สดร. เผยภาพ “ดาวหาง46พี เวอร์ทาเนน” ก่อนเข้าใกล้โลกที่สุด 16 ธันวาคม นี้ คาดอาจมองเห็นด้วยตาเปล่า

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยภาพดาวหาง 46พี เวอร์ทาเนน ปรากฏบริเวณกลุ่มดาวแม่น้ำ บันทึกในคืนวันที่ 6 ธันวาคม 2561 เวลา 23.16 น. ณ ยอดดอยอินทนนท์ อ. จอมทอง จ. เชียงใหม่ ขณะนี้มีความสว่างปรากฏที่แมกนิจูด 10 สามารถสังเกตการณ์ได้ด้วยกล้องสองตา ก่อนจะโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดวันที่ 16 ธันวาคม 2561 นี้ คาดว่าจะมีค่าความสว่างมากขึ้นจนอาจสังเกตได้ด้วยตาเปล่าในที่มืดสนิท ในช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันออก บริเวณกลุ่มดาววัว เชิญชวนผู้สนใจติดตามปรากฏการณ์ดังกล่าวตลอดเดือนธันวาคมนี้

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า ดาวหาง 46พี เวอร์ทาเนน (46/P Wirtanen) จะโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 16 ธันวาคม 2561 นี้ ที่ระยะห่างจากโลกประมาณ 11.5 ล้านกิโลเมตร นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าจะมีค่าความสว่างสูงสุดประมาณแมกนิจูด 3 อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า (ค่าความสว่างที่ตาคนเราสามารถสังเกตเห็นได้อยู่ที่แมกนิจูด 6 ยิ่งค่าน้อยยิ่งมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพท้องฟ้าควรมืดสนิทปราศจากแสงและเมฆรบกวน สำหรับประเทศไทยสังเกตได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ เวลาประมาณหนึ่งทุ่มถึงตีสี่ บริเวณกลุ่มดาววัว จึงขอเชิญชวนผู้สนใจติดตามปรากฏการณ์ดังกล่าว

นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการสังเกตการณ์ดาวหาง 46พี เวอร์ทาเนน ในช่วงต้นเดือนธันวาคม ขณะที่ดาวหางยังสว่างไม่มากนัก สามารถสังเกตได้ด้วยกล้องสองตาที่มีกำลังขยายตั้งแต่ 7-10 เท่าขึ้นไปหรือกล้องโทรทรรศน์ และหากต้องการถ่ายภาพ ควรเลือกช่วงเวลาที่ดาวหางอยู่ในตำแหน่งสูงจากขอบฟ้ามากที่สุด เพื่อหลีกหนีมวลอากาศที่บริเวณขอบฟ้า สิ่งสำคัญคือต้องถ่ายภาพในบริเวณที่มืดสนิท ไม่มีแสงไฟ แสงดวงจันทร์หรือเมฆหมอกรบกวน

ดาวหาง 46พี เวอร์ทาเนน (46P/Wirtanen) เป็นดาวหางคาบสั้นขนาดเล็ก มีแหล่งกำเนิดจากบริเวณแถบไคเปอร์ ถัดจากวงโคจรของดาวเนปจูน ค้นพบโดย คาร์ล เอ. เวอร์ทาเนน นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.2 กิโลเมตร จะโคจรมาใกล้โลกประมาณทุก 5 ปี แต่สำหรับปีนี้ นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าจะมีความสว่างมากที่สุด และมีโอกาสสังเกตเห็นด้วยตาเปล่า จึงเป็นดาวหางที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง

ร่วมแสดงความคิดเห็น