กาดหลวง กาดคู่เมืองเจียงใหม่

การค้าขายของคนเมืองเชียงใหม่ เริ่มต้นมีมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่พญามังราย ทรงเข้ายึดครองนครหริภุญชัย ก็เพื่อสาเหตุต้องการขยายพระราชอำนาจ ควบคุมการค้าที่มั่งคั่งของอาณา จักรหริภุญชัย ที่เวลานั้นเป็นชุมทางการค้าที่สำคัญ สามารถเชื่อมโยงกิจกรรมทางการค้ากับเมืองต่าง ๆ ได้รอบ เช่นกับเมืองฝาง เมืองเชียงแสน และเมืองท่าทางใต้ เช่น อโยธยา ดังปรากฏหลักฐานในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ที่กล่าวถึงพญามังรายได้ซักถามพ่อค้าที่ขึ้นไปค้าขายกับเมืองฝาง เกี่ยวกับสภาพของหริภุญชัย ซึ่งได้รับคำตอบว่า หริภุญชัยมีความสงบรุ่งเรืองดี “พ่อค้าทางบก ทางน้ำเทียวมาค้าชุเมือง”

นอกจากนี้ เมื่อพญามังรายมาสร้างเวียงกุมกาม พระองค์ก็ทรงสร้างตลาดขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำปิง เช่นเดียวกับเมื่อสร้างเวียงเชียงใหม่ ก็ทรงเลือกชัยภูมิสำหรับสร้างศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาตอนบน เส้นทางการค้าที่สำคัญก็คือ แม่น้ำปิง ดังนั้นเมืองเชียงใหม่ จึงกลายเป็นศูนย์ กลางการค้าของภูมิภาค การค้าของคนเชียงใหม่ เป็นการแลกเปลี่ยนผลิตผลระหว่างชุมชนต่าง ๆ โดยมี “ตลาด” เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนสินค้า นอกจากนี้ในเวียงเชียงใหม่ ยังมีกลุ่มพ่อค้าเงี้ยว พ่อค้าฮ่อจากยูนนาน พ่อค้าชาวลาวจากล้านช้าง เข้ามาค้าขายอีกด้วย

กาด หรือ ตลาดมีหลายประเภท ในอดีตที่ผ่านมา มีทั้งกาดเช้า กาดแลง กาดเลิง กาดวัว รวมถึงกาดหมั้ว กาดเช้าก็คือ ตลาดนัดที่พ่อค้าแม่ค้านำข้าวของเช่น อาหาร เนื้อสัตว์ พืชผักมาขายเฉพาะในเวลาเช้ามืดเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันตามหมู่บ้านในชนบทยังมีปรากฏอยู่ ส่วนกาดแลง ก็คือตลาดนัดที่ขายของตั้งแต่บ่ายจนถึงเย็น แต่ถ้าพ่อค้าแม่ค้านำของมาขายตั้งแต่เช้าจนถึงเย็นจะเรียกว่า กาดเลิง ส่วนกาดวัว นั้นถือว่าเป็นกาดนัดที่อาจจะจัดขึ้นเดือนละครั้ง หรืออาทิตย์ละครั้ง ส่วนใหญ่ของที่นำมาขายจะเป็นเครื่องใช้ในการเกษตร รวมถึงวัวควาย ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงนิยมเรียกว่า กาดวัว ปัจจุบันรูปแบบดั่งเดิมของกาดวัว เปลี่ยนแปลงไปมีการนำสินค้าอุปโภคบริโภคเข้ามาจำหน่าย รวมถึงสินค้าอย่างรถจักรยาน รถจักรยานยนต์ก็ถูกนำเข้าร่วมด้วย

นอกจากนั้นเรายังจะได้ยินคำว่า “กาดหมั้ว” หรือ “กาดมั่ว” เกิดขึ้นในระยะหลังอีกด้วย กาดหมั้วก็คือ ตลาดที่ขายสินค้า อาหารสารพัน ขายกันตั้งแต่เช้าจรดเย็น ซึ่งมีรูปแบบในบรรยา กาศย้อนยุค โดยเฉพาะในการจัดงานสืบสานล้านนา จะมีการจำลองบรรยากาศแบบกาดหมั้วให้ได้เห็น รูปแบบของกาดได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา จากที่เคยวางขายกันริมทางเดินหรือถนน ก็พัฒนาขึ้นมาขายในอาคารที่แข็งแรงทนทาน ปัจจุบันตลาดที่ทำการใช้แลกเปลี่ยนสินค้าในเมืองเชียงใหม่ มีไม่กี่แห่ง บางแห่งก็ล้มหายไปแต่ที่ยังหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็เห็นจะเป็นกาดหลวง หรือกาดวโรรส ที่ยังสืบสานตำนานการค้าของอดีตเอาไว้อย่างเหนียวแน่น แม้ว่าปัจจุบันจะเปลี่ยนรูปแบบให้ทันสมัยขึ้นก็ตาม

กาดหลวง หรือ ตลาดวโรรส ตลาดสำคัญของเมืองเชียงใหม่ แต่เดิมเคยเป็น “ข่วงเมรุ” หรือสุสานเก่าของเจ้านายเชียงใหม่มาก่อน ผู้ที่คิดสร้างกาดหลวงขึ้นคือ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี เมื่อราวปี พ.ศ.2453 ด้วยทุนทรัพย์จำนวน 1,800 รูปี ซึ่งกู้มาจากพระคลังข้างที่โดยได้ทรงแบ่งหุ้นกาดหลวง ให้แก่เจ้านายในสกุล ณ เชียงใหม่ ได้เก็บค่าเช่าเป็นรายเดือนเลี้ยงชีพ ตลาดวโรรสเป็นของสกุล ณ เชียงใหม่ มาตลอด กระทั่งมาเปลี่ยนมือเป็นของตระกูลนิมมานเหมินท์ในที่สุด บ้างก็ว่านี่เป็นตำนานการต่อสู้ระหว่าง “เจ้ากับจีน” ที่พลิกโฉมธุรกิจการค้าของเชียงใหม่ให้เปลี่ยนแปลงไป

การค้าของเมืองเชียงใหม่ ดำเนินเรื่อยมา จนเมื่ออิทธิพลอังกฤษแผ่ขยายเข้ามาสู่ล้านนา เศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่ ที่เคยอยู่ในวงจำกัดและผูกขาด โดยเจ้าผู้ครองนครและขุนนางก็เกิดการเปลี่ยนแปลง หลังจากที่อังกฤษเข้ายึดครองพม่าเป็นอาณานิคม อังกฤษก็ดำเนินการค้ากับล้านนา โดยผ่านพ่อค้าพม่าและไทยใหญ่ ที่ค้าขายข้ามชายแดนมาแต่ดั่งเดิม ด้วยการนำสินค้าสำเร็จรูปของอังกฤษเข้ามาขาย แล้วรับซื้อวัวควายของป่า ซึ่งเป็นที่ต้องการของอังกฤษกลับไปขายยังพม่า

ขณะเดียวกันอังกฤษก็เข้ามาดำเนินกิจการป่าไม้สัก จากเจ้าผู้ครองนคร ซึ่งต่อมาเป็นเหตุให้เกิดข้อพิพาทในเรื่องผลประโยชน์ ระหว่างเจ้าผู้ครองนครกับบริษัทของชาวอังกฤษ จนรัฐบาลสยามต้องเข้ามาจัดการไกล่เกลี่ย และในที่สุดก็เข้าแทรก แซง โดยโอนกรรมสิทธิ์ป่าไม้ให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน แล้วปฏิรูปการปกครองไปพร้อมกัน

หลังจากที่รัฐบาลสยามปฏิรูปการปกครองหัวเมืองล้านนาแล้ว ก็เข้ามาจัดการด้านการคลัง ยกเลิกการเสียภาษีด้วยผลผลิตหรือส่วยและแรงงาน ให้ชำระด้วยเงินตราแทน โดยให้เจ้าภาษีนายอากรซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจีนที่อพยพขึ้นมาจากกรุงเทพฯ เป็นผู้ผูกขาดการจัดเก็บ ในเวลาเดียวกันการค้าทางเรือ ระหว่างกรุงเทพกับเชียงใหม่ โดยพ่อค้าชาวจีนก็ขยายตัวมากขึ้น ควบคู่ไปกับการเพิ่มจำนวนของชาวจีน ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเชียงใหม่ และทวีปมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อทางรถไฟไปถึงเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2464 กลุ่มนายทุนที่ผงาดขึ้นมามีบทบาทเหนือกลุ่มเจ้าที่ นับวันหมดอำนาจและอิทธิพลลงไปก็คือ กลุ่มนายทุนคนจีน

หลังปี พ.ศ.2507 เมื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นและหลัง พ.ศ.2512 เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติส่งเสริมให้เชียงใหม่ เป็นเมืองท่องเที่ยว ผู้คนจากต่างถิ่นก็เดินทางมาเยือนเชียงใหม่มากขึ้น ตลาดวโรรสจึงได้รับการขยายพื้นที่ใหญ่โตกว้างขวางตาม คนที่มาเดินตลาดวโรรสจึงมิได้มีเพียงคนเมืองดังเดิม

ตลาดวโรรสเคยได้รับการกล่าวขาน ว่าเป็นตลาดที่ทันสมัยที่สุดในประเทศ พื้นที่ตั้งวางสินค้าถูกจัดแบ่งอย่างเป็นระเบียบ ตัวตลาดมี 3 ชั้น ชั้นล่างสุดไว้จำหน่ายสินค้าพื้นเมือง ประเภทของกินของใช้ ชั้นที่ 2-3 ไว้จำหน่ายสินค้าเสื้อผ้าและของฝากจากเชียงใหม่ ปัจจุบันนอกจากตลาดวโรรส จะเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้า ที่สนองความต้องการของคนเมืองในระดับหนึ่งแล้ว ยังเป็นสถานที่ขึ้นชื่อที่นักท่องเที่ยวต้องแวะไปหาซื้อของกินพื้นเมือง เช่นน้ำพริกหนุ่ม ไส้อั่ว แคบหมู ไปเป็นของฝากได้อีก

ร่วมแสดงความคิดเห็น