สนง.เศรษฐกิจการคลัง โต้ข่าวเศรษฐกิจไทยติดกับดัก มาเกือบ 20 ปี เติบโตต่ำสุดในประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน เกือบทั้งโลก

นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สนง.เศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีนักธุรกิจระบุเศรษฐกิจไทยติดกับดักมาเกือบ 20 ปี โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำที่สุดในประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเกือบทั้งโลก กระทรวงการคลังขอชี้แจงว่า ในการวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวมนั้น โดยทั่วไปมักจะพิจารณาจากทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ซึ่งสะท้อนได้จากอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

การวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจที่มีความครอบคลุมครบทุกมิตินั้น นอกเหนือจากจะพิจารณาทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจแล้ว จำเป็นที่จะต้องนำเอาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนได้จากเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ อาทิ อัตราเงินเฟ้อ มาพิจารณาควบคู่กันไปด้วย
ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้เฉลี่ยที่ร้อยละ 4.1 ต่อปี สะท้อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับที่เหมาะสม ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในช่วงดังกล่าวอยู่ที่เฉลี่ย ร้อยละ 2.0 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า และบริการมากจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม ในช่วง ปี 2533 – 2540 ซึ่งเป็นช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่เฉลี่ย ร้อยละ 6.5 ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่เฉลี่ย ร้อยละ 5.2 สะท้อนว่าแม้เศรษฐกิจไทย มีการเติบโตในอัตราสูง แต่ระดับราคาสินค้าและบริการมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากเช่นกัน ซึ่งส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชน 

การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาสินค้า และบริการในช่วงดังกล่าว ยังนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ทางด้านราคา เกิดปัญหาการเก็งกำไรในสินค้า ที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ และก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจตามมา จนส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2541 หดตัวลงอย่างรุนแรงที่ ร้อยละ -7.6 สะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะมีการเติบโตในอัตราสูง แต่ถือเป็นการเติบโตที่ไร้เสถียรภาพ และอาจนำไปสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจในที่สุด

ทั้งนี้ ในปี 2560 เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ที่ ร้อยละ 3.9 และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่อเนื่องที่ ร้อยละ 4.2 ในปี 2561 (คาดการณ์ ณ เดือนพฤศจิกายน 2561) ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับศักยภาพ (Potential GDP) ที่ประมาณร้อยละ 4.0 นอกจากนี้ เพื่อเป็นการยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทย ให้เติบโตได้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน ภาครัฐยังมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป

สำหรับการเปรียบเทียบอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย กับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เมียนมา ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ นั้น พบว่าปัจจุบันขนาดทางเศรษฐกิจของไทยมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน โดยถ้าหากเปรียบเทียบรายได้ต่อหัวของประชาชน (GDP per Capita) จะพบว่าในปี 2560 GDP per Capita ของประเทศไทยอยู่ในระดับสูงที่ 6,883 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ GDP ต่อหัวของประเทศ เมียนมา กัมพูชา เวียด นาม ลาว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อยู่ในระดับต่ำที่ 1,196 1,330 2,389 2,468 3,878 และ 2,989 เหรียญสหรัฐตามลำดับ

ร่วมแสดงความคิดเห็น