“วัดบ้านก่อ” ภาพจิตรกรรมบนฝาผนังแบบล้านนาแท้ๆ

วัดบ้านก่อ
“งานศิลปกรรมที่มีความพิเศษในความเป็นล้านนาที่ค่อนข้างสมบูรณ์นั้น นอกจากวัดพระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ที่มีลักษณะเด่นแล้วที่นี่วัดบ้านก่อ ต.วังทรายคำ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ก็โดดเด่นไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมแบบล้านนาแท้ๆ ถ่ายทอดเป็นภาพเขียนเรื่องสุวรรณหงส์และสังข์ทอง ซึ่งเป็นงานฝีมือของสำนักทางภาคเหนือ โดยที่วัดบ้านก่อแห่งนี้อาจไม่มีกลิ่นอายราชสำนัก ทว่าเป็นงานพื้นถิ่นโดยแท้ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นล้านนาแบบไม่ยึดติดกฎเกณฑ์ราชสำนักแต่อย่างใด…”

"วัดบ้านก่อ" ภาพจิตรกรรมบนฝาผนังแบบล้านนาแท้ๆ

"วัดบ้านก่อ" ภาพจิตรกรรมบนฝาผนังแบบล้านนาแท้ๆ ถ่ายทอดเป็นภาพเขียนเรื่องสุวรรณหงส์และสังข์ทอง ฝีมือของสำนักทางภาคเหนือ ไม่มีกลิ่นอายราชสำนัก เป็นงานพื้นถิ่นโดยแท้จริง.อ่านต่อคลิกเลย ? www.chiangmainews.co.th/page/archives/838829

Gepostet von เชียงใหม่นิวส์ Chiang Mai News am Donnerstag, 8. November 2018

วัดบ้านก่อ ตั้งอยู่เลขที่ 55 หมู่ 6 ตำบลวังทรายคำ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง สร้างในพ.ศ. 2477 โดยได้รับรางวัลรางวัลอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมล้านนา ในพ.ศ. 2551 วิหารวัดบ้านก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2477 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2479 เป็นวิหารก่ออิฐถือปูน โครงสร้างเครื่องบนเป็นไม้มุงด้วยแป้นเกล็ด ซึ่งไม่พบวิหารในลักษณะนี้มากนัก นอกจากนั้นบนฝาผนังภายในรอบวิหาร รวมถึงด้านหน้า ปรากฏภาพจิตรกรรมเป็นนิทานเรื่องพระเวสสันดรชาดก ที่มีรูปลักษณ์ร่วมสมัยเมื่อ 70 ปี ที่ผ่านมา ความงดงามของจิตรกรรมฝาผนังที่ดูเหมือนจะเป็นสกุลช่างพื้นบ้านลำปางกลุ่มใหม่ ที่ยังไม่เคยมีการกล่าวถึงมากนัก มีภาพที่เล่าเรื่องราวในอดีตของชุมชน

อีกทั้งยังสามารถสะท้อนสังคมความคิดความเชื่อ เช่น ตรงฝาผนังด้านในข้างมีการวาดภาพคนทำชั่วที่ต้องตกกระทะทองแดงในนรก แต่นายนิรยบาล ผู้ควบคุมกลับมีใบหน้าละม้ายคล้ายพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นอกจากนั้น ยังมีรูปนางงามที่ทำผมทรงกระบัง สวมรองเท้าส้นตึก กางเกงขาบาน อันเป็นแฟชั่นเมื่อราว 40 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีภาพเหมือนของพระภิกษุ สามเณร และคนที่มาเยือนวัด เมื่อวิหารได้ชำรุดทรุดโทรมลง จึงได้เกิดโครงการการอนุรักษ์วิหารและจิตรกรรมฝาผนังวัดบ้านก่อขึ้น โดยความร่วมมือระหว่าง คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตพะเยา โดยมีอาจารย์วิถี พานิชพันธ์ เป็นประธานโครงการ โครงการนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากเอกอัครราชฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เพราะได้เล็งเห็นความสำคัญของมรดกทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมพื้นบ้านของภาคเหนือเป็นสำคัญ วัดบ้านก่อถือเป็นอีกหนึ่งวัดที่ควรค่าแก่การมาเยือน

ในอนาคตก็จะจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์พร้อมกับสร้างศาลารอบวัดให้คงรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนาเหมือนกับวิหารให้ผู้มาเยือนได้เห็นวัฒนธรรมเดิม นอกจากความสวยงามของวัดบ้านก่อ โดยเฉพาะหลังคาทำด้วยไม้ทั้งหลัง พร้อมแกะสลักไม้รอบจั้ว ทางเข้าด้านหน้าวิหารราวบันไดมีประติมากรรมรูปสิงห์คู่แล้ว ความสามัคคีร่วมกันของชาวบ้านก็ไม่แพ้กัน ชาวบ้านต่างต้องการให้วัดเป็นทั้งศูนย์รวมจิตใจและศูนย์เรียนรู้แก่เยาวชนและผู้มาเยือนอย่างแท้จริง

ร่วมแสดงความคิดเห็น