สักการะ “พระธาตุดอยสุเทพ”

วัดพระธาตุดอยสุเทพ เป็นวัดที่พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศรู้จักกันดี ว่ากันว่าหากใครไปถึงเชียงใหม่แล้วไม่ได้ขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ ก็เหมือนกับว่ายังมาไม่ถึงเชียงใหม่


ถ้านับจนถึงวันนี้องค์พระธาตุดอยสุเทพมีอายุกว่า 600 ปีมาแล้ว พระเจ้ากือนา เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ทรงสร้างเจดีย์นี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1927 ภายหลังจากที่ได้พระบรมสารีริกธาตุมาจากสุโขทัย

ดอยสุเทพมีชื่อเรียกกันหลายชื่อ เช่น “ดอยกาละ” หมายถึงอีกาทิ้งละไม่กล้าอยู่หรือไม่มีอีกา เพราะไม่เคยปรากฏว่ามีอีกาอยู่บนดอยสุเทพนี้เลย “ดอยอ้อยช้าง” หรือ “อุฉจบรรต” คำว่า อ้อยนี้หมายถึงไม้ไผ่ คงเป็นเพราะบนดอยนี้มีไม้ไผ่อยู่มากนั่นเอง ส่วนชื่อว่า “ดอยสุเทพ”
ในปัจจุบันเรียกตามชื่อของฤาษีตนหนึ่งซึ่งมาสร้างพรตบำเพ็ญตะบะอยู่ ณ ถ้ำฤาษี เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 ฤาษีตนนั่นมีชื่อว่า “สุเทวฤาษี” หรือ “ฤาษีวาสุเทพ” ภายหลังฤาษีตนนี้ได้หายสาปสูญไปอย่างลึกลับ คนทั้งหลายเห็นเป็นที่อัศจรรย์จึงเรียกชื่อดอยนี้ว่า “ดอยสุเทพ”


ปัจจุบันยังมีถ้ำที่ฤาษีจำศีลอยู่เรียกว่า “ถ้ำฤาษี” อยู่ระหว่างทางไปพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ชาวลัวะถือว่า ดอยสุเทพคือที่สิ่งสถิตของวิญญาณบรรพบุรุษ ดังเช่นทุกปีจะมีการทำพิธีเซ่นสรวงดวงวิญญาณผีบรรพบุรุษลัวะ หรือที่เรารู้จักว่า “พิธีเลี้ยงดง” หรือ “ผีปู่แสะย่าแสะ” ซึ่งจัดขึ้นที่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ด้วยความเชื่อของชาวลัวะที่ว่า ต้นตระกูลของพวกเขาเป็นชาวลัวะที่เคยเรืองอำนาจและได้อาศัยอยู่ที่บริเวณดอยสุเทพก่อนที่พญามังรายจะสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเสียอีก หลังจากที่พญามังรายทรงสถาปนาเมืองเชียงใหม่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1839 อิทธิพลของลัวะเมื่อเริ่มสิ้นอำนาจไปพร้อม ๆ กับการเข้ามาของพุทธศาสนา ด้วยแรงศรัทธาแห่งพระศาสนาของคนในล้านนา ที่สุดจึงมีการพระบรมธาตุเจดีย์ขึ้นที่กึ่งกลางของดอยสุเทพ นั่นแสดงว่าคนล้านนาในอดีตได้มอบศรัทธาให้แก่ดอยสุเทพแล้ว ซึ่งหากจะพิจารณาตามคติของฮินดูจะพบว่า พระธาตุดอยสุเทพนั่นเปรียบเสมือนแกนกลางของจักรวาลหรือเขาพระสุเมรุ นั่นเอง


นักวิชาการหลายคนมีความเห็นตรงกันว่า การสร้างพระธาตุบนดอยสุเทพของพระเจ้ากือนา เป็นความพยายามที่จะประสานความเชื่อแบบใหม่เข้ากับความเชื่อดั่งเดิมของคนพื้นถิ่นที่ถือว่า ดอยลูกนี้เป็นที่อยู่ของ “ผี” บรรพบุรุษ


วันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 โดยครูบาได้มอบหมายให้ครูบาเถิ้ม เจ้าอาวาสวัดแสนฝาง เป็นผู้ขึ้นท้าวทั้ง 4 ในเวลา 01.00 น. ครั้นพอถึงเวลา 10.00 น. พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย ได้อาราธนานิมนต์ครูบาศรีวิชัย จากวัดพระสิงห์มาสู่
บริเวณพิธี เมื่อขบวนนิมนต์ครูบาศรีวิชัยเดินทางมาถึงบริเวณเชิงดอย (บริเวณวัดศรีโสดา) พิธีลงจอบแรกการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพก็เริ่มขึ้น โดยครูบาเถิ้ม วัดแสนฝางเป็นผู้สวดเจริญพระพุทธมนต์และสวดชัยมงคลคาถา พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้ลงจอบแรกเป็นพิธีและ
ครูบาศรีวิชัยท่านลากมูลดิน เป็นพิธีเอาฤกษ์เอาชัย จากนั้นเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่จึงได้ลงจอบแรกประเดิม ติดตามด้วยหลวงศรีประกาศ คุณนายเรือนแก้ว เจ้านายฝ่ายเหนือ พ่อค้าคหบดี ต่างร่วมลงจอบแรกประเดิมการสร้างทางอย่างทั่วถึง

หลังจากที่ท่านครูบาศรีวิชัยได้ระดมผู้คนสร้างถนนขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพสำเร็จ ทำให้การเดินทางขึ้นไปนมัสการองค์พระธาตุมีความสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งในอดีตการเดินทางขึ้นไปยังวัดพระธาตุดอยสุเทพเป็นไปด้วยความยากลำบาก กว่าจะขึ้นไปถึงวัดพระธาตุดอยสุ
เทพต้องใช้เวลาเดินเท้าถึง 2 วันเต็ม หากจะนับเวลาเมื่อแรกสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 80 ปีแล้ว


ในช่วงเทศกาลวันวิสาขบูชา หรือ วันแปดเป็ง ของทุกปี ศรัทธาประชาชนชาวเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงจะได้พร้อมกันแสดงออกถึงการบำเพ็ญเพียรบนดอยศักดิ์สิทธิ์ด้วยการเดินข้ามคืนขึ้นไปเพื่อทำบุญตักบาตรและฟังธรรม ผู้ศรัทธาจะใช้เส้นทางด้านหลัง
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินผ่านวัดผาลาด โค้งขุนกัน เมื่อถึงเชิงบันไดพญานาควัดพระธาตุดอยสุเทพ ก็จะตระเตรียมนึ่งข้าวถวายพระ คนเก่า ๆ เล่าให้ฟังว่า สมัย 20-30 ปีก่อน ผู้คนที่เดินทางขึ้นไปนมัสการองค์พระธาตุในวันแปดเป็งจะแออัดยัดเยียดอยู่ตามบันไดนาค คนไหนที่เดินทางมาถึงก่อนก็จะหาที่นอนเพื่อรอเวลาเช้าจะได้ทำบุญตักบาตร


ปัจจุบันการขึ้นไปนมัสการองค์พระธาตุดอยสุเทพได้กลายเป็นประเพณีของชาวเชียงใหม่ไปแล้ว ประกอบกับมีถนนขึ้นไปอย่างสะดวกสบาย ทำให้เส้นทางที่ใช้ในอดีตไม่ได้รับความนิยม ผนวกกับคนรุ่นใหม่เห็นว่าการเดินขึ้นไปนมัสการพระธาตุฯ เป็นเรื่องของความสนุก
สนานเฮฮา เป็นเวลาที่หนุ่มสาวจะได้เกี้ยวพาราสีกัน จึงทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมที่คนในอดีตกระทำไว้คลายความขลังลง.

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น