ชาวล้านนากับความเชื่อ ในการบูชาผางประทีป

ผางประทีส หรือผางประทีป เป็นเครื่องสักการบูชาในพระพุทธศาสนา คำว่า ผาง คือ ภาชนะดินเผาคล้ายถ้วยเล็กๆ ใช้เป็นถ้วยสำหรับใส่ขี้ผึ้งหรือน้ำมัน และไส้ของประทีส ที่ทำมาจากเส้นฝ้าย ส่วนคำว่า ประทีส คือแสงสว่าง

ในช่วงประเพณียี่เป็ง ชาวล้านนานิยมจุดผางประทีสเป็นพุทธบูชา สืบเนื่องมาจากตำนานพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ ได้แก่ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตม (พระ พุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) พระศรีอริยะเมตไตร พระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ได้ถือกำเนิดจากแม่กาเผือก และวันหนึ่งขณะที่แม่กาออกไปหาอาหาร ได้เกิดพายุทำให้ไข่ทั้งห้าฟองของแม่กาเผือก ถูกพัดตกจากรังไหลไปตามแม่น้ำ มีแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และแม่ราชสีห์เก็บไปเลี้ยง เมื่อไข่ทั้งห้าฟองฟักออกมาเป็นมนุษย์เป็นเพศชาย และได้บวชเป็นฤๅษีทั้งห้าองค์ เมื่อฤๅษีทั้งห้าได้พบกัน จึงไต่ถามถึงมารดาของแต่ละองค์ แต่ละองค์ก็ตอบว่า แม่ไก่เก็บมาเลี้ยง แม่นาคเก็บมาเลี้ยง แม่เต่าเก็บมาเลี้ยง แม่โคเก็บมาเลี้ยง และแม่ราชสีห์เก็บมาเลี้ยง

ฤๅษีทั้งห้าองค์จึงสงสัยว่า แม่ที่แท้จริงของตนเป็นใคร จึงพากันอธิษฐานขอให้ได้พบแม่ ด้วยคำอธิษฐาน จึงทำให้พกาพรหมผู้เป็นแม่ได้แปลงกายเป็นกาเผือก บินลงมาเล่าเรื่องในอดีตให้ฤๅษีทั้งห้าฟัง และได้บอกว่าหากคิดถึงแม่ ให้นำด้ายดิบมาฟั่นเป็นตีนกาจุดเป็นประทีปบูชาในวันยี่เป็ง ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายประทีสตีนกา จึงทำให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ (คัมภีร์อานิสงส์ผางประทีส, ม.ป.ป.)

ความเชื่อในการบูชาผางประทีส

พ่อหนานดุสิต ชวชาติ ผู้รู้ด้านประเพณีล้านนา ได้กล่าวถึงการบูชาผางประทีสว่า ชาวล้านนาจุดผางประทีส เพื่อเป็นพุทธบูชาพระเจ้าห้าพระองค์ตามตำนานแม่กาเผือก และจุดบูชาเพื่อตอบแทนบุญคุณผู้มีพระคุณ ชาวล้านนาจึงนิยมจุดผางประทีสบูชา เพื่อสักการะต่อสิ่งต่างๆที่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น ประตูบ้าน บ่อน้ำ ยุ้งข้าว เตาไฟ บันได หน้าต่าง ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเป็น การบูชาแสงสว่าง เชื่อว่าจะทำให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีแสงสว่างนำทางชีวิตให้โชติช่วงชัชวาล ดั่งแสงจากผางประทีส ด้วยเหตุนี้ช่วงประเพณียี่เป็ง จึงสว่างไสวเต็มไปด้วยแสงผางประทีส

ที่มา : สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น