นั่งรถม้าเที่ยว “เขลางค์นคร”

อาลัมภางค์ เขลางค์นคร หรือ จังหวัดลำปางเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์และความสำคัญ ในฐานะของอดีตศูนย์กลางการค้าของล้านนาไทยมาตั้งแต่ยุคโบร่ำโบราณ มีร่องรอยเมืองโบราณ วัดวาอาราม ย่านการค้ารวมถึงศิลปวัฒนธรรมที่ต้องจารึกเอาไว้ในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์แห่งดินแดนล้านนาเสียด้วยซ้ำ

นครลำปางเป็นเมืองสำคัญของอาณาจักรล้านนามานานจนถึง พ.ศ.2101 อาณาจักรล้านนาก็ถูกพม่าแผ่อำนาจเข้ามาปกครอง เป็นเวลากว่า 200 ปี บางครั้งก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยาบ้าง วิถีชีวิตความเป็นไปของนครลำปางและเจ้าผู้ครองนครก็
คล้ายคลึงกับเจ้าเมืองล้านนาอื่น ๆ คือต้องปกครองบ้านเมืองอยู่ตรงกลางระหว่าง 2 อาณาจักร คืออาณาจักรอังวะของพม่าและอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา

จากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ได้ยืนยันให้เห็นว่า เมืองเขลางค์นคร หรือ นครลำปาง เป็นเมืองของคนกล้าสามารถ แม้แต่ในปัจจุบัน ในบรรดาคนเมืองด้วยกันก็ยอมรับกันว่าคนลำปางเป็นคนดุ เฉียบขาดชนิดที่เรียกว่าทำอะไรทำจริง คุณสมบัติที่ว่านี้คงจะเป็นคุณสมบัติ
ดั้งเดิมของชาวลำปางที่เพาะบ่มฝังรากลึกมานาน ซึ่งจะเห็นได้จากมรดกทางศิลปกรรมและผลงานทางด้านวัฒนธรรมที่ปรากฏอยู่ในบริเวณเมืองลำปาง ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม เช่น วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดไหล่หินหลวง วัดเจดีย์ซาว วัดพระแก้วดอนเต้า วัดศรีชุม ฯลฯ ซึ่ง
ล้วนแล้วแต่เป็นวัดที่มีความงดงามเฉียบขาด ไม่มีที่เปรียบทั้งในแง่ความสวยงามสุนทรียศาสตร์ ฝีมือ ชั้นเชิงช่าง จนสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าศิลปกรรมในลำปางนั้นเป็นสุดยอดของศิลปกรรมล้านนาเลยทีเดียว

หากเมื่อลองนึกถึงเอกลักษณ์ของเมืองลำปาง นอกจาก “ถ้วยตราไก่” ที่มีต้นกำเนิดในแผ่นดินลำปางแล้ว “รถม้า” ก็น่าจะเป็นเอกลักษณ์หนึ่งซึ่งหาดูที่ไหนไม่ได้ นอกจากเมืองลำปางอีกเช่นกัน มีคำกล่าวทีเล่นทีจริงว่า เมื่อไปจังหวัดลำปางแล้วไม่ได้มาไหว้พระที่วัดพระ
ธาตุลำปางหลวง ไม่ได้นั่งรถม้าชมเมือง และแวะซื้อชามตราไก่ ก็เหมือนกับว่า ยังไปไม่ถึงจังหวัดลำปาง

เมื่อมีโอกาสได้ขับรถมาเยือนอดีตหัวเมืองทางการค้าของล้านนา ก็อดไม่ได้ที่จะต้องไปไหว้พระธาตุลำปางหลวง ว่ากันว่า พระธาตุลำปางหลวง เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีฉลู ความสำคัญของวัดแห่งนี้ คือเป็นพระอารามหลวงประจำจังหวัดลำปาง ที่มี
ความสวยงามที่สุดของล้านนา พระเจดีย์ ,วิหารหลวงแบบเปิดโล่ง, ซุ้มประตูโขง, บันไดพญานาคทางขึ้นวัด, ซุ้มพระเจ้าล้านทอง พระประธานในพระวิหารหลวง รวมทั้งบรรดาศิลปวัตถุตกแต่งภายในวัดล้วนแล้วแต่ศิลปกรรมชิ้นเอก ที่เมื่อมารวมกันอยู่ภายในวัดแห่งนี้ทำให้ดูมีพลังและจิตวิญญาณอย่างไม่ต้องหาคำอธิบายใด ๆ มาเปรียบเปรย

วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นเสมือนศูนย์รวมของชุมชนที่สำคัญแห่งหนึ่ง ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวงมีความงดงามอลังการของสถาปัตยกรรมล้านนา ตั้งแต่พระเจดีย์ พระวิหาร ซุ้มประตูโขง จนถึงซุ้มพระเจ้าล้านนา ซึ่งเป็นพระประธานในวิหารหลวง ล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาและศิลปกรรมในล้านนาสมัยนั้นเป็นอย่างดี

ออกจากวัดพระธาตุลำปางหลวง มุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมือง ไปนั่งรถม้าชมเมืองลำปาง รถม้าถือเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของจังหวัดลำปาง เท่าที่ทราบคือ เริ่มเข้ามาแพร่หลายในจังหวัดลำปางครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ.2450 เมื่อเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนคร
เมืองลำปางในสมัยนั้น ได้นำรถม้ามาจากกรุงเทพฯ มาใช้เป็นพระราชพาหนะ ต่อมาในปี พ.ศ.2458 เมื่อมีการสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ได้แล้วเสร็จถึงจังหวัดลำปาง ประกอบกับในขณะนั้นบรรดาขุนนางและเชื้อพระวงศ์ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯได้เปลี่ยนยานพาหนะจาก

รถม้ามาเป็นรถยนต์ตามยุคสมัยแห่งการพัฒนา คหบดีของจังหวัดลำปางในสมัยนั้นได้ถือโอกาสซื้อรถม้าดังกล่าวมาใช้ถึง 185 คัน ในราคาถูกผ่านทางรถไฟซึ่งง่ายและสะดวกในการขนส่งมายังจังหวัดลำปาง

รถม้าลำปางได้พลิกบทบาทจากราชพาหนะชั้นสูงมาสู่วงจรของการท่องเที่ยว ในฐานะของพาหนะสำคัญคู่เมืองลำปางในการต้อนรับคนต่างถิ่น มาถึงวันนี้ “รถม้า” ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวลำปาง เมื่อมาเยือนลำปางเราจะพบว่าที่นี่เป็นจังหวัดเดียวที่ยอม
ให้ “ม้า” วิ่งบนท้องถนนเคียงคู่กับรถยนต์ เช่นนี้แล้วเมื่อไปเยือนเมืองลำปางจะไม่ไปสัมผัสวิถีชีวิตหนึ่งเดียวอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวลำปางเชียวหรือ

การท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งของลำปางที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวคือ การนั่งรถม้าชมศิลปกรรมของวัดพม่าในลำปาง วัดพม่าที่ปรากฏอยู่ในลำปาง สร้างขึ้นโดยชาวพม่าที่เข้ามาทำไม้สักในภาคเหนือเมื่อราวร้อยกว่าปีก่อน แต่เดิมคนไทยในสมัยนั้นยังไม่มีความ
ชำนาญในการทำไม้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทำไม้จากต่างประเทศเข้ามาเป็นผู้ดูแลและดำเนินกิจการ ชาวต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในการทำป่าไม้ที่สุดในเวลานั้นได้แก่ชาวอังกฤษ เพราะเดินทางเข้ามาทำไม้ในประเทศพม่าเป็นเวลานานแล้ว

วัดพม่าในเมืองลำปางนั้นสร้างขึ้นด้วยความสวยงามวิจิตร แสดงถึงความร่ำรวยและมั่งคั่งของผู้สร้าง วัดพม่าที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปได้แก่ วัดพระแก้วดอนเต้า วัดศรีรองเมือง วัดศรีชุม ฯลฯ ศิลปกรรมแบบพม่ามีความโดดเด่นตรงที่หลังคาซ้อนกันหลายชั้น
เรียงซ้อนกันขึ้นไป บนยอดของหลังคายังมีฉัตรติดตั้งอยู่ ซึ่งสถาปัตยกรรมพม่าแบบนี้เรียกว่า “ทรงพระยาธาตุ”

การเยี่ยมชมศิลปกรรมแบบพม่าในวัดเมืองลำปางนั้นต้องใช้เวลาเต็มวัน เพราะในลำปางมีวัดพม่าที่สวยงามต่าง ๆ หลายวัดกระจัดกระจายกัน ส่วนใหญ่จะเกาะกลุ่มอยู่ในเขตอำเภอเมือง แต่ถ้าจะให้ได้ความรู้และความประทับใจแล้วจะต้องไล่ชมกันไปตั้งแต่วัดที่มี
ความสวยงามที่สุด ทั้งในรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและการตกแต่งประดับประดากระจกไปจนถึงวัดพม่าแบบธรรมดา

เมื่อมาเมืองลำปาง จะต้องไม่พลาดไปชมย่านการค้าเก่าของลำปาง นั่นคือ “กาดกองต้า” ซึ่งตั้งอยู่บนถนนตลาดเก่าริมฝั่งแม่น้ำวัง เคยเป็นตลาดขายสินค้าที่มีความเตริญรุ่งเรืองและมีความคึกคักมากที่สุดในยุคของเจ้านรนันชัยชวลิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง ระหว่างปี พ
.ศ.2430 – 2440 ความสำคัญของกาดกองต้านอกจากเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าแล้ว ในอดีตที่แห่งนี้ยังเป็นท่าสำหรับล่องไม้สักลงไปขายที่จังหวัดนครสรรค์อีกด้วย

ปัจจุบัน ย่านตลาดจีนหรือกาดกองต้า ยังคงกลิ่นอายมนต์เสน่ห์แห่งการค้าริมฝั่งแม่น้ำวังเอาไว้ แม้ว่าจะไม่คึกคักเหมือนแต่ก่อน ทว่าอาคารต่าง ๆ เหล่านี้ยังคงได้รับการอนุรักษ์รักษาเป็นอย่างดีรวมถึงวิถีชีวิตของชุมชนยังคงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวพากันเข้ามาเยือนชุมชน
แห่งการค้าตลาดจีนเก่าเป็นจำนวนมาก

สัญลักษณ์ของจังหวัดลำปาง ที่อยากพาให้รู้จักอีกหนึ่งอย่างก็คือ ถ้วยตราไก่ ซึ่งพบได้ที่จังหวัดลำปางแห่งเดียวเท่านั้น การผลิตถ้วยตราไก่ของจังหวัดลำปางเริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ.2503 เมื่อชาวจีน 2 คนคือ นายซิวกิม แซ่กวอกและนายซิมหยู แซ่ฉิน ได้ร่วมกันตั้ง
โรงงานทำถ้วยตราไก่แบบเมืองจีนขึ้น นับเป็นโรงงานทำถ้วยตราไก่แห่งแรกของลำปาง
ก่อนออกจากเมืองลำปาง อย่าลืมแวะซื้อชามตราไก่ สัญลักษณ์ของจังหวัดลำปางติดไม้ติดมือกลับบ้าน ไม่งั้นอาจเรียกได้ว่ามาไม่ถึงลำปางนะครับ

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น