ประเพณียี่เป็งล้านนา

ประเพณีลอยกระทงของคนไทยมีมาตั้งแต่โบราณกาล เชื่อกันว่าเริ่มต้นเมื่อสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ประมาณ 700 กว่าปีมาแล้ว แต่เดิมประเพณีลอยกระทงมีคติทางพุทธศาสนาถือว่า เป็นการลอยเคราะห์บูชาขอขมาแด่พระแม่คงคาและเพื่อเป็นการบูชาลอยพระ
พุทธบาทของพระพุทธเจ้า ณ ริมฝั่งแม่น้ำนันมหานทีในแคว้นทักขิณาบก ประเทศอินเดีย นอกจากนั้นยังเป็นการบูชาพระจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า

ประเพณีการลอยกระทงได้สืบทอดวิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อถึงวันลอยกระทงประชาชนทั้งหลายจึงพร้อมใจกันจัดงานลอยกระทงซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่นประเพณีลอยกระทงของชาวภาคกลางและชาวมอญ ประเพณียี่เป็งของชาวเหนือและประเพณีไหลเรือไฟของชาวอีสาน ส่วนที่จังหวัดสุโขทัยจะเรียกชื่อตามหลักศิลาจารึกกรุงสุโขทัยหลักที่ 1 ว่า “ประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ”

ตำนานที่กล่าวถึงประเพณีลอยกระทงของสุโขทัย มีปรากฏอยุ่ในหลักศิลาจารึกว่า “…พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้าท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้า ลูกขุน ทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชาย ทั้งผู้หญิงฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษากรานกฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว เมื่อกรานกฐินมีพนมเบี้ย พนมหมาก พนมดอกไม้ มีหมอนนั่ง หมอนนอน บริพานกฐินโดนทาย แล่ปีแล่ญิบล้านไปสวดญัติติกฐินถึงอรัญญิกพู้น เมื่อจักเข้ามาเวียงเรียงกันแต่อรัญญิก เท้าหัวลานคำบงคงกลองด้วยเสียงพาทย์ เสียงพิณ เสียงเลื่อน เสียงขับ ใครจักมักเล่นเล่น ใครจักมักหัวหัว ใครจักมักเลื่อนเลื่อน เมืองสุโขทัยนี้ประตูสี่ปากประตูหลวง เทียรย่อมคนเสียดกันเข้ามาดูท่านเล่นไฟเผาเทียน ท่านเล่นไฟเมืองสุโขทัยมีดังจักแตก…”

เมื่อถึงวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 หรือที่คนเมืองเหนือเรียกว่า “เดือนยี่เป็ง” เป็นช่วงเวลาของงานเทศกาลลอยกระทง ซึ่งจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือได้จัดให้มีงานประเพณียี่เป็งขึ้นอย่างยิ่งใหญ่งดงาม นอกจากนั้นแล้วในงานดังกล่าวยังมีการเฉลิมฉลองอย่างครึกครื้นสนุกสนาน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะงานประเพณียี่เป็งมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่อดีตกาล

ในสมัยโบราณการลอยกระทงนิยมกระทำกันอย่างแพร่หลายในสังคมเกษตร ซึ่งผู้คนที่กระทำพิธีนี้ก็เพื่อบูชาขอบคุณพระแม่คงคาที่ได้ประทานน้ำมาให้ใช้ในการเพาะปลูก จนต่อมาพิธีลอยกระทงได้รับการปรับเปลี่ยนให้ผสมผสานกับแนวคิดทางพุทธศาสนา โดยพุทธศาสนิกถือว่าการทำพิธีลอยกระทงนั้นเป็นการบูชาพระพุทธบาทที่ตั้งอยู่ในสายน้ำนัมทานที นอกเหนือจากความคิดดังกล่าวแล้ว การลอยกระทงยังมีคติความเชื่อที่แตกต่างกันไปอีกหลายประการเช่นกัน บางแห่งถือว่าเป็นการบูชาพญานาค บูชาพระอุปคุต บูชาพระลักษมีเทวี บูชาพระเขี้ยวแก้ว รวมทั้งเชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ปล่อยเสนียจัญไรให้ไหลไปกับสายน้ำ

พิธีลอยกระทงนั้นทางภาคเหนือเรียกว่า “พิธีลอยโขมด” ได้รับอิทธิพลมาจากพวกมอญในสมัยหริภุญชัย การลอยกระทงถือเป็นการระลึกนึกถึงหมู่ญาติที่อาศัยอยู่ในเมืองหงสาวดี ต่อมาภายหลังจึงได้เปลี่ยนมาเป็นการบูชาพระพุทธบาท นอกเหนือจากการลอยกระทงแล้วยังมีประเพณีการจุดประทีปโคมไฟเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ตามความเชื่อของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ

ในงานประเพณียี่เป็ง นอกจากการจุดผางประทีปโคมไฟและธูปเทียนเพื่อเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า บูชาเจดีย์และบูชาต้นโพธิ์แล้ว ยังมีประเพณีชักแขวนโคมไฟขึ้นไว้บนปลายเสาเพื่อเป็นพุทธบูชาก็มีความหมายหนึ่งในทางพุทธศาสนา โดยในการแขวนโคมไฟนี้อาจจะทำเป็นรูปลักษณะต่าง ๆ ตามแต่ศรัทธาและสามารถในการทำขึ้น จากเอกสารโบราณของล้านนาไม่ได้บอกที่มาของประเพณีการชักแขวนโคมไฟ แต่อย่างไรก็ตามย้อนหลังไปเมื่อประมาณพันกว่าปีก่อน ในตำนานเรื่อง “สุวรรณโคมคำ” กล่าวถึงการชักแขวนโคมไว้ว่า มหาเสนาบดี ซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งเมืองสุวรรณโคมคำและเหล่าบรรดาบริวารทั้งหลายได้ชักโคมไฟขึ้นไว้บนปลายเสาที่ปักเรียงรายอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง หรือ “ขลนที” เพื่อบนบานให้แพของพระราชธิดาคือสุวรรณทวารมุขลอยทวนกระแสน้ำขึ้นมา

แม้ว่าในปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีการแขวนโคมไฟไว้ตามอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ แต่ก็ไม่ทราบความหมายที่แท้จริง เพราะเมื่อถึงเทศกาลยี่เป็งขึ้นมาคราใดก็มักจะเห็นบ้านเรือนประดับตกแต่งด้วยโคมไฟเสมอมา แต่อย่างน้อยความเชื่อหนึ่งที่บรรดาชาวพุทธทั้งหลายพากันแขวนโคมไฟไว้ตามบ้านเรือนก็เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาเป็นการส่องแสงสว่างให้กับตัวเอง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มสีสันของงานประเพณียี่เป็งให้คึกคักสวยงามอีกด้วย

ปัจจุบันการประดับตกแต่งโคมของคนล้านนาที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันดีจะมีให้เห็นในประเพณียี่เป็งเท่านั้น ราวเดือนพฤศจิกายนชาวล้านนาจะประดิษฐ์โคมขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาโดยมีความเชื่อว่าชาติหน้าเกิดมาจะมีสติปัญญาดี เนื่องจากแสงสว่างเป็นแสงที่ส่องเข้าไปยังความมืด เปรียบเสมือนปัญญาที่จะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ การประดิษฐ์โคมเพื่อใช้ในงานมงคลต่าง ๆ มีจุดประสงค์สำคัญอยู่ 4 อย่างคือ เพื่อเป็นพุทธบูชา เพื่อความสวยงาม เพื่อเพิ่มความสว่างไสวให้กับอาคารบ้านเรือนและเพื่อเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของบ้าน

โคม ในความหมายของคนล้านนาหมายถึง ตะเกียงสำหรับจุดไฟเพื่อให้แสงสว่างภายในเรือน ในตำนานสุวรรณโคมคำ กล่าวถึงคำว่า “โคม” ในฐานะของตะเกียงไว้ว่า เมื่อครั้งที่ลอยแพสุวรรณมุขทวารราชกุมารซึ่งถูกใส่ความว่าอุบาทว์ เพราะประสูติออกจากปากของนางอุรสาราชเทวีนั้น เมื่อไอยะมหาอุปราชทราบข่าวจึง “…ให้ตั้งการบวงสรวงนาคา ปักเสาประทีปโคมทอง บูชาทุกท่าน้ำ…” โคมล้านนาที่ใช้ทั่วไปในงานบุญของภาคเหนือ มักเป็นโคมที่ใช้เพื่อความสวยงามและการประดับตกแต่งมีอยู่ด้วยกัน 6 ประเภทคือ

โคมถือ หรือ โคมหูกระต่าย จะใช้ในงานเทศกาลยี่เป็ง สามารถแยกเป็น 2 ส่วนคือส่วนที่ให้แสงสว่างและส่วนที่เป็นเรือนโคม ชาวพุทธจะถือไปเดินร่วมขบวนแห่งานลอยกระทง มีเทียนไขหรือประทีปจุดให้ความสว่างอยู่ภายในโคม เมื่อเสร็จจากการเดินร่วมขบวนแล้วก็จะนำไปประดับไว้รอบ ๆ โบสถ์หรือสถานที่มีพิธี

โคมลอย เป็นโคมที่ทำจากไม้ไผ่ขดเป็นวงกลมทำเป็นปากโคม ใช้กระดาษว่าวหุ้มเป็นรูปทรงกลมปลายมน หรือเหมือนบอลลูน ใช้ควันไฟปล่อยเข้าไปในปากโคมลอยจนได้ที่แล้วปล่อยให้ลอยขึ้นไปบนฟ้า ด้วยความเชื่อว่าเพื่อจะให้โคมลอยขึ้นไปบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีดุสิตสวรรค์ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้เกิดปีจอ หรือเพื่อบูชาแก่เจ้าผู้ให้กำเนิดของตนบนสวรรค์ หรือที่เรียกว่าพ่อเกิดแม่เกิด

โคมแขวน หรือ โคมค้าง เป็นโคมที่ใช้สำหรับบูชาพระมีหลายรูปแบบ เช่น โคมบาตรพระ โคมรูปดาว โคมตะกร้า โคมเหลี่ยม โคมเงี้ยว โคมเพชร โคมเสมาธรรมจักร โคมผีเสื้อ โคมญี่ปุ่น ฯลฯ การจุดโคมแขวนหรือโคมค้างจะนิยมทำกันในช่วงเทศกาลยี่เป็ง นอกจากนั้นยังใช้ประดับอาคารสถานที่ ทำให้สง่างามสว่างไสวเป็นสิริมงคลใช้ตกแต่งอาคารบ้านเรือนเพื่อบูชาเทพารักษ์ผู้รักษาบ้านก็ได้

โคมล้อ เป็นโคมที่ใช้เป็นเครื่องส่องสว่างประจำล้องัว หรือ วัวเทียมเกวียน มีรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีกระจกทั้ง 4 ด้าน โคมล้อแบ่งเป็น 2 ส่วนคือส่วนที่เป็นตัวตะเกียงและส่วนที่เป็นเรือนครอบตะเกียง ส่วนใหญ่ใช้น้ำมันก๊าดเป็นเชื้อเพลิง

โคมบอก เป็นโคมที่ใช้กระบอกไม้ไผ่หรือกระป๋องครอบป้องกันไม่ให้ไฟดับ เป็นโคมที่ทำขึ้นอย่างง่าย ๆ ราคาไม่แพง ส่วนใหญ่จะใช้เฉพาะคนที่ต้องการเดินทางในเวลากลางคืน

โคมผัด เป็นโคมหมุนมี 2 ชั้น คือชั้นนอกและชั้นใน โคมชนิดนี้ใช้ความร้อนจากควันเทียนดันให้ใบพัดแกนกลางโคมหมุน เวลาหมุนลวดลายจะปรากฏที่ด้านนอกคล้ายกับหนังตะลุง โคมผัดนี้เป็นโคมที่ตั้งอยู่กับที่ เคลื่อนย้ายไม่ได้ ปัจจุบันหาคนทำโคมชนิดนี้ได้น้อยเต็มที เพราะเป็นโคมที่ทำยากและกำลังจะสูญหายไป

งานประเพณียี่เป็ง นับได้ว่าเป็นงานเทศกาลที่บรรดานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาเที่ยวกันมากที่สุด และที่สำคัญงานประเพณียี่เป็งของล้านนาจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สวยงามไม่แพ้งานเทศกาลลอยกระทงของที่อื่น โดยเฉพาะวัฒนธรรมการแต่งกายแบบคนล้านนา ภาษาพูดที่เสนาะหู รอยยิ้มที่อบอุ่นและน้ำใจอันดีงามจะหาดูได้จากผู้คนชาวเชียงใหม่และงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของพวกเขา

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น