ทอท.เชียงใหม่ เร่งตรวจสอบด่วน กรณีชาวบ้านป่าแดด โวยน้ำเน่าเสีย

จากกรณีที่ชาวบ้านหมู่บ้านอมรนิเวศน์ และหมู่บ้านใน ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ร้องเรียนผ่านผู้นำชุมชนว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ย.61 ที่ผ่านมา ว่าน้ำในลำรางสาธารณะซึ่งไหลผ่านชุมชนส่งกลิ่นเน่าเหม็น พร้อมระบุว่าเป็นน้ำที่ไหลมาจากท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยต่อมาหลังจากทราบเรื่องดังกล่าววานนี้ (28 พ.ย.61) น.ต.มณธนิก รักงาม ที่ปรึกษา 10 และรักษาการ ผอ.ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ได้มอบหมายให้ นายกฤษฎา พุกะทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญ 9 และรักษาการ รอง ผอ.ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และนายนิตินัย สาสกุล ผอ.ฝ่ายบำรุงรักษา พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง

กระทั่งทราบว่าน้ำส่วนใหญ่ที่ไหลลงสู่ลำรางสาธารณะนั้น เป็นน้ำที่ออกมาจากท่าอากาศ ยานเชียงใหม่จริง พร้อมชี้แจงว่าปัจจุบันการระบายน้ำทิ้ง จากท่าอากาศยานเชียงใหม่ มาจาก 2 แหล่งใหญ่ คือ น้ำที่เกิดจากการใช้งานในอาคารผู้โดยสาร ซึ่งทั้งหมดจะนำเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย ก่อนปล่อยออกสู่ทางระบายน้ำสาธารณะ โดยมีการตรวจวัดคุณภาพน้ำ เป็นประจำทุกเดือน พบว่าค่าที่ได้เป็นไปตามมาตรฐาน และน้ำผิวดิน เกิดจากน้ำที่ไหลมาตามธรรมชาติ (น้ำฝน) โดยไหลผ่านพื้นผิวดิน และระบบรางระบายน้ำภายในพื้นที่ ท่าอากาศยาน แล้วไหลลงสู่ลำรางสาธารณะโดยตรง

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นพบว่า น่าจะมาจากการระบายน้ำผิวดิน โดยจากการตรวจสอบน้ำจากบริเวณพื้นที่จุดพักน้ำผิวดิน ก่อนปล่อยออกทางระบายน้ำสาธารณะ พบค่าออกซิเจนต่ำกว่ามาตรฐานเล็กน้อย สาเหตุมาจากปัญหาด้านกายภาพของระบบรางระบายน้ำ เนื่องจากพื้นที่จุดพักน้ำ มีลักษณะระดับท้องรางต่ำกว่าระดับท้องรางของทางระบายน้ำสาธารณะ เพื่อเป็นการดักตะกอน โดยในฤดูแล้งไม่มีน้ำผิวดินธรรมชาติ (น้ำฝน) มาไหลเวียนเพิ่มเติมอย่างเพียงพอ จึงทำให้เกิดปัญหาการขังเน่าเสีย ดังที่กล่าว

ทั้งนี้ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ขออภัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่สร้างผลกระทบด้านกลิ่นเน่าเหม็นต่อชุมชน และจะได้เร่งแก้ไขให้เร็วที่สุด โดยสิ่งที่ดำเนินการได้ทันที และสามารถลดผลกระทบได้อย่างรวดเร็ว คือการสูบน้ำจากจุดพักน้ำผิวดินที่ขังเน่าเสีย นำออกไปทิ้ง และจะสูบน้ำผิวดินจากบ่อกักเก็บสำรองมาเติม เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำในบริเวณที่ขังเน่าเสียให้ดีขึ้น พร้อมกันนี้จะนำน้ำในลำรางสาธารณะบริเวณชุมชนไปตรวจสอบ โดยหน่วยงานกลางของรัฐ เพื่อให้ชุมชนเกิดความสบายใจ ส่วนในระยะยาวตามแผนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ระยะที่ 1 น้ำใช้และน้ำที่ด้อยคุณภาพทั้งหมด นำเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อนำกลับมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์อื่นๆ ต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น