การนำเสนอนวัตกรรมการศึกษาของโรงเรียน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

วันที่ 6 ธันวาคม 2561 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 จัดประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ โดย นายสินอาจ ลำพูนพงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่” ให้แก่ ผู้อำนวยการสถานศึกษา ครู และศึกษานิเทศก์ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน,องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ,หน่วยงานเอกชน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 60 คน ณ ห้องประชุมล้านเงิน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1

โอกาสนี้ ดร.รตนภูมิ โนสุ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 3 กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ เป็น 1 ใน 6 จังหวัด ที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน รวมทั้งเพื่อดำเนินการให้มีการขยายผลไปใช้ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา เพื่อกระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสร้างพัฒนากลไกในการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 

การประชุมครั้งนี้ มีสถานศึกษา จำนวน 17 โรงเรียน ได้นำเสนอนวัตกรรมการศึกษาของโรงเรียนในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 34 นำเสนอนวัตกรรม จำนวน 5 โรงเรียน ดังนี้

1.โรงเรียนหางดงรัฐราษฎร์อุปถัมภ์ เรื่อง การเลี้ยงจิ้งหรีดคิดค้นนวัตกรรมการให้อาหาร โดย นายวิทยา ณ เชียงใหม่ ครูโรงเรียนหางดงรัฐราษฎร์อุปถัมภ์ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

2.โรงเรียนแม่แตง เรื่อง การพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยใช้ DLIT MAETANG MODEL โดย นายเฉลิมพล ดอนดี รองผู้อำนวยการโรงเรียนแม่แตง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

3.โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เรื่อง การจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา STAR STEMS ด้วยรูปแบบการเรียนรู้เชิงบูรณาการ TEPACK MODEL โดย ดร.เสกสรร สรรสรพิสุทธิ์ ครูโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

4.โรงเรียนดอยเต่าวิทยาคม เรื่อง การปลูกฝังคุณลักษณะอันพึ่งประสงค์ด้วยเทคนิค PINTHO การบริหารจัดการภายในโรงเรียน โดย นางนิตยา ศรีสุวรรณ์ และ นางสาวเจนใจ สุธีพรวิโรจน์ ครู โรงเรียนดอยเต่าวิทยาคม อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่

5.โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม เรื่อง JEAMS Model รูปแบบบริหารเชิงวิชาการในโครงการพัฒนางานวิจัยในชั้นเรียน โดย นางอรชร อินทกุล ครู โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

ซึ่งสถานศึกษาที่ได้นำเสนอนวัตกรรมในครั้งนี้ ผู้แทนคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จะต้องรวบรวมนวัตกรรมและนำมาสังเคราะห์พิจารณาเป็นภาพรวมของจังหวัดเชียงใหม่ นำเสนอ พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในวันที่ 21 – 22 ธันวาคม 2561 ในประเด็น สภาพปัจจุบัน จุดเด่น จุดด้อย/ปัญหาและแนวทางพัฒนาที่ตอบโจทย์ผู้เรียนและพื้นที่ ดังนี้ 1. หลักสูตรและการเรียนรู้ 2. สื่อการสอนและตำราเรียน 3. การประเมินผู้เรียน 4. การประเมินโรงเรียน 5. บุคลากร

6.การเงิน และระบบกลไกการมีส่วนรวมหรือจัดการศึกษาร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ และมีแผนการดำเนินงาน ผลที่คาดว่าจะได้รับและปฏิทินการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในแต่ละระยะต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น