จากไม้ไผ่มุง ไม้ศักดิ์สิทธิ์ มาสู่องค์พระเจ้าอินสาน

พระพุทธรูป ส่วนใหญ่จะสร้างด้วยทองคำทองสัมฤทธิ์หรือปูนปั้น แล้วแต่ความเชื่อความศรัทธา แต่การสร้างพระพุทธรูปโดยการนำไม้ไผ่มาจักสาน ถือเป็นวิธีการที่แปลกไปจากการหล่อพระพุทธรูปโดยทั่วไป

ชาวไท ในรัฐฉาน มีวิธีสร้างพระพุทธรูป ไว้กราบไหว้บูชา อีกวิธีหนึ่ง คือ ใช้หวายหรือไม้ไผ่ที่จักแล้ว มาสานขึ้นเป็นองค์พระพุทธรูป พระพุทธรูปที่สานขึ้นนี้ องค์เก่าที่สุด พบเมื่อพ.ศ.1881 ที่วัดบ้านเมืองนุง ปัจจุบันอยู่ในเขต อ.เมืองขะ จ.เชียงตุง รัฐฉาน อยู่เหนือเวียงเชียงตุง ขึ้นไปประมาณ 50 กม. ใกล้กับเขตสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ของจีน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้างประมาณ 4 ศอก เนื่องจากไม่มีผู้ทราบประวัติ จึงเรียกกันว่า “พระเจ้าอินสาน” หมายความว่า “พระพุทธรูปที่พระอินทร์มาสานไว้” (พระเจ้า ในภาษาไทใหญ่และล้านนา แปลว่า พระพุทธรูป) และใช้เป็นชื่อเรียก พระพุทธรูปที่สานทุกองค์ ที่ค้นพบหรือสร้างขึ้นภายหลังว่า “พระเจ้าอินสาน”

สำหรับที่เชียงแสน มีพระสิงห์องค์หนึ่งที่สานมาจากไม้ไผ่ นั่นคือ พระสิงห์สานชนะมาร เป็นลักษณะพระสิงห์หนึ่ง เชียงแสน ที่ทำจากไม้ไผ่ชนิดหนึ่ง ที่มีถิ่นกำเนิดมาจากพม่า อยู่ในป่าลึกบนดอยสูง นำมาจักสานเป็นองค์พระ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นพระไม้ไผ่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ไม่มีใครเหมือนและ ไม่เหมือนใคร

วัตถุประสงค์ของการจัดสร้าง เพื่อจรรโลงสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไป และต่อชะตาอายุให้ยืนยาวมั่นคงถาวร ไร้โรคภัยไข้เจ็บ ถ้าองค์พระจักสานลงยางรัก และประกอบพิธีเรียบร้อย พระสมุห์ภูวไนย ภูวนโย เจ้าอาวาสวัดหิรัญญาวาส เปิดเผยถึงความเป็นมาว่า พระสิงห์สานชนะมาร หรือพระสิงห์หนึ่ง เชียงแสน (โบราณ) ที่ทำจากไม้ไผ่ ซึ่งมีถิ่นกำเนิดมาจากบนดอยเมืองโกล ประเทศพม่า โดยได้ขอเจ้าหน้าที่ของพม่าว่า จะนำไม้ไผ่มุงเพื่อที่จะนำมาสร้างองค์พระ เจ้าหน้าที่พม่าจึงอนุญาตให้ตัดไม้ได้

แต่การตัดและนำลงมาจากยอดดอยสูงนั้น ลำบากมาก เนื่องจากระยะทางและสภาพภูมิอากาศ และถนนหนทางเป็นทางขรุขระ จึงต้องขอแรงจากชาวปะหล่อง ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่บนดอยนี้ โดยชาวปะหล่องทั้งหมู่บ้าน ร่วมร้อยกว่าคนช่วยกันนำไม้ไผ่มุง 39,000 ท่อน ลงมาจากยอดเขา ซึ่งเป็นจิตศรัทธาอย่างแรงกล้าของชาวปะหล่อง

หลังจากนั้น จึงได้เชิญช่างสานพระด้วยไม้ไผ่ คือ นายบุญ หรือเรียกภาษาพื้นบ้านทางเหนือว่า สล่าบุญ ซึ่งเป็นสล่าชาวพม่า เชื้อสายไทยใหญ่ และเป็นหนึ่งในสองสล่าเท่านั้นที่ทำพระสานได้ โดยสล่าอีกท่านได้ไปอยู่ประเทศศรีลังกาแล้ว จึงได้แนวคิดและบอกสล่า ให้สร้าง
พระสิงห์สาน ที่จะประดิษฐานไว้ในบวรพุทธศาสนา โดยใช้ศิลปะแบบพระสิงห์หนึ่งเชียงแสน โดยมีหน้าตักกว้าง 9.9 ศอก สูง 19 ศอก

สล่าบุญ ถึงกับอุทาน ออกมาว่า ลำพังการสร้าง พระอินทร์สานขนาดเล็ก ยังใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก แล้วนี่มีขนาดใหญ่เพียงนี้ จะสร้างสำเร็จหรือไม่ คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ก็ยังไม่ละความพยายาม ก็ได้อธิษฐานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หากชีวิตนี้มีบุญบารมีที่จะสร้างพระสาน ก็ขอให้อำนวยอวยชัย ให้เกิดบุพนิมิตด้วยเทอญ

พระสิงห์สานชนะมาร เริ่มสานวันที่ 29 กรกฎาคม 2552 จนถึงวันนี้ 21 ตุลาคม 2552 ก็ใช้เวลา 84 วัน ด้วยความร่วมแรงร่วมใจอันแรงกล้าของชาวบ้านในหมู่บ้านเกาะช้าง และพุทธศาสนิกชนผู้ใจบุญ จึงได้ออกแรงกัน โดยชาวบ้านต่างคนต่างนำเครื่องไม้เครื่องมือที่ทำ
จักสานได้มาช่วยกันเหลาตอกเป็นแสนเส้น จึงได้ทำสำเร็จขึ้น ซึ่งใช้เวลา 84 วัน และมีน้ำหนักถึง 2 ตัน โดยตั้งใจสานเสร็จในเวลา 99 วันที่ตั้งใจอธิษฐานไว้

สำหรับไม้ไผ่มุง ที่นำมาทำองค์พระนี้ เจ้าอาวาสวัดหิรัญญาวาส บอกว่า ต้องตัดเดือนสามไทย หรือเดือนกุมภาพันธ์ เพราะว่าการตัดเดือนนี้จะไม่มีมอดมากินไม้ไผ่ หลังจากนั้นจึงนำน้ำส้มจากการเผาไม้ และนำน้ำจากการเผาไหม้มาชุบไม้มุง จึงนำมาจักสานได้ หลังจากที่
เป็นองค์พระแล้ว จะทาด้วยน้ำยางรัก มีลักษณะเป็นสีดำ เพื่อเป็นการรักษาเนื้อไม้ให้อยู่ คงทน ถาวรยาวนานต่อไป

ส่วนเศษไม้มุงที่เป็นเศษไม้จากการเหลาของชาวบ้านก็จะนำเศษไม้มาบดทำเป็นมวลสาร โดยจะทำเป็นพระองค์เล็กสำหรับไว้บูชา “ความเชื่อตามโบราณว่า ผู้ใดได้สร้างพระนี้ด้วยตนเอง หรือร่วมกันสร้างเพื่อเป็นพุทธบูชานั้น จะบังเกิดอานิสงส์มากมาย พระสิงห์สานเป็นพระแห่งความรัก หากหนุ่มสาวคู่ใด สักการบูชา จะรักกันยาวนานตลอดไป ด้วยอานิสงส์แห่งการได้ใช้ไม้มุง มาทำพระทั้งองค์ จะบังเกิดผล คือ อานุภาพปกคลุมรักษาตระกูล และตนเองให้อยู่รอด ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง จะสานต่อชะตาอายุให้ยืนยาวมั่นคงถาวร ไร้โรคภัยไข้เจ็บตลอดไป และกิจการ ร้านค้า ธุรกิจ ให้เจริญงอกงาม เพิ่มพูนไพบูลย์ ทวีคูณร้อยเท่า พันเท่า และสานต่อตระกูลเพิ่มพูนให้ตระกูลสูงส่งเป็นที่เชิดหน้าชูตา ลูกหลานเป็นคนดี ว่าง่ายสอนง่าย เป็นที่ยอมรับของสังคม

ตอกสานพระพุทธรูป การสร้างพระด้วยการใช้ตอกสานนั้น พระพุทธรูปองค์เก่าแก่ที่สุด คือ หลวงพ่อสาน เป็นพระพุทธรูปที่สร้างโดยใช้ไม้ไผ่สานเป็นองค์ แล้วลงรักปิดทอง ซึ่งเป็นศิลปะรูปแบบของพม่า อันงดงามและทรงคุณค่ายิ่ง ประดิษฐานอยู่ที่ วัดจอมสวรรค์ ต.ทุ่งกวาว อ.เมือง จ.แพร่

โดยวัดแห่งนี้มีความวิจิตรงดงามหลายอย่าง หากจะมองดูแต่ภายนอก จะเห็นรูปทรงของวัดพม่า จะแปลกอยู่ตรงที่สร้างด้วยไม้ล้วนๆ ที่สำคัญ คือ รูปทรงของตัวอาคารตัวอาราม เป็นทั้งโบสถ์วิหาร และกุฏิไปในตัว

ส่วนอีกองค์หนึ่ง คือ “พระเจ้าอินทร์สาน” เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่สานด้วยตอกทั้งองค์ มีความยาวขององค์พระพุทธรูป 12 เมตร 2 เซนติเมตร ประดิษฐานอยู่ที่ สำนักสงฆ์พระธาตุจอมก้อย หมู่ 8 ต.บ้านขอ อ.เมืองปาน จ.ลำปาง (การเดินทางจากตัวเมืองลำปาง ไปตามถนนสายลำปาง-เมืองปาน ประมาณ 45 กม.) ที่มีความงดงามและโดดเด่น และมีเพียงองค์เดียวในประเทศไทย ที่วัสดุการสร้างมีความแปลกและสวยงามแตกต่างจากพระพุทธรูปทั่ว ๆ ไป เพราะใช้ เส้นตอกสาน ให้เป็นองค์พระพุทธรูป จนเป็นที่มา และเรียกกันว่า พระพุทธเจ้าตอกสาน

สำหรับตอก ที่นำมา สาน เป็นองค์พระพุทธรูปนั้น สร้างด้วย ไม้ไผ่มุง ที่เชื่อกันว่า มีลักษณะเหนียว และทนทานเป็นพิเศษ โดยไม้ไผ่มุงแตกจะมีกิ่งก้านสาขาเลื้อยขึ้นมุงไม้ใหญ่ที่อยู่บริเวณรอบๆ คล้ายหวาย พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวเป็นฝีมือของ กลุ่มช่างจากสิบสองปันนา ช่างที่ร่วมสานมีใจวิรัติ งดบาปอกุศลยิ่งขึ้น โดยสมาทานอุโบสถศีล เพื่อปฏิบัติบูชาพระรัตนตรัย ดวงแก้ว 3 ประการ ละชั่ว ประพฤติดี ทำใจให้บริสุทธิ์ สะอาดผ่องใส นอกจากนี้แล้ว ผู้ปฏิบัติงานทุกคน ก่อนเหลาและสานองค์พระพุทธรูปเจ้าตอกสาน ต้องสมาทานเบญจศีล เพื่อความเป็นสิริมงคลโดยทั่วกัน ตลอดระยะเวลาในการสร้าง หรือสาน ได้มีพระสมณะ สาธุชน อุบาสก อุบาสิกา อันกอปรด้วยน้ำใจศรัทธาอันแรงกล้า เดินทางมาจากทิศทั้ง 4 ทั้งใกล้และห่างไกล เพื่อปรารถนาที่จะให้องค์พระสำเร็จลง และอยากจะได้เห็นเป็นบุญตา

บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น