สัมปทานไม้ของบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า ในเขตป่าบ้านโฮ่ง

นับตั้งแต่ ปีพ.ศ.2447 เป็นต้นมาภายหลังที่รัฐบาลสยามได้จัดตั้งกรมป่าไม้ขึ้นและโอนกิจการทำไม้ให้เป็นของรัฐบาล การขอสัมปทานไม้ต่าง ๆ จากบริษัทต่างชาติจึงต้องขออนุญาตจากรัฐบาลกลางเพียงแห่งเดียวเท่านั้นบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า ได้ขออนุญาตสัมปทานทำไม้ในเขตภาคเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดลำพูนทั้งหมด และได้เข้ามาทำสัมปทานทำไม้ในเขตป่าแม่ลี้ ป่าแม่แนต ป่าแม่ตื่น ป่าแม่หาด

การทำสัมปทานไม้ของบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า ได้เข้ามาสร้างปางไม้ โดยนำช้างและอุปกรณ์เครื่องมือในการทำไม้ต่าง ๆ อยู่ในบริเวณพื้นที่บ้านเกาะทุ่งม่าน ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน การทำไม้ของบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า จะตัดไม้จากป่าต่าง ๆ แล้วใช้ช้างลากไม้ซุงลง แม่น้ำลี้ เพื่อนำมากองไว้ที่ปางไม้ ว่ากันว่าไม้ซุงที่ตัดนั้นมีจำนวนมากหลายหมื่นต้น แต่ละต้นมาหน้าตัดกว้างไม่ต่ำกว่า 1 เมตร ซุงบางต้นมีความสูงของหน้าตัดสูงท่วมหัวก็มี หลังจากที่นำไม้ซุงมากองพักไว้ที่ปางไม้แล้ว บริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า ยังได้สร้างทางรถไฟเพื่อใช้ลำเลียงไม้ซุงจากปางไม้บ้านเกาะทุ่งม่าน ไปยังบ้านหนองปลาสะวาย ขนถ่ายไม้ลงในแม่น้ำปิงไหลล่องไปลงแม่น้ำเจ้าพระยาถึงกรุงเทพมหานครก่อนจะนำขึ้นเรือกลับสู่ประเทศอังกฤษ ในการทำไม้ในเขตอำเภอบ้านโฮ้งของบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า นอกจากจะก่อสร้างทางรถไฟสายเล็กขึ้น ซึ่งปัจจุบันทางรถไฟได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของถนนสายลำพูน – ลี้ การทำไม้ยังสร้างรายได้เล็ก ๆ ให้กับคนในชุมชนบริเวณแห่งนี้อีกด้วย

แม่หลวงไว ธรรมสิทธิ์ อายุ 92 ปี ท่านเกิดใน ปีพ.ศ.2460 เคยอยู่ร่วมกับเหตุการณ์สัมปทานทำไม้ของบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า แม่หลวงเล่าว่า บริษัทบอมเบย์เบอร์ม่าจะนำไม้สักที่ตัดมาพักไว้บริเวณบ้านเกาะทุ่งม่าน ซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำลี้ ซุงไม้สักจะตัดจากป่าร่องมาตามน้ำลี้ เมื่อมาถึงไม้ก็จะมากองสุมกันเต็มน้ำ จากนั้นจึงใช้ช้างลากมาบรรทุกใส่รถไฟ ซึ่งมีอยู่ 3 ขบวน สร้างทางเลียบไปทางลำน้ำลี้เริ่มจากท่าหลุก – วังปาน ผ่านบ้านทุ่งม่าน บ้านระแกะ บ้านห้วยกาน บ้านป่าดำไปจนถึงบ้านหนองปลาสะวาย เพื่อขนไม้ไปลงแม่น้ำปิง

ในช่วงที่มีการสัมปทานทำไม้ แม่หลวงไว ยังได้นำข้าวปลาอาหารมาขายให้กับคนงานตัดไม้ในปาง โดยทำบุหรี่ หมากพลูขายในราคามวนละ 1 สตางค์ ส่วนกับข้าวทำแกงไก่ขายในราคา 2 สตางค์ นอกจากนั้นยังมีชาวบ้านผู้ชายบางคนไปรับจ้างตัดไม้แบบ (ไม้หมอน)
สำหรับทำรางรถไฟในราคาเล่มละ 3 สตางค์

แม่หลวงไว ยังเล่าอีกว่า พอถึงเวลาสิ้นเดือน นายห้างซึ่งเป็นฝรั่งคุมงาน ก็จะนำเงินแถบบรรจุกระสอบใส่บนหลังช้าง 2 ตัว เพื่อนำเงินมาจ่ายให้กับคนงานทำไม้ ซึ่งมีหลายชาติพันธ์ปะปนกัน ทั้งเงี้ยว ไทใหญ่ ม่าน(พม่า) กะเหรี่ยง ขมุ ภายหลังจากที่สัมปทานไม้หมดไป คนงานเหล่านั้นก็พากับเดินทางกลับ แต่ก็มีบางส่วนที่อาศัยอยู่ที่นี่จนมีครอบครัวสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้นแล้วในพื้นที่ ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ้ง ยังมีเรื่องราวของคนเลี้ยงช้าง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับการทำสัมปทานไม้ของบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า พ่อไท สมราช อายุ 83 ปี อดีตเจ้าของช้างปู้บุญส่ง ซึ่งเคยชักลากไม้อยู่ในพื้นที่ป่าแม่หาด เล่าว่า ตนเองได้ซื้อช้างมาจากลุงโม้ ชาวบ้านอำเภอแม่ทาในราคา 65,000 บาท เมื่อประมาณ ปีพ.ศ.2498 เพื่อใช้ลากไม้ โดยเริ่มแรกนำช้างมาลากไม้เพื่อสร้างบ้านให้กับตนเองก่อน หลังจากนั้นจึงนำช้างออกตระเวนรับจ้างลากไม้ ในเขตป่าแม่ป๊อก ป่าแม่ตื่น ซึ่งได้รับสัมปทานป่าของโรงเลื่อย ทำงานลากไม้อยู่ 5 ปี ก่อนที่จะตระเวนออกไปรับจ้างลากไม้ถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอน

พ่อไท เล่าอีกว่า การเดินทางไปลากไม้ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จะไปกันเป็นคาราวาน มีช้างประมาณ 20 เชือก เดินทางไปตามป่าเขาจนถึงแม่ฮ่องสอน แล้วจึงรับจ้างลากไม้ ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน เมื่อสัมปทานไม้ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนหมดลงจึงพากับเดินทางกลับ สมัยที่ทำงานลากไม้อยู่นั้นได้เงินค่าจ้างคนละ 40,000 บาท การทำสัมปทานไม้สิ้นสุดลง ภายหลังเมื่อรัฐบาลได้ประกาศปิดป่าเมื่อ ปีพ.ศ.2518 ทิ้งไว้เหลือเพียงตำนานแห่งการทำไม้ในเขตป่าบ้านโฮ้งพื้นที่ ๆ ได้ชื่อว่ามีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของภาคเหนือ

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น