ชมถ้ำโบราณ พักบ้านโฮมสเตย์ ที่บ้านแม่ละนา

อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นแหล่งอารยธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์เก่าแก่แห่งหนึ่งของประเทศไทย พื้นที่โดยทั่วไปมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเขาหินปูน จึงทำให้มีการสำรวจพบโถงถ้ำน้อยใหญ่มากมายกว่า 200 ถ้ำ และยังคาดคะเนกันว่าน่าจะมีถ้ำอีกไม่น้อยที่หลุดลอดไปจากสายตาของกลุ่มนักสำรวจ

กลุ่มถ้ำที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอปางมะผ้าและพื้นที่โดยรอบ ต่างมีคุณค่าและความงดงามที่แตกต่างกันออกไป บางถ้ำมีการตกตะกอนของหินปูนและก่อให้เกิดหินงอกหินย้อยอันวิจิตรงดงามขนาดใหญ่ หรือแม้แต่ถ้ำที่ไม่มีการสะสมของหินงอกหินย้อย ก็ยังพบว่าเคยเป็นที่พักอาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ดังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่มีจำนวนมากถึง 70 ถ้ำที่กระจายตัวอยู่ในเขตอำเภอแห่งนี้

กระทั่งปี พ.ศ.2529 จังหวัดแม่ฮ่องสอนเปิดตัวเองด้วยการจัดเป็นปีการท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอน และถ้ำที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในเขตอำเภอปางมะผ้า จึงได้รับการส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นถ้ำน้ำลอดหรือ “ถ้ำลอด” ถ้ำที่แม่น้ำลาง แม่น้ำสายหลักของอำเภอปางมะผ้าลอดผ่านเข้าไปในตัวถ้ำก่อนจะไหลไปรวมกับแม่น้ำปาย
หรือแม้แต่ “ถ้ำแม่ละนา” ซึ่งจัดว่าเป็นถ้ำที่ลึกที่สุดในเอเชีย มีความลึกกว่า 14 กิโลเมตรในแนวนอน ขณะที่ถ้ำ “น้ำบ่อผี” มีความลึกในแนวดิ่งกว่า 100 เมตร และลึกลงไปในหุบเหวก็ยังมีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น

โดยเฉพาะถ้ำแม่ละนาซึ่งอยู่ในบริเวณบ้านแม่ละนา ต.แม่ละนา อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ ซึ่งนอกจากความยาวของตัวถ้ำยังมีความวิจิตรอลังการของหินงอกหินย้อยและความยากลำบากในการเดินทางเพื่อเข้าไปถึงตัวถ้ำ เหล่านี้ล้วนเป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวผู้รักการผจญภัยมากขึ้นอีกเป็นทวีคูณ

ในปี 2542 เกิดกระแสส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในทุกพื้นที่ ในฐานะที่บ้านแม่ละนามีถ้ำอันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเข้าไปอยู่ในรายชื่อของสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศของบริษัทจัดนำเที่ยวทั่วภาคเหนือ

จึงเป็นสาเหตุให้ชาวบ้านแม่ละนารวมกลุ่มกันอีกครั้ง พร้อมทั้งประสานงานขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ ต้องการเปิดชุมชนแม่ละนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว พร้อมกับสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่กำลังบูมอยู่ในขณะนี้

บ้านแม่ละนา เป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีอายุกว่า 800 ปี ชาวบ้านโดยมากล้วนสืบเชื้อสายมาจากชาวไทยใหญ่ พวกเขาดำรงชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์และทำการเกษตร เมื่อกระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ถูกพูดและกล่าวถึง ชาวบ้านที่นี่จึงเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่รวมตัวกันเพื่อหาแนวทางและกำหนดรูปแบบการท่องเที่ยว ปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่มทั้งหมด 15 คน สมาชิกบางคนปรับแต่งบ้านของตนเองเป็นที่พักนักท่องเที่ยว หรือ “โฮมสเตย์” ขณะที่บางคนยังมำหน้าที่เป็นผู้นำทาง ที่มีประสิทธิภาพสามารถบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมา วิถีชีวิตของชุมชนได้
กระนั้นก็ตาม นอกจากชุมชนไทยใหญ่ที่บ้านแม่ละนาแล้ว พื้นที่โดยรอบยังเป็นที่ตั้งของชุมชนล่าหู่ หรือ “มูเซอ” อีก 2 หมู่บ้าน คือบ้านบ่อไคร้และบ้านจ่าโบ่ ทั้งสองชุมชนต่างก็ได้รับผลกระทบในด้านบวกและลบที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวเช่นกัน ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ชาวบ้านถูกดึงเข้ามาในโครงข่ายความซับซ้อนของการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวในพื้นที่และนอกจากนั้นยังรับเอาแนวคิดผิด ๆ เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษืเข้าไปด้วยเช่นกัน

ชุมชนทั้งสามหมู่บ้านซึ่งจัดว่าเป็นตัวแทนของภาพรวมของจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้เป็นอย่างดี ได้รวมตัวกันเพื่อหารือในประเด็น “การจัดการถ้ำ” เพราะพื้นที่ในบริเวณของ 3 หมู่บ้านเป็นที่ตั้งของถ้ำสำคัญถึง 3 แห่งและมีนักท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบเข้ามาเยี่ยมเยือน ซึ่งมีทั้งชาวบ้านมีส่วนในการจัดการด้วยตนเอง และแบบธุรกิจท่องเที่ยวนอกชุมชน

ประเด็นพูดคุยก็คือ ชาวบ้านเกรงว่าถ้ำอาจถูกใช้งานมากขึ้นหากไม่มีการจัดการที่ดี โดยเฉพาะที่ถ้ำแม่ละนา ซึ่งเป็นถ้ำที่สวยงาม มีทรัพยากรทางชีวภาพที่หายาก ได้มีลางบอกเหตุหลายประการว่าถ้ำแห่งนี้กำลังได้รับความเสียหาย เป็นต้นว่า ไข่มุกถ้ำหายไปบางส่วน จำนวนของปลาไม่มีตาซึ่งเป็นปลาเฉพาะถิ่นหายากไม่ลดลง และยังไม่รวมถึงพื้นที่ป่าโดยรอบตัวถ้ำถูกตัดโค่น และวิถีชีวิตของชุมชนบางส่วนก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป

ชุมชนจึงร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนในท้องถิ่นได้มีการพูดคุยถึงเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเปิดเวทีใหญ่เพื่อระดมความคิดจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ผลของการประชุมในครั้งนี้มีประเด็นที่มุ่งไปสู่การหาทางออกหลายเรื่อง โดยเฉพาะหากจะจัดการถ้ำอย่างยั่งยืนได้นั้น ชุมชนต้องยั่งยืนก่อนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

สำหรับที่บ้านจ่าโบ่แลบ้านบ่อไคร้ ทั้งสองชุมชนเป็นล่าหู่ หรือ มูเซอดำ แม้จะมีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ไม่แต่กต่างกันมากนัก แต่สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างชุมชนบ่อไคร้และจ่าโบ่ก็คือ ที่บ้านบ่อไคร้มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมและเข้าไปพักค้างอ้างแรมในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านบางคนยังประกอบอาชีพเสริมด้วยการเป็นลูกหาบให้กลุ่มไกด์ทัวร์เดินป่า ซึ่งจะเริ่มต้นเดินจากบ้านบ่อไคร้ ไปถ้ำลอดและถ้ำแม่ละนา ขณะที่บ้านจ่าโบ่นักท่องเที่ยวมักใช้เป็นเพียงทางผ่าน แต่ก็ได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน

“ที่แม่ละนา ชุมชนมีแนวคิดอื่นที่ไม่ใช่เรื่องถ้ำ เพราะว่าถ้าการที่จะไปจัดการถ้ำชุมชนต้องมีความสามารถพอที่จะไปจัดการ จึงหันมาดูว่าตนเองมีอะไรที่เป็นของดีและสามารถนำไปอวดแก่สายตานักท่องเที่ยวหรือคนภายนอกได้ ในส่วนของแม่ละนาเองก็มีการพาเที่ยวป่าดูวิถีชีวิตของผู้คนในหมู่บ้าน”

สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการผจญภัย และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สามารถเดินทางเข้าไปเที่ยวชมความสวยงามของธรรมชาติอันพิศดารได้ที่บ้านแม่ละนา อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น