ตุ๊กตาไม้วัดจองกลาง สุดยอดศิลปกรรมพม่า

การสร้างสรรค์งานศิลปะในแถบอุษาคเนย์ ส่วนใหญ่จะสะท้อนผ่านงานสถาปัตยกรรมเชิงศาสนา และบางมุมวิถีชีวิตผู้คน แต่ละประเทศทั้งในไทย,กัมพูชา,เวียดนาม,สปป.ลาว และเมียนมา ศิลปกรรมช่างหลวงในราชสำนักและช่างพื้นบ้าน ถ้ามองผ่านงานไม้แกะสลักจะพบความพริ้วไหว ในลวดลาย เชิงช่างแสนปราณีต วิจิตรบรรจง จนยากจะสรุปว่า แตกต่างกันตรงไหน หากจะเรียนรู้ ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมของเพื่อนบ้าน ผ่านงานศิลปกรรมงานแกะสลักไม้นั้น พื้นที่ภาคเหนือ หรือล้านนาดั้งเดิม เป็นแหล่งรวบรวม องค์ความรู้ล้ำลึก

ที่วัดจองกลาง เมืองแม่ฮ่องสอน ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่เก็บรวบรวมตุ๊กตาแกะสลักด้วยไม้ มีทั้งรูปคน รูปสัตว์ จำนวน 33 ชิ้นงาน นำมาจากพม่าเมื่อ พ.ศ.2400 ภายในห้องจัดแสดงของวัด ยังรวบรวมงานจิตรกรรมภาพวาดบนแผ่นกระจก เรื่องพระเวสสันดรชาดก พุทธประวัติพระ พุทธเจ้าอีกด้วย พร้อมกับมุมบอกเล่าเรื่องราว ตำนาน ความเชื่อ ความศรัทธาด้านศาสนา มายาคติ วิถีชีวิตผู้คนสมัยนั้นหลายรายการ

ทั้งนี้นักวิชาการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคเหนือ ซึ่งเชี่ยวชาญศิลปกรรมพม่า อธิบายพื้นฐานการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์เพื่อนบ้าน เพื่อให้เข้าใจ ความเป็นมาของรอยทางศิลป กรรมโบราณพม่าว่า มี 9 ช่วงเวลา ตั้งแต่ช่วงก่อนประวัติศาสตร์ ,ช่วงการรับอารยธรรมอินเดียยุคแรกๆ,ยุคอารยธรรมโบราณ : ปยู ,มอญโบราณ ,อาระคันหรือยะไข่ ราวๆพุทธศตวรรษที่ 11-15

จากนั้นมาสู่ช่วงสมัยพุกาม (จักรวรรดิพม่า), ช่วงหลังสมัยพุกาม ,สู่ช่วงราชวงศ์ตองอูและยองยาน (พศ.2029-2235 ) ในประวัติศาสตร์สมัยนี้ ถ้าสนใจศึกษาประวัติศาษสตร์ล้านนา จะรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิพม่า อิทธิพลประจักษ์ชัดผ่านผลงานศิลปกรรมพม่า ดาษดื่นทั่วนครเชียงใหม่ และหลายๆจังหวัดในภาคเหนือ ยุคพม่าครองเมือง มาถึงช่วงราชวงศ์ตองบอง, และช่วงเวลาพม่าอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ (ประมาณ พศ.2428-2491 ) และภายหลังการได้รับเอกราชจนถึงปัจจุบัน

ความนิยมอย่างหนึ่งในศิลปะพม่านั้น จะแกะสลักงานไม้ที่ปราณีต งดงาม ผสานเรื่องราวพุทธชาดก เป็นลวดลายประดับวิหาร สีหาสนบัลลังก์เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป งานแกะสลักไม้เพื่อพุทธบูชา โดยเฉพาะศิลปะมัณฑเลย์ ที่ปรากฎตามวัดแต่ละแห่งประดับด้วยตุ๊กตาไม้เน้นเล่าเรื่องพุทธประวัติ เช่น ตอนเทวทูตสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตายและสมณะ 

ประติมากรรมมักจะสลักเป็นชุด เน้นความสมจริง เช่น คนต้องมีลายผิวไม้ สีบ่งบอกความเหี่ยวย่น ส่วนคนตายก็จำลองภาพของศพนอนอืด ภายในห้องจัดแสดงที่วัดจองกลาง มีมุมไม้แกะแบบนี้ให้ศึกษา การสลักได้เสมือนจริงนี้ ถือเป็นพัฒนาการของประติมากรรมพม่า เรื่องราวที่สลักเป็นตุ๊กตาไม้ในสมัยมัณฑเลย์ จะเป็น เรื่องพระวิทูธรบัณฑิต พระเวสสันดร รวมถึงเทวทูตทั้งสี่ เป็นส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับแกะสลักไม้ ที่เป็นรูปผู้คน มักสะท้อนวิถีชีวิต สังคมยุคนั้น ในอดีตด้วย

ปัจจุบัน กลายเป็นของสะสมที่นิยมกันในวงการค้าวัตถุโบราณ ยิ่งเป็นงานช่างราชสำนัก มีตำนาน ประวัติความเป็นมาที่พิสูจน์ได้ มูลค่ามหาศาล ดังนั้นตามวัดต่างๆทั่วภาคเหนือตอนบน ที่มีงานศิลปกรรมเหล่านี้ จึงเก็บรักษาไว้อย่างแน่นหนา แม้จะมีการสร้างสรรค์ชิ้นงาน ผ่านการเลียนแบบ งานไม้โบราณ เป็นสินค้า ของที่ระลึก จำหน่ายตามเมืองท่องเที่ยวทั้งๆที่เชียงใหม่, เชียงราย,แม่ฮ่องสอน และจังหวัดต่างๆอีกมากมาย นิยมในกลุ่มชาวต่างชาติ และพวกสะสมของเก่า ของโบราณ

ร่วมแสดงความคิดเห็น