เชียงใหม่ติดโผ ยกเครื่องสถานีขนส่ง เมืองใหญ่ เมืองรอง ต้องมาตรฐานเท่ากัน

ปัจจุบันการเดินทางมีความหลากหลายในทุกมิติ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการใช้บริการรถโดยสารตามสถานีขนส่งต่างๆ ยังถือเป็นที่พึ่งของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทย รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติด้วย

ทั้งนี้ก่อนปี 2497 การขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง ยังไม่มีการควบคุม จัดระเบียบ เก็บค่าโดยสารตามความพอใจ เจ้าของรถมีปัญหาต่างๆมากมาย ประการสำคัญคือไม่มีสถานีขนส่งผู้โดยสาร เป็นที่หยุดหรือจอดรถโดยสารประจำทาง จะมีก็เพียงท่าจอดรถอยู่กระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ ไม่ปลอดภัย

ต่อมาได้ตั้งกรมการขนส่งทางบก เป็นหน่วยงานรองรับ จัดให้มีสถานีขนส่งผู้โดยสารขึ้นพร้อมกัน 3แห่งในไทย เมื่อ 1 ม.ค.2503 ประกอบด้วย สถานีขนส่งสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ ,สถานีขนส่งสายตะวันออกเลียบชายฝั่งทะเล, สถานีขนส่งสายใต้ สำหรับสถานีขนส่งในส่วนภูมิภาค จัดให้มีขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ เป็นแห่งแรก เมื่อ 12 ก.ค.2509 และสถานีแห่งอื่น ๆ ตามมา 

ปัจจุบัน มีสถานีขนส่งผู้โดยสารรวม 123 แห่ง โดยกรมการขนส่งทางบก ดำเนินการ 94 แห่ง ถ่ายโอนให้ อปท.92 แห่ง อยู่ระหว่างถ่ายโอน 2 แห่ง ,บขส.ดำเนินการ 8 แห่ง เอกชนดำเนินการ 19 แห่ง และเทศบาลดำเนินการ 2 แห่ง แต่ละแห่งมีความสำคัญ เพราะเป็นกลไกควบ คุม กำกับดูแลจัดระเบียบการขนส่ง ให้ผู้ประกอบการขนส่งประจำทางรถโดยสาร ปฏิบัติตามกฎหมาย ควบคุม ดูแลผู้ประจำรถ อาทิ พนักงานขับรถ อำนวยความสะดวกและความปลอด ภัยให้ประชาชน เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งสถานีตั้งอยู่ เช่น ข้อมูลข่าวสารด้านท่องเที่ยว และเป็นภาพลักษณ์ของท้องถิ่น ที่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยด้านการขนส่ง

ขณะนี้มีโครงการศึกษา เพื่อจัดทำแผนแม่บทพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสาร 3 ระยะ คือ ระยะ 1-5 ปี (2561-2565) ระยะกลาง 6-10 ปี (2566-2570) ระยะยาว 11-20 ปี (2571-2580) ประกอบด้วย 4 มิติพัฒนา ได้แก่ 1.การพัฒนาทางกายภาพ เพิ่มพื้นที่ให้บริการ 2.ปรับปรุงพัฒนากฎหมายและกฎระเบียบ 3.พัฒนาระบบและรูปแบบบริหารจัดการสถานี และ 4.พัฒนาเทคโนโลยีแผนเร่งด่วน 5 ปี เน้นพัฒนาปรับปรุงทางกายภาพ จัดการตามภารกิจฯ ทดลองนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการสถานี จะนำร่อง 5 จังหวัด ซึ่งสถานีขนส่งฯเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในนั้น

อย่างไรก็ตาม สภาพของสถานีขนส่งผู้โดยสารตามหัวเมืองท่องเที่ยวหลักๆ ไม่ว่าจะที่เชียง ใหม่พื้นที่เดิม และพื้นที่จัดสร้างใหม่ ยังคงท้าทายการบริการจัดการของหน่วยงานที่กำกับดูแล ว่าจะแก้ไข ปรับปรุงพัฒนาสภาพอย่างที่เห็นเป็นอยู่ในทิศทางใด ตลอดจนบรรดาเมืองรองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม อาทิ แม่ฮ่องสอน ด้วยศักยภาพสถานีและพื้นที่โดยรอบ มีข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะในการยกเครื่องตามผลศึกษามากมาย ปริมาณเส้นทางรถโดยสารทั่วไทยกว่า 4,391 เส้นทาง จุดจอด สถานีขนส่ง ท่ารถทุกๆพื้นที่ควรต้องมีมาตรฐานเดียวกัน แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ความแตกต่างของสถานีขนส่งผู้โดยสาร ที่มีกระจัดกระจายกันนั้น ผู้ใช้บริการต่างตระหนักดีว่า มีสภาพอย่างไรกันบ้าง

สถานีขนส่งผู้โดยสาร ถือเป็นปัจจัยหลักและเป็นระบบขนส่งขั้นพื้นฐาน ที่หน่วยงานท้องถิ่นนั้นๆต้องให้ความสำคัญ เพราะมีราคาถูกและเข้าถึงชุมชนได้ทุกระดับ เหตุผลของการเติบโตอย่างรวดเร็วของสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) ทำให้ผู้โดยสารหันไปใช้บริการ ก็เป็นเพียงบางส่วน ไม่ใช่ทั้งหมด ด้วยผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมยังพึ่งพาบริการรถโดยสาร

ร่วมแสดงความคิดเห็น