นกกระเต็นน้อยธรรมดา : Common Kingfisher

ด้วยความปราดเปรียว ว่องไว สีสันสดใส ตัวเล็กน่ารัก ต้องยกให้สุดยอดของนักจับปลา…นกกระเต็นน้อยธรรมดา…แรกเห็นก็โดนใจในทันที

นกกะเต็นน้อยธรรมดา ( common kingfisher ) เป็นนกกระเต็น 1 ใน 15 ชนิดที่พบในประเทศไทย และมีขนาดที่ค่อนข้างเล็กน่ารัก ความยาวจากปลายปากจรดปลายหาง ประมาณ 16-18เซ็นติเมตร ในขณะที่ชนิดที่ใหญ่ที่สุดอย่าง กระเต็นขาวดำใหญ่ หรือ กะเต็นใหญ่ธรรมดา จะมีขนาดตัวได้ถึงประมาณ 41 เซ็นติเมตร

นกกระเต็นน้อยธรรมดาตัวผู้ และตัวเมีย จะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน จะแตกต่างกันที่ตัวเมียมีโคนปากล่าง และทั้งปากล่างเป็นสีส้มแดงขณะที่ตัว ผู้มีปากสีดำสนิท

นกกะเต็นน้อยธรรมดามีหัวและหน้าผากสีฟ้าอมเขียว สดใส มีจุดสีฟ้าอ่อนเล็กๆเป็นแนวขวางถี่ๆหลายแนว คอสีขาว อกสีน้ำตาลแดง แก้ม และขนคลุมหูสีน้ำตาลแดง ปีกสีฟ้าอมเขียว มีจุดสีฟ้าอ่อนตรงแนวปีก หลังและตะโพกสีฟ้าสดใสมากๆ ขาและนิ้วเท้าเล็กๆสีแดงสดใส
นกวัยเด็ก มีอกสีหม่นออกขาวๆเทาๆ มีปากล่างสีแดง ขาและเท้าสีดำ และจะค่อยๆแดงขึ้นเรื่อยๆเมื่ออายุมากขึ้น นกที่ถ่ายภาพมาคาดว่าเป็นนกวัยเด็กที่โตมากพอสมควรแล้วจึงมีลักษณะของเด็ก ไม่ครบตามสูตร

นกกระเต็นน้อยธรรมดาเป็นนกที่อพยพมาจากมีอากาศหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาว จะเริ่มพบเค้าในเมืองไทยได้ตั้งแต่ประมาณเดือนกันยายนไปจนถึงปลายฤดูหนาว โดยเมื่ออพยพมาแล้ว เราจะพบเค้าได้ทั่วประเทศไทยเรา ตามที่ที่มีแหล่งน้ำ ลำธาร ที่น้ำไหลช้า ทั้งในที่โล่ง และในป่าที่ไม่ทึบนัก ตามสวนสาธารณะในเมือง และนอกเมือง ป่าโกงกาง จากที่ราบถึงที่สูง 1,830 เมตร จากระดับน้ำทะเล

อาหารของนกกระเต็น คือ ปลาตัวเล็กๆ แมลงปอ ตั๊กแตน กบขนาดเล็ก กุ้งน้ำจืดขนาดเล็ก ตามแต่ที่จะจับได้บริเวณที่ไปอยู่อาศัย

โดยปกติเป็นนกที่อยู่ลำพังเพียงตัวเดียว ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์ การทำรังวางไข่ นกกระเต็นมักใช้จะงอยปากขุดรูริมฝั่งน้ำ และหาหญ้ามารองเป็นพื้น วางไข่ครั้งละ 4-5 ฟอง บางชนิดอาจขุดรูไว้มากถึง 2-3 รู เพื่อหลอกสัตว์ผู้ล่า ขณะที่บางชนิดอาจจะใช้โพรงไม้หรือโพรงไม้เก่าของนกอื่นที่ทิ้งร้างไว้เป็นที่วางไข่ โดยมากจะวางไข่ในช่วงฤดูหนาว

นกระน้อยธรรมดา แต่ปัจจุบันเราจะพบเค้าได้น้อยลงมาก โดยปัจจัยสิ่งแวดล้อมน้ำเสีย อากาศหนาวเย็น การถูกล่าโดยศัตรูธรรมชาติ และปัจจัยอื่นๆ ที่เราควรตระหนัก
เรื่องและภาพ: ทับทิม มั่นมาก

ร่วมแสดงความคิดเห็น