อนามัยโลก ประกาศให้ โรคติดเกม เป็นหนึ่งโรคทางจิตเวช เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาสมอง พัฒนาการของเด็ก

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้ โรคติดเกม เป็นหนึ่งโรคทางจิตเวช เป็นโรคที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาสมอง พัฒนาการ และพฤติกรรมของเด็ก ประเทศไทย คาดการณ์ว่ามีเด็กติดเกมและมีเด็กเสี่ยงติดเกม ประมาณ 2 ล้านคน

โรคติดเกม (Gaming Disorder) คือ โรคที่เกิดจากพฤติกรรมการเสพติดในทางสมอง มีลักษณะคล้ายการติดสารเสพติด เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาสมอง พัฒนาการ และพฤติกรรมของเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการเล่นเกมทางอินเทอร์เน็ต

อาการสำคัญ คือ ใช้เวลาเล่นนานเกินไป ขาดการควบคุมตนเองในการใช้ชีวิตปกติ เช่น การกิน การนอน เสียหน้าที่การเรียนและการงาน

 ผลของการติดเกมในแต่ละช่วงจะมีผลที่ต่างกัน ดังนี้

1.เด็กก่อนวัยเรียน จะเกิดสมาธิสั้น ขาดทักษะการเข้าสังคม พัฒนาการช้า
2.เด็กวัยเรียน ทำให้อ้วน สายตาสั้น มีอารมณ์รุนแรง ติดเกม ขาดวินัยทางการเรียน
3.เด็กวัยรุ่น มีค่านิยม พฤติกรรมทางเพศที่เปลี่ยนแปลงไป ติดค่านิยมบริโภค ถูกรังแก ถูกล่อลวงง่าย


หากปัญหานี้ เกิดขึ้นกับครอบครัวโดยเฉพาะลูกน้อยเราจะป้องกันหรือแก้ไขอย่างไร

 การที่ลูกอยู่นิ่ง ๆ ไม่ซุกซน เพราะเอาแต่นั่งเล่นเกมในแท็บเล็ต หรือในคอมพิวเตอร์ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าผลดี ดังนั้นควรให้ลูกเล่นอย่างพอดี เล่นในเวลาที่เหมาะสม และจำกัดเวลาในการเล่น ก็จะช่วยเสริมทักษะความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ให้อย่างถูกต้อง ตามแนวทางนี้

1. ให้ลูกได้จับหรือเล่นแท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ เมื่ออายุ 4 ขวบขึ้นไป
2.เวลาเล่นคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยแนะนำอยู่ข้าง ๆ และควรเลือกเกมที่เหมาะสมกับวัย ไม่มีความรุนแรง ควรเป็นเกมที่เสริมพัฒนาการของลูก
3.จำกัดเวลาในการเล่น ไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง/วัน ไม่ควรให้เล่นก่อนนอนเพราะจะเป็นการกระตุ้นอารมณ์ให้นอนหลับยากมากขึ้น

 การรักษาแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์ เพื่อวินิจฉัยอาการว่ามีภาวะติดเกมแค่ไหน จะได้ประเมินการรักษาได้ถูกต้อง ซึ่งการรักษาจะเริ่มตั้งแต่ พูดคุยให้คำปรึกษา แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จนไปถึงการให้ยา

ร่วมแสดงความคิดเห็น