นาซาส่ง “ยานสำรวจอินไซต์” ลงจอดบนดาวอังคารได้สำเร็จ

27 พฤศจิกายน 2561 เวลาประมาณ 02:52 น. ตามเวลาประเทศไทย ยานสำรวจอวกาศอินไซต์ (Interior Exploration using Seismic Investigations, Geodesy and Heat Transport : InSight) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือนาซา ลงจอดบนพื้นผิวของดาวอังคารอย่างปลอดภัย นับเป็นครั้งที่ 8 ของมนุษยชาติที่นำยานลงจอดบนดาวเคราะห์ดวงนี้อย่างสำเร็จลุล่วงด้วยดี

นายมติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับพื้นผิวและชั้นบรรยากาศของดาวอังคารซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีน้ำอยู่ในสถานะของเหลวไหลอยู่บนพื้นผิวมาก่อน กระทั่งปัจจุบันก็ยังมีน้ำผุดขึ้นมาบนพื้นผิวไหลปนอยู่กับแร่ธาตุก่อนจะระเหิดไป นอกจากนี้ ยังทราบว่าในอดีตดาวอังคารสูญเสียชั้นบรรยากาศไปเป็นจำนวนมากจากพายุสุริยะ แต่เราทราบข้อมูลเกี่ยวกับดาวอังคารน้อยมาก การตอบคำถามว่าภายในพื้นผิวและภายในแกนกลางของดาวอังคารประกอบขึ้นจากอะไร แกนกลางของดาวอังคารมีขนาดใหญ่แค่ไหน ร้อนเพียงใด จึงเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของโครงการอินไซต์

อุปกรณ์ที่ติดไปกับตัวยาน ได้แก่ หัววัดความร้อนใต้พื้นผิว (Heat Flow and Physical Properties Probe : HP3) เปรียบเป็นปรอทวัดไข้ดาวอังคาร โดยขุดเจาะลงไปในพื้นผิว 5 เมตร ซึ่งเป็นระยะลึกที่สุดที่เคยขุดเจาะมา จากนั้นวัดอุณหภูมิและความร้อนภายในแกนกลางของดาวอังคารที่ปลดปล่อยออกมา เพื่อบอกข้อมูลความร้อนบริเวณใจกลางพื้นผิวที่ดาวอังคารปลดปล่อยออกมาในทุกวันนี้

นอกจากนี้ยังมี อุปกรณ์วัดขนาดและองค์ประกอบของแก่นดาวอังคาร (Rotation and Interior Structure Experiment : RISE) อุปกรณ์สำหรับวัดตำแหน่งของดาวอังคารอย่างละเอียด เพื่อวัดอัตราการ “ส่าย” ว่าขณะที่ดาวอังคารหมุนรอบตัวเองนั้น ส่ายไปมามากน้อยแค่ไหน เช่นเดียวกับการหมุนไข่ไก่จะบอกเราได้ว่า ภายในไข่ไก่นั้นยังเป็นของเหลวอยู่ หรือว่าต้มสุกแล้ว การวัดอัตราการส่ายของดาวอังคารจะบอกได้ว่าภายในแกนกลางของดาวอังคารหลอมเหลวอยู่หรือไม่ มากน้อยเพียงใด

ส่วนอุปกรณ์สุดท้าย คือ อุปกรณ์ตรวจวัดความสั่นไหวบนพื้นผิวดาวอังคาร (Seismic Experiment for Interior Structure : SEIS) เป็นเครื่องมือวัดการสั่นสะเทือน หรือวัดการเกิด “แผ่นดินไหว” เปรียบได้กับการวัด “ชีพจร” ของดาวอังคาร แผ่นดินไหวบนดาวอังคารสามารถอธิบายเกี่ยวกับตัวกลางภายใต้พื้นผิวของดาวว่า ใต้พื้นผิวมีน้ำเป็นองค์ประกอบมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ อุปกรณ์ดังกล่าวยังตรวจจับการชนของอุกกาบาตบนดาวอังคารได้

นายมติพล กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการอินไซต์ จึงเปรียบได้กับการตรวจเช็คสุขภาพครั้งยิ่งใหญ่ของดาวอังคารในรอบ 4.5 พันล้านปีที่ผ่านมา นอกจากตรวจวัดอัตราการส่าย วัดอุณหภูมิและความร้อนภายในแกนกลาง และวัดการสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวแล้ว ยังหวังว่าจะสามารถศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบภายในของดาวอังคารได้มากยิ่งขึ้น จนอาจนำมาซึ่งคำตอบได้ว่า เหตุใดทุกวันนี้ ดาวอังคารจึงเป็นดาวเคราะห์ที่ไร้ซึ่งชีวิต แตกต่างจากโลกที่เต็มไปด้วยชีวิต และสาเหตุมาจากความแตกต่างระหว่างแกนกลางของดาวเคราะห์ทั้งสองนี้หรือไม่

อ้างอิง :
[1] https://mars.nasa.gov/insight/?fbclid=IwAR0YZTD4ByEfwzIQiOpdd46vwKdLMUqrfvl3fgB-XfJ9oETUgAZ253VojrM
[2] https://www.facebook.com/matiponblog/photos/a.255101608033386/394239054119640/?type=3&theater
[3] https://www.facebook.com/matiponblog/photos/a.255101608033386/392052437671635/?type=3&theater
[4] https://www.facebook.com/matiponblog/photos/a.255101608033386/400788343464711/?type=3&theater

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สื่อมวลชนได้ร่วมโทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250

ร่วมแสดงความคิดเห็น