กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตือนระวังอันตรายจากธูปไล่ยุง

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตรวจพบสารไดมีฟลูทริน (dimefluthrin) ในธูปไล่ยุง ที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และวางจำหน่ายทั่วไปตามแนวชายแดน เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่ระบุสถานที่ผลิตและเลขทะเบียน และสารที่ตรวจพบเป็นสารเคมีกำจัดแมลง กลุ่มไพรีทรอยด์ (pyrethroids) จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 และยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน อย. ซึ่งผิดกฎหมาย และอาจได้รับอันตรายถึงตายได้

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย ดำเนินงานเฝ้าระวังตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพในท้องตลาดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ล่าสุดในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ได้มีการสำรวจและวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์จุดกันยุง ที่มีลักษณะเป็นแท่งคล้ายธูปที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และวางจำหน่ายทั่วไปตามแนวชายแดน รวม 7 ตัวอย่าง

พบว่าข้างกล่องผลิตภัณฑ์ ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่ระบุสถานที่ผลิต และไม่มีเลขทะเบียน อย. ระบุเพียงส่วนประกอบสําคัญ ของสารทรานส์ฟลูทริน (transfluthrin) 0.04% และเพอร์เมทริน (permethrin) 0.13% เมื่อนำมาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาเอก ลักษณ์ของสารกำจัดแมลง ด้วยวิธี GC-MS ผลการตรวจพบสารไดมีฟลูทริน (dimefluthrin) ทุกตัวอย่าง

สารไดมีฟลูทริน เป็นสารเคมีกำจัดแมลงกลุ่มไพรีทรอยด์ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 และยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 126 ตอนที่ 85 ก ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์และขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ก่อนทำการผลิต นำเข้า หรือส่งออก และผลิตภัณฑ์ ต้องมีการแสดงฉลากตามที่กฎหมายกำหนด โดยต้องแสดงเลขทะเบียน วัตถุอันตรายไว้บนฉลากผลิตภัณฑ์ และมีชนิดและความเข้มข้นของสารสำคัญเป็นไปตามที่ฉลากระบุ กลไกการออกฤทธิ์ ของสารเคมีกำจัดแมลงกลุ่มไพรีทรอยด์ที่ใช้ในธูปไล่ยุง จะรบกวนการทำงานของระบบประสาท ทำให้ยุงเป็นอัมพาตอย่างรวดเร็ว

โดยมีความเป็นพิษต่อคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตามหากสูดดมควันที่ปล่อยออกมาจากยาจุดกันยุง ในปริมาณมาก เช่น อยู่ในบริเวณที่คับแคบ ไม่มีอากาศถ่ายเทติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเป็นอันตราย ได้แก่ มึนงง ปวดศีรษะ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก อ่อนเพลีย ชัก หรือหมดสติได้ ส่วนอาการพิษอื่นๆ ที่พบ ได้แก่ อาการแพ้ทางผิวหนัง คัน มีผื่นแดง หากเข้าตาอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้

นพ.โอภาส กล่าวต่ออีกว่า จากการตรวจพบไดมีฟลูทรินในผลิตภัณฑ์ธูปไล่ยุง แสดงว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้ ไม่มีความปลอดภัย ซึ่งอาจเสี่ยงอันตรายต่อผู้ใช้ได้ ดังนั้นการนำเข้าหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน มีความผิดตามกฎหมาย เพื่อความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์จุดกันยุง ผู้บริโภคควรตรวจดูเลขทะเบียน หรือเครื่องหมาย อย. มีฉลากภาษาไทย ซึ่งระบุสถานที่ผลิตชัดเจน

สำหรับการนำไปใช้ ควรจุดผลิตภัณฑ์จุดกันยุงหรือธูปไล่ยุง ในห้องที่มีอากาศถ่ายเท ไม่ควรวางไว้ใกล้หรือรวมกับอาหาร วางให้พ้นมือเด็ก และเก็บให้มิดชิด หลังสัมผัสผลิตภัณฑ์จุดกันยุงทุกครั้ง ควรล้างมือให้สะอาด และควรใช้ภาชนะรองผลิตภัณฑ์จุดกันยุง ที่เป็นวัสดุที่ไม่ติดไฟ และวางให้ห่างวัตถุไวไฟ สตรีมีครรภ์และผู้ที่แพ้ง่าย ควรอ่านวิธีการใช้และใช้ตามฉลากระบุอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น