ตำนานพระเจ้าไม้สะเลียม

ชื่อของพระเจ้าไม้สะเลียมหวานเป็นที่รู้จักมักคุ้นกันดีในหมู่พุทธศาสนิกชนชาวล้านนา โดยเฉพาะระหว่างชาวอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่กับชาวอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เพราะเคยเกิดกรณีพิพาทในการเรียกร้องความเป็นกรรมสิทธิ์ในพระพุทธรูปที่แกะสลักจากไม้สะเลียมหวาน ถึง 4 ครั้งในช่วงเวลากว่า 30 ปี คือตั้งแต่ปี พ.ศ.2472 – 2505 ว่ากันว่าพระเจ้าไม้สะเลียมหวานเป็นพระพุทธรูปที่สร้างจากไม้สะเดาหวาน (คนเมืองล้านนาเรียกไม้ชนิดนี้ว่า “ต้นสะเลียม”) เป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรประทับบนฐานไม้สี่เหลี่ยม มีห่วงเหล็กสองห่วงซ้ายขวาสำหรับยกองค์พระ พระเจ้าไม้องค์นี้มีพุทธลักษณะงดงามได้สัดส่วน

ปัจจุบันพระเจ้าไม้สะเลียมหวานที่พบในล้านนามีอยู่ด้วยกัน 3 องค์ คือ ที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ประดิษฐานอยู่ด้านทิศใต้ของพระสถูปในวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่สร้างเมื่อก่อนปี พ.ศ.2472 ส่วนองค์ที่ 2 ประดิษฐานอยู่ในวิหารจัตุรมุขวัดพระเจ้าสะเลียมหวาน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2500 เช่นเดียวกับองค์ที่ 3 ซึ่งประดิษฐานอยู่ในศาลาปฏิบัติธรรมวัดพระเจ้าสะเลียมหวาน

ความน่าสนใจของพระเจ้าไม้สะเลียมหวานอยู่ที่องค์ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง พระพุทธรูปไม้องค์นี้นั้นแต่เดิมเป็นสมบัติของวัดพระแท่นสะเลียมหวาน ปัจจุบันคือวัดพระเจ้าสะเลียมหวาน อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน สมัยก่อนวัดแห่งนี้เคยเป็นวัดที่มีความเจริญรุ่งเรืองมีชาวบ้านศรัทธาเป็นจำนวนมาก ต่อมาวัดแห่งนี้ได้ร้างไป ชาวบ้านจึงนำเอาวัตถุโบราณของมีค่าต่าง ๆ ของวัดนี้ไปฝากที่วัดแห่งอื่น ๆ ได้แก่ พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ขนาดหน้าตักกว้าง 32 นิ้ว ฝากไว้ที่วัดสันเจดีย์ อำเภอบ้านโฮ่ง และอีกองค์หนึ่งซึ่งมีขนาดเดียวกันนำไปฝากไว้ที่วัดบ้านล้อง ส่วนพระเจ้าไม้สะเลียมหวานนำไปฝากไว้ที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง โดยทุก ๆ ปีเมื่อถึงวันงานประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุ ชาวบ้านโฮ่งก็ได้มีการนำดอกไม้ธูปเทียน ตลอดจนจัดสำรับกับข้าวเพื่อมาถวายพระพุทธรูปไม้องค์นี้ จนถือเป็นประเพณีที่ต้องกระทำทุกปี ด้วยเป็นที่ทราบกันว่าพระพุทธรูปไม้สะเลียมที่ประดิษฐานในวิหารหลวงวัดพระธาตุศรีจอมทองเป็นของชาวบ้านโฮ่ง

กระทั่งเกิดกรณีการเรียกร้องความเป็นกรรมสิทธิ์ระหว่างชาวบ้าน 2 อำเภอ โดยการเรียกร้องครั้งแรกนั้นมีขุนโห้ง หาญผจญพร้อมกับครูบามหาวงศ์ นำชาวบ้านโฮ่งกลุ่มหนึ่งเดินไปเข้าพบกับเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ขณะนั้นเพื่อขออนุญาตให้นำพระเจ้าไม้สะเลียมหวานกลับคืนสู่วัดเดิม กระทั่งเจ้าแก้วนวรัฐได้พิจารณาให้เป็นการตัดสินใจของคณะศรัทธาวัดพระธาตุศรีจอมทองเอง และยังมีการเรียกร้องความเป็นกรรมสิทธิ์เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่อมาอีก 2 – 3 ครั้ง กระทั่งครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2505 ท่านพระครูสังวรญาณได้พยายามทวงคืนพระเจ้าไม้สะเลียมหวานอีกครั้ง มีคณะกรรมการระดับอำเภอเข้าร่วมด้วยการทำหนังสือขออัญเชิญพระเจ้าไม้สะเลียมหวานกลับคืนสู่อำเภอบ้านโฮ่ง ซึ่งการเรียกร้องในครั้งนั้นทางเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ได้โอนการตัดสินใจให้กับคณะศรัทธาวัดพระธาตุศรีจอมทอง ผลก็คือ เจ้าอาวาสและคณะศรัทธาไม่ยินยอม

เมื่อเวลาผ่านไป ชาวบ้านโฮ่งจึงได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปไม้สะเลียมหวานองค์ใหม่ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รวมใจและต่างก็เชื่อว่าพระเจ้าไม้สะเลียมหวานองค์ใหม่นี้ก็มีความศักดิ์สิทธิ์เหมือนกับองค์เดิมทุกประการ กระทั่งนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมาก็ไม่มีการเรียกร้องกรรมสิทธิ์อีก เรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าไม้สะเลียมหวานจึงกลายเป็นเรื่องเล่าสำหรับคนรุ่นหลังไป ตำนานการสร้างพระเจ้าไม้สะเลียมหวานยังมีความเชื่อเกิดขึ้น 2 เรื่องด้วยกันคือ เรื่องแรกเป็นตำนานพระเจ้าไม้สะเลียมหวานของชาวบ้านโฮ่ง ซึ่งเป็นตำนานลายลักษณ์อักษรที่เขียนขึ้นจากตำนานมุขปาฐะ โดยพระมหาศิลป์ สิกขาสโภ ตามคำบอกเล่าของพระครูสังวรญาณ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2500 กล่าวว่า

“เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ เมื่อเสด็จมาถึงตำบลหนึ่งซึ่งมีต้นสะเลียม (ต้นสะเดา) ขึ้นอยู่หนาแน่น พระพุทธองค์เมื่อทรงบิณฑบาตแล้วก็แวะพักเสวยภัตตาหารใต้ต้นสะเลียมใหญ่ต้นหนึ่ง เมื่อพระองค์เสร็จจากภัตตกิจแล้วพระองค์จึงทรงเข้าสมาธิ จนกระทั่งเวลาบ่ายเกิดความอัศจรรย์เมื่อเงาของไม้สะเลียมยังคงอยู่กับที่เพื่อถวายให้ร่มเงาแด่พระพุทธเจ้า พระอานนท์จึงเกิดความสงสัยจึงทูลถามพระพุทธองค์ จึงทรงมีดำริว่า ต่อไปเบื้องหน้าจะมีบุคคลผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนานำไม้สะเลียมต้นนี้ไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูปไว้บูชา กระทั่งกาลต่อมาได้มีผู้คนนำต้นไม้สะเลียมดังกล่าวมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปไว้สักการะบูชาประจำหมู่บ้าน ตั้งแต่นั้นมาดินแดนบ้านโฮ่งก็เกิดความอุดมสมบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดูกาล”

ตำนานนี้จึงถือเป็นต้นแบบของตำนานพระเจ้าไม้สะเลียมหวานที่กล่าวถึงกันโดยทั่วไป ขณะเดียวกันก็มีตำนานพระเจ้าไม้สะเลียมหวานที่ประดิษฐานในวิหารหลวงวัดพระธาตุศรีจอมทอง กล่าวว่า “สมัยหนึ่งพระพุทธองค์ได้มาโปรดพวกลัวะในถิ่นนี้ พวกลัวะจึงได้จัดอาสนะให้พระพุทธเจ้าประทับนั่งภายใต้ต้นสะเลียม จากนั้นพระพุทธองค์จึงทำนายไว้ว่าต่อไปคนจะตัดต้นสะเลียมไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูปมีนามว่า พระเจ้าไม้สะเลียมหวาน” อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการอ้างกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของพระเจ้าไม้สะเลียมหวาน รวมถึงการสร้างพระพุทธรูปไม้สะเลียมหวานองค์ใหม่เกิดขึ้นกี่องค์ แต่ชื่อของพระเจ้าไม้สะเลียมหวานยังคงเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่อยู่คู่กับแผ่นดินล้านนาในฐานะของศูนย์จิตใจชาว
บ้านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถ้าไม่นับว่าพระองค์นี้เป็นของใคร

เอกสารประกอบ
วิลักษณ์ ศรีป่าซาง “กรณีพิพนาทพระเจ้าไม้สะเลียมหวาน” ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม,2539

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น