“วัดพันเตา” จากคุ้มเจ้าหลวงสู่วิหารไม้สัก

ใครที่เคยเข้าไปเที่ยววัดเจดีย์หลวงอาจจะสังเกตเห็นว่ามีวัดเล็กๆ วัดหนึ่ง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดเจดีย์หลวง ชื่อว่า “วัดพันเตา” คนเมืองเชียงใหม่มักจะเรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดปันเต้า” สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 21 ตามตำนานประวัติศาสตร์ว่ากันว่าวัดพันเตาสร้างขึ้นในสมัยเดียวกับวัดเจดีย์หลวงคือเมื่อราว 500 ปีมาแล้ว

ตำนานนิทานปฐมเหตุการตั้งเมืองเชียงใหม่ สมัยลัวะปกครองเล่าว่า “เศรษฐีผู้หนึ่งหื้ออยู่กลางเวียง ทั้ง 5 คนนี้มีชื่อว่า เศรษฐีพันเท้า เขาก็ได้ตั้งคุ้มอยู่ตามคำเจ้าระสีแล” ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่าแต่เดิมวัดพันเตาเป็นบริเวณบ้านของเศรษฐีคนดังกล่าว ต่อมาพระเจ้าแสนเมืองมาจึงได้ตั้งชื่อว่าวัดพันเตา ออกเสียงเป็นภาษาล้านนาว่า “ปันเต้า” ขณะที่อีกตำนานหนึ่งของวัดพันเตาซึ่งพระครูสุวรรณสารพิศิษฐ์ เจ้าอาวาสวัดศรีบุญโตช่างฆ้อง กล่าวว่า “เดิมเป็นสถานที่ตั้งเส้าจำนวนพันเตาหลองทองหล่อพระพุทธรูปอัฎฐารส ซึ่งประดิษฐานในวิหารวัดเจดีย์หลวง เมื่อทำการหล่อพระเสร็จแล้ว ชาวเมืองจึงสร้างวัดขึ้นในบริเวณนั้นเรียกว่า “วัดพันเตา”

ความโดดเด่นของวัดพันเตาที่สามารถดึงดูดให้ผู้คนหรือแม้กระทั่งนักท่องเที่ยวจากที่ต่างๆ เดินทางมาที่วัดนี้ก็คือ วิหารหลวงที่สร้างจากไม้สักทองทั้งหลังแกะสลักลวดลายวิจิตรบรรจงที่ว่ากันว่าเป็นวิหารที่สร้างจากหอคำหรือคุ้มเจ้าหลวงที่เหลืออยู่อย่างสมบูรณ์เพียงหลังเดียวและสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในล้านนา

ในอดีตวิหารวัดพันเตาหลังนี้เคยเป็น “หอคำ” ที่ประทับของเจ้ามโหตรประเทศ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 5 (พ.ศ.2390 – 2397) อยู่ที่พระตำหนักเวียงแก้วปัจจุบันคือบริเวณเยื้องด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือศาลากลางหลังเก่าไปจนถึงวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ตามตำนานมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับหอคำหลังนี้ว่า พระยาอุปราชมหาวงศ์ ได้สร้างขึ้นถวายเป็นพุทธบูชาเมื่อจุลศักราช 1209 ซึ่งตรงกับ พ.ศ.2390 เนื่องจากท่านได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์และตำแหน่งหน้าที่จากพระยาอุปราชขึ้นเป็นพระยาเชียงใหม่ ท่านได้สร้างหอคำขึ้นไว้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอันเป็นปูชนียวัตถุลํ้าค่าภายในที่อยู่ของท่าน พระยาอุปราชมหาวงศ์ได้มีการเฉลิมฉลองหลังจากที่สร้างหอคำแล้ว

ในการสร้างหอคำหลังนี้ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้ใช้ช่างพื้นเมืองและช่างพม่าผสมกัน ต่อมาพระยาเชียงใหม่มหาวงศ์ ได้รับพระราชทานเลื่อนฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นเจ้ามีพระนามในสุพรรณบัฏเป็น พระเจ้ามโหตรประเทศราชาธิบดินทร์นพีสิทรมหานคราธิษฐาน เมื่อปี พ.ศ.2396 หลังจากที่ได้รับพระราชทานฐานันดรศักดิ์ไม่กี่เดือน พระองค์ก็ถึงแก่พิราลัย

เมื่อพระเจ้ามโหตรประเทศฯถึงแก่พิราลัยแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงแต่งตั้งให้นายสุริยวงศ์ บุตรของพระเจ้าบรมราชาธิบดี (กาวิละ) ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 ชื่อว่าพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่มาได้ 16 ปีเศษก็ถึงแก่พิราลัยเมื่อปี พ.ศ.2413 เจ้าอุปราชอินทนนท์ รักษาการในตำแหน่งเจ้าหลวงเชียงใหม่มาร่วม 3 ปี จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าอินทวิชยานนท์พหลเทพภักดีฯ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 เมื่อ พ.ศ.2416

พ.ศ.2419 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ทรงมีพระดำริว่า หอคำของพระเจ้ามโหตรประเทศฯนั้นสมควรจะอยู่ในวัดมากกว่าอยู่ในวัง จึงทรงให้ช่างช่วยกันรื้อหอคำแล้วย้ายมาปลูกสร้างขึ้นใหม่ที่วัดพันเตา เมื่อวันเสาร์เดือน 10 ขึ้น 8 คํ่า เพราะในขณะนั้นพระเจ้าอินทวิชยานนท์กำลังทรงปฏิสังขรณ์วัดหอธรรม วัดเจดีย์หลวงและวัดสุขมิ้น การก่อสร้างวิหารของพระอารามทั้งสามแห่งกับหอคำของวัดพันเตา จึงแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2429 โดยมีการเฉลิมฉลองงานปอยหลวงอย่างเอิกเกริกยิ่งใหญ่และถือเป็นงานปอยหลวงที่สนุกสนานที่สุดครั้งหนึ่งของนครเชียงใหม่ และหากจะนับรวมอายุของหอคำที่ย้ายมาสร้างใหม่ที่วัดพันเตาแล้วประมาณได้ 132 ปี (พ.ศ.2419 – 2551)

หอคำวิหารวัดพันเตา จึงมิใช่เป็นเพียงวิหารไม้เก่าแก่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และกาลเวลาเท่านั้น หากแต่ยังมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่คงเอกลักษณ์ของล้านนาไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ความสวยงามของสถาปัตยกรรมวิหารวัดพันเตาเป็นศิลปะแบบเชียงแสนสร้างจากไม้เป็นวัสดุหลักมีโครงสร้างแบบกรอบยึดมุม เสาและฝาทุกส่วนเป็นไม้โดยเฉพาะฝามีแบบวิธีการสร้างพิเศษคล้ายกับฝาปะกนของศิลปะสมัยอยุธยา แต่มีขนาดตัวไม้ที่แน่นหนาแข็งแรงกว่า มีประตูเข้าออกทั้งหมด 3 ทาง คือประตูใหญ่ทางด้านหน้า ประตูด้านข้างทางทิศเหนืออยู่ค่อนมาทางประตูหน้า ส่วนประตูทางทิศใต้อยู่ค่อนไปทางด้านหลัง ประตูที่สำคัญคือประตูหน้า ซึ่งประกอบด้วยซุ้มประตูไม้แกะสลักประดับกระจกเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ได้แก่ นกยูง นาค ลิง หงส์ ประกอบลวดลายที่กรอบประตูส่วนบนเป็นโก่งคิ้วไม้แกะสลักลายดอกไม้ใบไม้ บานประตูเป็นไม้แผ่นเรียบ

วิหารวัดพันเตา ผ่านการบูรณะมาหลายยุคหลายสมัย ครั้งหลังสุดเมื่อปี พ.ศ.2518 มีการบูรณะส่วนฐานและผนังด้านหลัง ซึ่งถูกฝนทำลายจนหลุดพังเสียหาย ประกอบกับครั้งนั้นเกิดนํ้าท่วมเนื่องจากฝนตกหนัก ส่วนของผนังด้านในเสียหายมากเศษไม้ที่หลุดหล่นลงมาจมนํ้า บางส่วนก็ถูกนํ้าพัดไปจึงได้มีการซ่อมแซมผนังด้านหลังโดยทำผนังคอนกรีตระหว่างช่วงเสาตรงกึ่งกลางผนัง สำหรับฐานเดิมของวิหารที่เป็นเสาไม้ซึ่งมีการผุกร่องมาก่อน ทางวัดได้ทำการเสริมฐานเสาเดิมด้วยคอนกรีตและทำการก่ออิฐโบกปูนเสริมระหว่างเสาจากบริเวณร่องตีนช้างที่หายไป

หอคำวิหารวัดพันเตา จึงนับเป็นตัวอย่างของอาคารที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้สมบูรณ์ แม้ว่าจะล่วงผ่านกาลเวลามาแล้วกว่าร้อยปี แต่รูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่สวยงามทำให้เราสามารถศึกษาถึงประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ได้อย่างถนัดถนี่ หากใครมีโอกาสผ่านไปแถววัดเจีดย์หลวงลองแวะเข้าไปชมความสวยงามของวิหารไม้แกะสลักที่สมบูรณ์และสวยงามที่สุดในล้านนาสักครั้ง

ร่วมแสดงความคิดเห็น