กนอ. เปิดศูนย์ให้บริการ SMEs-ITC นิคมฯ ลำพูน ผนึกเครือข่ายจังหวัด ปั้น เอสเอ็มอี-สตาร์ทอัพเข้มแข็ง

การนิคมอุตสาหกรรม(กนอ.)เปิดศูนย์ให้บริการ SMEs-ITC ที่การนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูนอย่างเป็นทางการ พร้อมลงนามความร่วมมือ 4 หน่วยงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่-ส.อ.ท.ภาคเหนือ-สำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน-SMEs Bank ในพื้นที่ร่วมส่งเสริมศักยภาพกลุ่มเอสเอ็มอี-สตาร์ทอัพหน้าใหม่ ก้าวทันเทคโนโลยีสู่การแข่งขันในตลาดโลก ได้รับเกียรติจากสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานฯ โดยมีนายสำเริง ไชยเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน , นางเฟื่องฟ้า ตุลาธรรมกุล พาณิชย์จังหวัดลำพูน และผู้บริการ กนอ.ลำพูน ร่วมให้การต้อนรับ

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยวันนี้ (23 พ.ย. 2561) ว่า กนอ.ได้ดำเนินการเปิดศูนย์ SMEs Industry Transformation Center หรือ ศูนย์ SMEs–ITC ที่นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพัฒนากลุ่มเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพตามแนวทางนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การขับเคลื่อนพลังประชารัฐ ที่มุ่งเน้นให้บริการด้านความช่วยเหลือ และสนับสนุน รวมถึงเชื่อมโยงการบริการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเอสเอ็มอีทั้งในและนอกพื้นที่อย่างทั่วถึง โดยการเพิ่มองค์ความรู้การปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริหารจัดการ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการบริการทางการเงินและการลงทุน การตลาด โอกาสในการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้การเปิดให้บริการของศูนย์ SMEs–ITC ที่นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ กนอ.มีเป้าหมายที่สนับสนุนพัฒนากลุ่มเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีผู้ประกอบการขนาดใหญ่ กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สตาร์ทอัพ (Startup) อยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร/เกษตรแปรรูป โดยศูนย์ SMEs–ITCแห่งนี้ จะรองรับการให้บริการในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Co-Working Space ห้องประชุม ห้องเจรจาทางธุรกิจ (Business Lounge) สำนักงานขนาดเล็กเพื่อผู้ประกอบการหน้าใหม่ ห้องสมุดที่คัดสรรหนังสือจากแหล่งต่างๆที่เกี่ยวข้องด้านอุตสาหกรรม พร้อมทั้งมีการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งเชื่อว่าการจัดตั้งศูนย์ให้บริการดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่พัฒนาเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพก้าวสู่การแข่งขันในระดับสากลได้

ดังนั้นเพื่อขับเคลื่อนงานบริการของศูนย์ SMEs–ITC ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด กนอ.กับเครือข่ายภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา รวมทั้งสถาบันการเงิน ซึ่งจะร่วมมือกันสนับสนุน SMEsและ Startups และได้ลงนามความร่วมมือร่วมกัน จำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วย
1.บันทึกความร่วมมือโครงการ “ยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ยุค 4.0 พัฒนา เติมทุน เสริมแกร่งทั่วไทย” ระหว่าง กนอ.กับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SMEs Bank เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพในด้านต่างๆทั้งการเข้าถึงการให้บริการด้านแหล่งเงินทุน การให้ความช่วยเหลือประสานความร่วมมือในกิจกรรมการส่งเสริมพัฒนาความรู้ และประสานความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ หรือ บริการที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบกิจการของผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้ามาใช้บริการในศูนย์ SMEs-ITC ในลักษณะของการเป็นพี่เลี้ยงร่วมกัน และในวันเดียวกันธนาคาร SMEs Bank ยังมีการมอบสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ และสินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว ให้กับผู้ประกอบการ จำนวน 10 ราย แบ่งออกเป็นสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จำนวน 7 ราย และกองทุนสินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว จำนวน 3 ราย ซึ่งเป็นมาตรการส่งเสริมและช่วยเหลือ SMEs ให้สามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาธุรกิจสู่ความเข้มแข็งได้ในอนาคต
2.บันทึกความร่วมมือด้านการส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในพื้นที่ภาคเหนือ ระหว่าง กนอ. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ (ส.อ.ท.ภาคเหนือ) และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน โดย กนอ.พร้อมสนับสนุนสถานที่และเครื่องมืออุปกรณ์ภายในศูนย์ SMEs-ITC รวมถึงสนับสนุนการเชื่อมโยงความรู้เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการสร้างสรรค์อุตสาหกรรมร่วมกับผู้ประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรม ขณะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะสนับสนุนการเข้าถึงองค์ความรู้ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงานและเครือข่ายบ่มเพาะวิสาหกิจของมหาวิทยาลัยฯเพื่อนำไปต่อยอดในเชิงธุรกิจ ตลอดจนการให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ เช่นการวางกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ การพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต แผนการตลาด เป็นต้น

ด้านสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ จะสนับสนุนการเชื่อมโยงองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างสรรค์อุตสาหกรรมร่วมกับเครือข่ายสมาชิกสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน จะสนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลและการบริการของหน่วยงานการให้คำปรึกษาด้านการพาณิชย์ ตลอดจนเข้าร่วมกิจกรรมของศูนย์ SMEs-ITC เป็นต้น
นอกจากนั้น ความร่วมของการเปิดศูนย์ SMEs-ITC กนอ.ได้วางเป้าหมายในปีนี้จะเปิดเพิ่มอีกจำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมบางปู และนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ซึ่งที่ผ่านมาได้เปิดดำเนินการไปแล้วที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง โดยภายหลังจากเปิดให้บริการแล้ว SMEs และStartup ได้ให้ความสนใจเข้าใช้บริการเป็นจำนวนมาก

ร่วมแสดงความคิดเห็น