แอ่วบ้านธิ ชมโบราณสถาน “กู่เฮือง – กู่ป่าลาน”

อำเภอบ้านธิ ได้ชื่อว่าเป็นถิ่นที่อยู่ของคนไตลื้อที่อพยพมาจากเมืองสิบสองปันนาในจีนเมื่อราวสองร้อยปีก่อน ปัจจุบันวิถีชีวิตอันดั่งเดิมของคนไตลื้อยังสามารถพบเห็นได้จากชุมชนต่าง ๆ อันได้แก่ภาษาพูด รวมถึงศิลปวัฒนธรรมโบราณสถานที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไตลื้อ ได้แก่ “เจดีย์กู่เฮือง” “กู่เฮือง” เป็นเจดีย์ขนาดเล็ก ที่เป็นศิลปะแบบล้านนา มีรูปทรงเป็นแบบลายปูนปั้น ประดับตามเหลี่ยมมุมของตัวกู่ ลักษณะตัวกู่เป็นรูปทรง 4 เหลี่ยม ทั้ง 4 ด้าน มีซุ้มโขง เหนือซุ้มลายปูนปั้นประดับลายเถาวัลย์วิจิตรสวยงามมาก ในซุ้มด้านบนมีลายปูนปั้นประดับเป็นลายที่แตกต่างกันด้านที่หันไปทางทิศตะวันออกเป็นรูปเสมาธรรมจักร ซึ่งจะมีซุ้มโล่งเข้าไปในตัวสถาปัตยกรรม สันนิษฐานว่าคงจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปมาก่อน

กู่เฮือง เป็นเจดีย์ทรงมณฑปก่อด้วยอิฐ สอดิน ฉาบปูน มีขนาดเล็ก รูปทรงสี่เหลี่ยมตั้งฐานถึงยอด เรือนธาตุที่เป็นมุกติดผนังหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเจาะเป็นช่องประตูทางเข้า มีการประดับลวดลายปูนปั้นตามส่วนต่าง ๆ ของ มณฑป ส่วนฐานของ มณฑปเป็นขันบัวหงาย ส่วนเรือนธาตุชั้นล่างเป็นชั้นบัวลูกแก้วอกไก่ประดับด้วยลวดลายลูกประคำเป็นแถวยาวในกรอบเส้นลวดในส่วนลายประดับกาบล่าง (ขันเชิงล่าง) ประจำยามอกและกาบบน (บัวคอเสือ) ประดับที่มุมผนังย่อมุม ทำเป็นกรอบเส้นหยักรูปสามเหลี่ยม ภายในประดับด้วยลวดลายดอกไม้ ใบไม้ ลายประดับกรอบซุ้มจระนำเป็นซุ้มโค้ง มีหยักแหลมกาบปลายซุ้มโค้งออก กรอบซุ้มประดับลวดลายดอกไม้ ใบไม้ อยู่ภายในแนวลูกประคำเส้นลวด ที่ทำเป็นกรอบทั้งด้านบนและด้านล่าง

หน้าบานของซุ้มจระนำทำเป็นลวดลายต่าง ๆ ได้แก่ ทิศตะวันออก ทำเป็นลายธรรมจักร และเป็นซุ้มโล่ง เข้าไปด้านใน สันนิษฐานว่าเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปมาก่อน ทิศเหนือ ประดับด้วยลายรูปนกยูงในแผ่นวงกลมล้อมรอบด้วยลายลูกประคำเส้นลวดและลายใบไม้ ทิศใต้ เป็นลวดลายรูปม้าในแผ่นวงกลมโดยรอบ มีร่องรอยคล้ายกับลวดลายประดับหน้าบันทิศเหนือ ลายปูนปั้นที่ประดับที่ “กู่เฮือง” มีลักษณะคล้ายกับลายปูนปั้นที่ประดับที่วัดเจ็ดยอดหรือวัดบุพพาราม จ.เชียงใหม่ ซึ่งก็พอจะสันนิษฐาน และยืนยันได้ว่า โบราณสถานที่แห่งนี้คงจะเป็นศิลปกรรมแบบล้านนาร่วมสมัยเดียวกับ “เจดีย์วัดเจ็ดยอด”

โบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของอำเภอบ้านธิ ที่เก่าแก่ไม่แพ้กู่เฮืองคือ “กู่ป่าลาน” ตั้งอยู่ในบริเวณวัดกู่ป่าลาน หมู่ที่ 8 บ้านศรีดอนชัย ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน สันนิษฐานว่าได้สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 19 – 20 เป็นโบราณสถาน ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ระยะห่างจากตัวเมืองลำพูนถึงกู่ป่าลานประมาณ 22 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอบ้านธิ 5 กิโลเมตร มีโบราณสถานสำคัญเก่าแก่ก่ออาคารทรงมณฑป (กู่) เป็นอิฐฉาบปูน ฐานชั้นแรกเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยม ถัดไปเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ มีประติมากรรมปูนปั้น ประดับด้วยผนังอาคารอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ต่อมาภายหลังมีผู้มาสร้างเป็นวัดขึ้นมาใหม่ คือ วัดกู่ป่าลานลายปูนปั้น กู่ป่าลาน นี้มีลักษณะคล้ายกับลายปูนปั้นที่เจดีย์วัดเจ็ดยอด ในจังหวัด เชียงใหม่ จึงยืนยันได้ว่าโบราณสถานในเขตอำเภอบ้านธิ เป็นศิลปกรรมแบบล้านนาร่วมสมัยกับ เจดีย์วัดเจ็ดยอด

“เจดีย์กู่เฮือง – กู่ป่าลาน”” นับได้ว่าเป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของอาณาจักรล้านนาในยุคเริ่มแรก ที่คนรุ่นหลัง ควรค่าแก่การศึกษาเป็นอันยิ่ง โดยเฉพาะคนในพื้นที่ที่มีความสนใจเกี่ยวกับในด้านโบราณสถาน ศิลปกรรมแบบล้านนา

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น