นกปรอดหัวโขน : Red-whiskered Bulbul

“ปิ๊ดจะลิว ปิ๊ดจะลิว…ไปไหน” บทเพลงของวงเลอณอ ที่บอกเล่าเรื่องราวของ นกปิ๊ดจะลิว นกกรงหัวจุก หรือ นกปรอดหัวโขน ที่เราจะได้ยินเสียงร้องขับขานได้ทั่วทั้งในป่า ในสวน ตลอดจนรอบบ้านเรือนเรา

นกปรอดหัวโขน (Red-whiskered Bulbul) ในทางภาคเหนือ เรากเรียกว่า“นกปิ๊ดจะลิว” เป็นนกที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เสียงร้องไพเราะร่าเริง ด้วยหงอนสีดำยาวสุดเท่ และเสียงร้องที่ดังก้องตลอดเวลา ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย บรรดาคนเลี้ยงนกที่จะหามาครอบครอง เพื่อเชยชมกัน

“นกปรอดหัวโขน (Red-whiskered bulbul)” เป็นพิเศษ ด้วยประทับใจในสีสันที่สวยงาม รูปร่างที่มีลักษณะเฉพาะ และเสียงร้องที่ไพเราะเสนาะหู ทั้งตัวนกเองไม่ค่อยตื่นกลัวคน เราสามารถถ่ายภาพได้ในระยะใกล้

นกปรอดหัวโขน มีเอกลัษณ์เด่นเป็นหงอนตั้งยาวสีดำ ลำตัวด้านบนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ใต้ท้องเป็นสีขาวนวล คอเป็นสีขาว มีกระหม่อมเป็นสีดำ ซึ่งเชื่อมเป็นกรอบล้อมรอบแก้มสีขาวและแต้มสีแดงที่บริเวณแก้ม มีแถบสีน้ำตาลเข้มพาดจากบริเวณหัวไหล่มาที่ด้านข้างอก มีแต้มสีขาวที่ปลายขนหาง และก้นเป็นสีแดง สามารถกินอาหารได้หลากหลาย เช่น แมลง ผลไม้ น้ำหวาน และเกสรดอกไม้

นกปรอดชนิดนี้ เป็นนกประจำถิ่นพบได้ทั่วไปตามทุ่งหญ้าติดชายป่า และสวนสาธารณะทั่วทั้งแถบเอเชียใต้ ตั้งแต่ที่ราบจนถึงระดับความสูง 2,285 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักรวมฝูงกันในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ และมีการอพยพย้ายถิ่นตามแหล่งอาหาร ในเมืองไทยเคยพบมากทั่วทุกภาค

ปัจจุบันเป็นนกที่มีรายชื่ออยู่ใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามล่าหรือจับมาจากธรรมชาติ “เรื่องที่น่าเศร้าที่นกชนิดนี้ อยู่ในกรงไม้แขวนตากแดดอยู่ตามชายคาบ้าน บนขื่อ ซึ่งสะท้อนความรักสัตว์คนละแบบอย่างสิ้นเชิง กับการรักที่ได้เห็นนกใช้ชีวิตอยู่ในธรรมชาติอย่างอิสระเสรี”


เรื่องและภาพ: ทับทิม มั่นมาก

ร่วมแสดงความคิดเห็น