ล่องแพเขื่อนกิ่วลม สัมผัสบรรยากาศ “กุ้ยหลินเมืองไทย”

การล่องแพที่เขื่อนกิ่วลมนั้นมีมานานหลายปีแล้ว แต่เพิ่งจะคึกคักและมีนักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสความเป็นธรรมชาติเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง ในช่วงของการท่องเที่ยวเขื่อนกิ่วลม “บูม” สุดขีดนั้นจะเห็นว่าตามเกาะแก่งต่าง ๆ ที่ขบวนแพเคลื่อนผ่านจะมีรีสอร์ทน้อยใหญ่ผุดขึ้นมามากมายเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ความเงียบสงบและธรรมชาติที่ร่มรื่นจึงเป็นจุดดึงดูดให้ผู้คนหลงใหลใฝ่ฝันและเดินทางมาเยือนที่นี่ เขื่อนกิ่วลมตั้งอยู่ในพื้นที่เดิมของแม่น้ำวัง ซึ่งมีแม่น้ำสาขาสำคัญ 2 สาย คือลำน้ำแม่ตุ๋ยและลำน้ำแม่จาง ต่อมาปี พ.ศ.2478 กรมชลประทานได้เริ่มงานพัฒนาลุ่มแม่น้ำวัง โดยการสร้างฝายปิดกั้นน้ำแม่วังที่ตำบลบ้านแลง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง กระทั่งปี พ.ศ.2492

จึงแล้วเสร็จ การสร้างฝายครั้งนั้นทำให้พื้นที่กว่า 77,000 ไร่และพื้นที่บางส่วนของอำเภอแม่ทะและเกาะคาอีก 13,750 ไร่ ได้ใช้น้ำจากฝายกั้นน้ำในการเพาะปลูกและเกษตรกรรม ต่อมาได้มีการบุกเบิกขยายพื้นที่ทำกินในเขตลุ่มแม่น้ำวังมากขึ้นความต้องการน้ำจากแม่น้ำวังเพื่อใช้ในการเกษตรจึงเพิ่มขึ้นตามลำดับ เพราะนอกจากจะทำนาในฤดูฝนแล้วยังมีการเพาะปลูกพืชไร่ในฤดูแล้งอีกด้วย ในช่วงฤดูแล้งปี พ.ศ.2505 น้ำในแม่น้ำวังมีปริมาณลดน้อยถึงกับเกิดภาวะการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการประปารวมถึงใช้อุปโภคบริโภคในตัวเมืองลำปาง รัฐบาลและกรมชลประทานสมัยนั้นจึงเสนอโครงการก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำที่กิ่วลมขึ้น

หลังจากที่เขื่อนกิ่วลมสร้างแล้วเสร็จทางราชการจึงได้พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดลำปาง และการท่องเที่ยวที่มีชื่อของกิ่วลมก็คือ การล่องแพชมธรรมชาติ ซึ่งทุกปีประมาณกันว่ามีนักท่องเที่ยวกว่าหมื่นคนเดินทางมาล่องแพที่เขื่อนกิ่วลมแห่งนี้ บรรยากาศของการล่องแพเหนือเขื่อนกิ่วลมเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ตื่นตาตื่นใจแก่นักเดินทางที่ไม่ค่อยมีโอกาสมาสัมผัสความงามของธรรมชาติมากนัก ผืนน้ำกว้างที่เงียบสงบเบื้องหน้า ภูเขาหินปูนสองฝั่งน้ำ ป่าไม้เขียวขจีและขบวนแพที่เรียงรายเหนือพื้นน้ำ ล้วนแล้ว แต่สร้างสีสันของการเดินทาง ระยะทางจากจุดลงแพมาถึงบริเวณเกาะต่าง ๆ ใช้เวลาในการเดินทางอย่างช้าประมาณชั่วโมงเศษ ตลอดริมสองฝั่งมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นถ้ำเหล็กไหล ซึ่งชาวบ้านแถวนี้เชื่อว่ามีเหล็กไหลอยู่ภายในถ้ำ ถ้ำนี้ลึกประมาณ 300 เมตร เข้าออกลำบากมาก มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าเคยมีคนเข้าไปในถ้ำนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2538 หลังจากนั้นก็ไม่เคยมีใครกล้าเข้าไปในถ้ำนี้อีกเลย

ถ้ำสมบัติก็เป็นอีกถ้ำหนึ่งที่มีความสวยงามและเงียบสงบ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ถ้ำแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของกองทัพทหารญี่ปุ่น และชาวบ้านในบริเวณนี้ก็ยังเชื่อว่ามีสมบัติของทหารญี่ปุ่นฝังอยู่ในบริเวณรนี้แต่ไม่เคยมีใครพบ ภายในถ้ำเป็นสถานที่วิปัสนากัมมฐานของพระสงฆ์ ในบริเวณใกล้กันมีหน้าผาธรรมชาติทอดตัวยาวชาวบ้านเรียกว่า “ผาเกี๋ยง” เมื่อลองไถ่ถามจากมัคคุเทศก์สมัครเล่น ก็ได้รับคำตอบทีเล่นทีจริงว่า สาเหตุที่ชื่อผาเกี๋ยง สันนิษฐานว่ามียายคนหนึ่งชื่อ “เกี๋ยง” เป็นคนมาพบหน้าผาแห่งนี้เป็นคนแรก

นอกจากความสวยงามของธรรมชาติเหนือเขื่อนกิ่วลมที่ได้รับสมญาว่าเป็น “กุ้ยหลินแห่งเมืองไทย” แล้ว บริเวณเกาะต่าง ๆ ยังมีตลาดน้ำ จำหน่ายกุ้ง หอย ปู ปลาที่จับได้ในบริเวณทะเลสาบสบพุและเหนือเขื่อนกิ่วลม โดยชาวบ้านจะนำสินค้าเหล่านี้ใส่เรือมาจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวในราคาถูกกว่าท้องตลาด ปลาที่จับได้ในบริเวณนี้มีความสดและสะอาดมาก ชาวบ้านบอกว่าส่วนใหญ่ปลาที่จับได้จะเป็นปลานิล ปลายี่สก ปลาสวาย ซึ่งเมื่อจับได้ก็จะนำมาขายที่นี่เพราะมีนักท่องเที่ยวสนใจมาซื้อเป็นจำนวนมาก บางคนก็นำกลับไปทำอาหารทานที่บ้าน บางคนก็จัดการทำอาหารกันที่นี่เลย

หลังจากที่ใช้เวลาในการเก็บรับประสบการณ์ใหม่ในการล่องแพเหนือเขื่อนกิ่วลมจนอาทิตย์ทอดตัวลาลับขอบฟ้า แสงสุดท้ายของวันส่องประกายสีทองสะท้อนกับพื้นน้ำระยิบระยับเสมือนอยู่ในห้วงแห่งจินตนาการ ขบวนแพทั้งหมดทยอยมุ่งหน้าเดินทางกลับสู่ฝั่ง อันเป็นการสิ้นสุดของการเดินทางในครั้งนั้น แม้ว่าจะไม่บ่อยครั้งที่จะมีโอกาสเดินทางมาล่องแพ โดยเฉพาะความสวยงามของธรรมชาติเหนือเขื่อนกิ่วลมทั้งยามเช้าที่เริ่มต้นการเดินทางและยามพลบค่ำเมื่อเวลากลับ อยากให้หลายคนที่หลงใหลในธรรมชาติลองหาโอกาสแวะมาสัมผัสธรรมชาติอันพิสุทธิ์เช่นนี้บ้าง แม้สักช่วงชีวิตก็จะดีไม่น้อย

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น