แฉขบวนการกดขี่เกษตรกรผู้ปลูกบุกห้ามขายนอกเขต

ราษฎรชาวอำเภอสบเมย และ อำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โวย เจ้าหน้าที่รัฐกลั่นแกล้งวางยา ยกเลิกคำสั่งเก็บหาของป่าแต่ไม่แจ้งไปยัง อบต.ส่งผลให้ราษฎรที่เก็บบุกถูกจับกุมระนาว ขณะที่ เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกรมป่าไม้ ระบุ เอกสารที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติให้เก็บหาของป่า ผิดพรบ.กรมป่าไม้ชัดเจน รวมไปถึงการกดดันไม่ให้มีการส่งบุกสดออกไปจำหน่ายยังต่างจังหวัด แต่กลับบังคับให้ส่งขายให้กับนายทุนที่เข้ามาตั้งโรงงานรับซื้อบุกในพื้นที่แทน ส่งผลให้ประชาชนถูกกดขี่และได้กำไรน้อยมาก พบราคารับซื้อบุกสด ต่างจังหวัดสูงกว่า 30 บาทต่อ กก.ขณะที่ในพื้นที่กดราคารับซื้อไม่เกิน กก.ละ 20 บาท

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 นายสมบูรณ์ ไพรวัลย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า เดิมการรับซื้อบุกมีโรงงานเดียวที่บ้านทุ่งแล้ง และมีเพื่อนคนจีน มารับซื้อ และระบุว่า บุกในแม่ฮ่องสอน มีคุณภาพสูงกว่า จังหวัดตากและกาญจนบุรี เดิมพ่อค้าและประชาชน จะเสียค่าภาคหลวงและสามารถนำบุกลำเลียงออกไปขายยังต่างจังหวัดได้ แต่ปัจจุบันเจ้าหน้าที่อ้างว่า เป็นบุกป่าทั้งที่เป็นบุกของสมเด็จพระเทพ ฯ ที่ทรงมอบเมล็ดพันธุ์ ให้ราษฎรปลูกทั้งสิ้น ทีการปลูกข้าวโพด ในป่าทั้งสิ้น แต่กลับไม่มีการจับกุมจากเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด มาเน้นจับกุมที่บุกแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งที่การปลูกบุก ไม่มีการทำลายป่า ซึ่งมีการปลูกบุกใต้ต้นไม้ใหญ่ในป่าและไม่ได้มีการถางป่า เหมือนปลูกพืชอย่างอื่น

ทั้งนี้ อยากให้ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทบทวนมาตรการค้าบุกให้ชัดเจน ทุกวันชาวบ้านถูกป่าไม้ ทหาร อส.ไปจับกุมและยึดบุก บางคนขับจักรยานยนต์มาและมีบุกไม่กี่ กิโลกรัม กลับถูกจับกุมปรับถึง 2 หมื่น อยากถามว่า การจับกุมและนำของกลางที่ประมูลไปขายให้โรงงาน ถือว่าเป็นธรรมหรือไม่ ที่สำคัญในปีนี้กลับให้บริษัทประชารัฐมารับซื้อ จากชาวบ้าน และมีการเก็บค่าภาคหลวงและอ้างว่าได้รับสัมปทานจากจังหวัดแล้ว มีชาวบ้านในพื้นที่ ต.แม่เหาะ และป่าแป๋ ถูกเรียกเก็บค่าภาคหลวงจากบริษัทประชารัฐ โดยไม่มีใบเสร็จและไปเรียกเก็บในป่า เป็นจำนวนมาก ทั้งที่ บริษัทประชารัฐ ได้รับอนุญาต ให้เก็บของป่า หรือบุกในพื้นที่ตำบลท่าผาปุ้ม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน เท่านั้น นอกจากพื้นที่ ต.ป่าแป๋ ต.แม่เหาะ และ ต.แม่ลาหลวง และ อำเภอ อื่นๆ 4 อำเภอ เช่น พื้นที่ตำบลป่าแป๋ และตำบลแม่เหาะ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของ อำเภอแม่สะเรียง กลับถูกบริษัทประชารัฐ เรียกเก็บค่าภาคหลวง โดยมีการไปเรียกเก็บค่าภาคหลวงในพื้นที่ ที่ บ.ห้วยปู่เป๊าะ ต.แม่ลาหลวง บ.ห้วยงู ต.ป่าแป๋ บ.อุมมา ต.แม่คะตวน และ ต.สบเมยทั้งตำบล

นายสมบูรณ์ ไพรวัลย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลผลิตบุกโดยประมาณ ในพื้นที่ อ.สบเมย จะมีผลผลิตประมาณ 1.5 ล้านกิโลกรัม , อ.แม่สะเรียง จะมีผลผลิตประมาณ 1.5 ล้านกิโลกรัม , อ.แม่ล้าน้อย จะมีผลผลิตประมาณ 5 แสนกิโลกรัม และ อ.ขุนยวม ( ต.แม่กิ๊ ) จะได้ผลผลิตประมาณ 5 แสนกิโลกรัม รวมผลผลิตบุกต่อปีทั้ง 4 อำเภอ ประมาณ 4 ล้านตัน คิดเป็นเงินอย่างต่ำ 80 ล้านบาท และ 120 ล้านเมื่อนำไปจำหน่ายที่ต่างจังหวัด ( ตาก )

ในส่วนของ บริษัทประชารัฐรักสามัคคีแม่ฮ่องสอน(วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ทราบมาว่า ได้รับอนุญาตให้เก็บหัวบุกจำนวน 17,500 กก. ในป่าสงวนป่าแม่ยวม ฝั่งซ้าย แปลง 2 ต.ท่าผาปุ้ม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ออกวันที่ 26 กันยายน 2561 หมดอายุ 25 กันยายน 2562 ลงนามโดยนายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผวจ.แม่ฮ่องสอนคนปัจจุบัน โดยมีเงื่อนไขให้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 1,107 (พ.ศ.2528) ตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2547 และระเบียบกรมป่าไม้ ว่าด้วยการเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2529

อาคม โกทู อายุ44 อยู่ 47/1ม.5 ต.แม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่าใน ปีนี้มีคำสั่งไม่ให้ส่งบุกไปขายข้ามจังหวัด แต่กลับมีบริษัทมารับซื้อ 3 แห่งและตั้งโรงงานรับซื้อในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง และอ.สบเมย ซึ่งรับซื้อในราคา 18-19 บาท รวมค่าภาคหลวง แต่ถ้าไปขายที่ตาก ขายได้ 28-29 บาท ชาวบ้านปลูกบุกในโครงการปลูกป่าสร้างรายได้ ในโครงการของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา กลับ มีปัญหาเรื่องการขนย้าย ถูกเจ้าหน้าที่ไล่จับกุม ทำให้ได้รับความเดือดร้อน อยากจะฝากไปถึงผู้ใหญ่ในจังหวัด ว่า ชาวบ้านเดือดร้อนมาก การเสียค่าภาคหลวงเสีย กก.ละ 3 บาท จ่ายที่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแม่ฮ่องสอน ต่อมามีบริษัทประชารัฐก่อตั้งขึ้นมาและรับซื้อ ต้องเสียค่าภาคหลวงให้ประชารัฐรวม 4 บาท ต่อกก. โดยประชารัฐอ้างเสียให้ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ ฯ ไปแล้วในราคา กก.ละ 3 บาท และบริษัทประชารัฐ เก็บเข้าบริษัทอีก 1 บาท โดยมีการบีบให้ขายให้บริษัทประชารัฐ อีกด้วย

สุรชัย สิทธิพนาวรรณ์ อายุ 41 อยู่ 332 ม.1 ต.สบเมย อ.สบเมย 3 ก.ย.61 เปิดเผยว่า ตนเองค้าบุกมานานตั้งแต่ราคา กก.ละ 50 สตางค์ จนปัจจุบันสูงถึง เกือบ 30 บาท ปี 2558 เสียบุกไปกว่า 4 หมื่น กก. หลังมีคนแจ้งจะจับกุมต้องเทบุกทิ้ง ปี 2560 ได้มีการคุยกับ ผวจ.และมีการสามารถนำบุกออกไปขายยังต่างจังหวัดได้ แต่มาปี 2561 มีการสกัดไม่ให้ไปขายต่างจังหวัดและบีบให้ขายแก่โรงงานในพื้นที่ มีการประชุมที่ ทสจ.ตนได้แจ้งว่า จะยกเลิกการเก็บบุก แต่กลับถูกข่มขู่ จาก นายทหารระดับสูงคนหนึ่งที่ร่วมประชุม โดยได้ขู่ว่า ถ้าไม่เก็บบุกมาขาย หรือหากมีบุกแล้วไม่ขายก็จะถูกจับ ขายที่อื่นก็จะจับกุมเช่นกัน ทั้งที่บุกที่เก็บนั้น เป็นบุกที่รับพันธุ์บุกของสมเด็จพระเทพ ฯ มาปลูกทั้งสิ้น และหากจะยกเลิกใบวิสาหกิจชุมชนก็จะจับเช่นกัน และที่สำคัญ เมื่อนำบุกไปขายให้กับโรงงาน กลับมาถูกเรียกเก็บค่าภาคหลวงอีกทอด ทั้งที่ทางโรงงานได้เป็นผู้ชำระค่าภาคหลวงแทนชาวบ้านอยู่แล้ว ทุกวันเจ้าหน้าที่ตำรวจ ป่าไม้ ทหาร และฝ่ายปกครอง ตั้งด่านยิ่งกว่า ภาคใต้ เสียอีกไม่พอแต่ละวันมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบกองบุกในหมู่บ้าน และถ่ายรูปกองบุกและสอบถามว่าจะไปขายที่ไหนอีกด้วย

ชาตรี สมาจิตสวยงาม อายุ 36 อยู่ 42/10 ม.10 ต.ป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง ฯ เปิดเผยว่า ตนเองเคยนำบุกไปขายที่โรงงาน กว่า 2 ตัน ซึ่งได้มีการคิดค่าภาคหลวงของโรงงานผู้รับซื้อไปแล้ว แต่เมื่อขายบุกเสร็จและเดินทางกลับถึงบ้าน ได้มีคนของบริษัทประชารัฐ ชื่อ อ. ได้ขับรถติดตามไปถึงบ้านและเรียกเก็บเงินค่าภาคหลวงอีก 2 บาทและต่อรองเหลือ 1.50 บาท โดยข่มขู่ว่าหากไม่จ่าย จะไม่สามารถค้าขายบุกได้ ทำให้ตนต้องเสียค่าภาคหลวงซ้ำซ้อน โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยสนใจเข้ามาแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนแต่อย่างใด

แหล่งข่าว เจ้าหน้าที่ในกรมป่าไม้ ระบุว่า ปัญหาเรื่องบุก มีข้าราชการสูง และระดับรองลงมา ไปจนถึงระดับล่าง ทำตัวเป็นมาเฟีย สร้างเงื่อนไขสารพัด เพื่อประโยชน์ตนและพวกพ้อง ประเทศไทยจะไป 4.0 ได้อย่างไร ซึ่งเรื่องดังกล่าว ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ น่าจะยื่นศาลปกครองตั้งแต่ปีที่แล้ว เนื่องจากมีข้าราชการหลายคนมีผลประโยชน์ทับซ้อน ทำนาบนหลังคน ย่ำยีคนแม่ฮ่องสอน มากอบโกย แล้วหอบทรัพย์สินจากไป…ทิ้งความทุกข์ยากไว้ให้คนแม่ฮ่องสอน ปีแล้วปีเล่า …อีกกี่ปี กี่ชาติ คนแม่ฮ่องสอนจะทีโอกาสลืมตาอ้าปาก… เรื่องหัวบุกมีผลประโยชน์ทับซ้อน มีคนเกี่ยวข้องระดับประเทศ มีเม็ดเงินเคลื่อนไหว จำนวนหลายสิบล้าน

ยกตัวอย่าง คำสั่งประกาศของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ลงนามโดยนายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผวจ.จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ประกาศดังนี้ 1.กำหนดระยะเวลาเก็บหัวบุก ระหว่าง เดือนกันยายน 2561 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2562 , 2. การซื้อขายบุกจากราษฎรในพื้นที่ ให้รับซื้อในราคาไม่ต่ำกว่า กก.ละ 8 บาท โดยให้วิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์การเกษตร(ผู้รับอนุญาต) เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมเป็นค่าภาคหลวงและบำรุงป่า และค่าธรรมเนียมจากการออกใบเบิกทางต่างหาก จากราคาซื้อขาย ห้ามมิให้เก็บหรือหักจากราคาซื้อขายเด็ดขาด , 3.ห้ามเก็บหัวบุกน้ำหนักน้อยกว่า 0.8 กก. , 4.ให้นายอำเภอแต่ละท้องที่กำหนดสถานที่ซื้อขายในแต่ละอำเภอ , 5.ให้ราษฎรผู้เก็บหัวบุก นำหัวบุกเคลื่อนที่ไปตามเส้นทางสาธารณและเส้นทางธรรมชาติ ไปยังสถานที่ซื้อขาย ไปยังสถานที่ซื้อขายที่นายอำเภอกำหนดโดยอิสระ , 6. การออกใบเบิกทางนำบุกเคลื่อนที่ ออกจากสถานที่ซื้อขาย ผวจ.อนุญาติให้นายอำเภอท้องที่เป็นผู้มีอำนาจลงนาม และ 7. ให้นายอำเภอรายงาน ราคา ,ปริมาณ,มูลค่าการซื้อขาย,ค่าภาคหลวง และค่าบำรุงป่า ให้กับ ผวจ.ทราบในเวลา 17.00 น.ของทุกวัน

แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ในกรมป่าไม้ กล่าวต่อไปว่า คำสั่งตามประกาศนี้ ถูกอย่างเดียว คือกำหนดราคา อีก 6 ข้อ ผิดหมด/เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยไม่ได้ทำหนังสือแจ้งเวียนไปยังด่านป่าไม้ทั่วประเทศ และ เสนอให้ อธิบดีกรมป่าไม้ลงนาม และใบอนุญาตของบริษัทประชารัฐรักสามัคคีแม่ฮ่องสอน(วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ที่มี นาย อ. เป็นเจ้าของ ทางจังหวัดจะต้องรายงานกรมป่าไม้ ภายใน 30 วัน ซึ่งใบอนุญาตดังกล่าว ออกตั้งแต่ 26 กันยายน 2561 อยากถามว่าทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ทำเรื่องรายงานไปยังกรมป่าไม้หรือยัง หากว่ายัง ไม่ได้รายงานไปยังอธิบดีกรมป่าไม้ การดำเนินการเก็บและค้าบุกของบริษัทประชารัฐสามัคคี ฯ ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่

ทั้งนี้ ใบอนุญาตเก็บหาของป่า เล่ม พ 021 ฉบับที่ 22 ให้กับบริษัทประชารัฐรักสามัคคีแม่ฮ่องสอน(วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด อนุญาตให้เก็บหัวบุกจำนวน 17,500 กก. ในป่าสงวนป่าแม่ยวมฝั่งซ้ายแปลง 2 ต.ท่าผาปุ้ม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ออกวันที่ 26 กันยายน 2561 หมดอายุ 25 กันยายน 2562 ลงนามโดยนายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผวจ.แม่ฮ่องสอนคนปัจจุบัน โดยมีเงื่อนไขให้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 1,107 (พ.ศ.2528) ตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2547 และระเบียบกรมป่าไม้ ว่าด้วยการเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2529

ก่อนหน้านั้น ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มีคำสั่งยกเลิกเก็บหัวบุก ตามหนังสือ ที่ มส0018.1/ว1838 ลงวันที่ 26 เม.ย.2561 โดยให้ยกเลิกการเก็บบุก ในป่าสงวนแห่งชาติ ( แบบ ปส.10) ที่ออกให้แก่ อบต.ทั้ง 24 แห่ง ในพื้นที่ อ.สบเมย , อ.แม่สะเรียง , อ.แม่ลาน้อย และ อ.ขุนยวม ซึ่งอ้างว่า ไม่ได้มีการเก็บบุกตามที่ได้รับอนุญาต และเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูนราชอาณาจักรไทย มาตรา 75 วรรค 2ที่ระบุว่ารัฐจะต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะแข่งขันกับเอกชน ลงนามโดยนายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผวจ.แม่ฮ่องสอน ( ในขณะนั้น ) ซึ่งการประกาศยกเลิกคำสั่งดังกล่าว พบว่า ทางจังหวัดได้แจ้งหนังสือเวียนไปยัง ที่ว่าการอำเภอที่มีการเก็บบุกทั้ง 4 อำเภอไปแล้ว แต่พบว่า ทางอำเภอ ไม่ได้แจ้งหนังสือเวียนไปยัง องค์การบริหารส่วนตำบลทั้ง 24 แห่ง ทำให้เจ้าหน้าที่หลายหน่วยร่วมมือกันจับกุมชาวบ้าน ที่ขนบุกมาขายให้แก่โรงงาน ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนกันอย่างหนัก

ระเบียบกรมป่าไม้ ว่าด้วยการเก็บหาของป่า ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2529เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหระทรวง ฉบับที่ ๑,๑๐๗ (พ.ศ. ๒๕๒๘) ออกตามความใน พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ อธิบดีกรมป่าไม้หมวดที่ ๑ การยื่นคำขอ ข้อ ๕ ผู้ใดประสงค์จะเก็บหาของป่าที่มิใช่ของป่าหวงห้ามตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ภายในเขต ป่าสงวนแห่งชาติ ขอใบคู่มือคนงานหรือผู้รับจ้างและใบคู่มือแทนของผู้รับใบอนุญาต ขอต่ออายุใบอนุญาต ขอใบแทนใบอนุญาตหรือขอโอนใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แห่งอำเภอหรือกิ่งอำเภอ ท้องที่ที่ป่านั้นตั้งอยู่ ตามแบบที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑,๑๐๗ (พ.ศ.๒๕๒๘) ออกตามความใน พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ พร้อมด้วยหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ หมวดที่ ๒ การสำรวจหากำลังการผลิตและการอนุญาตเก็บหาของป่าข้อ ๖ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับคำขอเก็บหาของป่าตามข้อ ๕ ให้ตรวจสอบว่าบริเวณที่ขอ เก็บหาของป่ามีของป่าชนิดใด จำนวนมากน้อยเพียงใดสภาพป่าเป็นอย่างไรได้มีการอนุญาตเก็บหาของป่า หวงห้ามตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้หรือไม่ หากอนุญาตแล้วจะเป็นผลดีหรือผลเสียหายแก่สภาพป่ามากน้อย เพียงใด ได้เคยอนุญาตให้แก่ผู้ใดมาแล้วบ้างหรือไม่ แล้วรวบรวมส่งจังหวัดพิจารณา

ร่วมแสดงความคิดเห็น