณนี้เป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศดีมาก ว่ากันว่าป่าเต็งรังในอุทยานแห่งชาติแม่ปิงมีความสมบูรณ์มากที่สุดและมีความสวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่งด้วย

หากมีเวลาในช่วงเทศกาลวันหยุดสิ้นปี 2 – 3 วัน ลองขับรถท่องเที่ยวเมืองลำพูนดู นอกจากจะเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศของการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการสัมผัสถึงวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมของชาวล้านนาได้ดีไม่น้อย

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น