เที่ยว “เตาเวียงบัว” แหล่งโบราณคดี จ.พะเยา

นักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางไปเยือนเมืองพะเยา หลายคนอาจไม่เคยทราบว่าเมืองแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานพอ ๆ กับการสร้างเมืองเชียงใหม่เลยก็ว่าได้ เพราะเมื่อครั้งที่พญามังรายมหาราช ทรงดำริจะสร้างเมืองขึ้นใหม่นั้น พระองค์ได้เชิญพระสหาย อันประกอบด้วยพ่อขุนรามคำแหง แห่งกรุงโขทัย และพญางำเมือง แห่งเมืองภูกามยาว (พะเยา) มาเลือกชัยภูมิในการสร้างบ้านแปงเมือง แล้วขนานนามเมืองใหม่นี้ว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่”

เมืองพะเยาจึงอาจเรียกได้ว่า เป็นเมืองเก่าแก่ที่ตั้งขึ้นในช่วงสมัยเดียวกับเมืองเชียงใหม่ของเรา ปัจจุบันนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะรู้จักเมืองพะเยาในฐานะเป็นเมืองที่มีบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่กลางเมือง หรือที่รู้จักคือ “กว๊านพะเยา” จนชื่อเสียงของกว๊านพะเยากลาย เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว จนมีคำกล่าวว่า มาพะเยาต้องมาเที่ยวกว๊านพะเยา ทว่าเมืองประวัติศาสตร์อย่างพะเยาก็มีเรื่องราวให้น่าศึกษาค้นหาอยู่อีกมาก ใครเลยจะรู้ว่าเมืองพะเยาแห่งนี้จะมีแหล่งประวัติศาสตร์ด้านโบราณคดีซุกซ่อนอยู่ กระทั่งล่าสุดได้มีการค้นพบแหล่งเตา

เผาโบราณบ้านเวียงบัว สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงสมัยพุทธศตวรรษที่ 17-18 ซึ่งเมื่อเทียบยุคสมัยอยู่ในยุคเดียวกับสมัยพญาเจื๋อง ขุนเจื๋อง ท้าวฮุ่ง กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ต้นราชวงศ์มังรายแห่งล้านนา ที่แผ่อิทธิพลอยู่ในอาณาจักรเงินยาง (พะเยา – เชียงราย) เดือนมีนาคม 2548 ได้มีการสำรวจขุดค้นเตาเวียงบัว 2 แห่ง ซึ่งพบเศษเครื่องถ้วยชามและร่องรอยโครงสร้างของเตา ผ.ศ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์ นักโบราณคดีในฐานะผู้อำนวยการขุดค้น กล่าวถึงลักษณะของเตาเวียงบัวว่า เตาที่พบและได้สำรวจขุดค้นไปแล้วนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 เตา ซึ่งพบอยู่ในบริเวณเนินดินใกล้กัน 

โดยพบว่าเป็นเตาแบบล้านนาชนิดเตาห้องเดี่ยว อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์โดยฝังอยู่ในเนินดิน ขนาดยาว 5 เมตร กว้าง 2 เมตร นอกจากนั้นยังพบอีกว่ามีการนำดินลักษณะคล้ายปูนสีขาวเนื้อละเอียด มีส่วนประกอบเป็นเม็ดดินแข็ง ๆ คล้ายแมงกานีส มาถมบริเวณหลังคาและรอบ ๆ ปล่อยเตา ซึ่งนับว่าเป็นหลักฐานโครงสร้างของเตาที่ไม่เคยพบเห็นจากที่ไหนมาก่อน

ส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องถ้วยที่พบมีทั้งชาม จาน และถ้วยในกลุ่มที่เรียกว่า “ชามตะไล” รูปทรงของจานและชามปากกว้าง มีขอบฐานเตี้ย ๆ ด้านในมีสันขอบปากม้วนกลมลักษณะเดียวกับชามที่เรียกว่า “ชามมอญ” ที่พบในแหล่งเตาเชลียงที่เมืองศรีสัชนาลัย จากหลักฐานสามารถยืนยันได้ว่าการผลิตเครื่องถ้วยชามในแหล่งเตาเผาเวียงบัวคงมีการเผา 2 ครั้ง

โดยการเผาครั้งแรกทำการเผาบิสกิต คือ เอาถ้วยชามที่ปั้นตากแห้งมาทาน้ำดินสีขาว ทำลวดลายแล้วเอาเข้าเผา เมื่อสุกแล้วจะได้ผลิตภัณฑ์เนื้อดินไม่แกร่งมาก มีสีแดง จากนั้นจึงคัดเอาใบที่มีสภาพดีไปชุบน้ำเคลือบสีเฉพาะด้านในและเช็ดปาดน้ำเคลือบที่ขอบปากออกแล้วนำไปเผาอีกรอบ คราวนี้จะได้ผลิตภัณฑ์เคลือบเนื้อแกร่งมาก ซึ่งจากการขุดค้นบริเวณเตาเก๊ามะเฟืองในที่ดินของพ่จันทร์ เฉพาะธรรม พบเครื่องถ้วยชามที่เสียหายบิดเบี้ยวและแตกหักถูกทิ้งเป็นกองขนาดใหญ่กินบริเวณกว้าง ทางคณะสำรวจและชาวบ้านจึงได้คงสภาพเศษถ้วยชามไว้ในตำแหน่งที่พบ จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์หลุมขุดค้นทางโบราณคดี

เครื่องถ้วยชามที่พบจากเตาเผาเวียงบัว เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ มีลวดลายที่เกิดจากการใช้แม่พิมพ์กดประทับเป็นรูปต่าง ๆ ทำลวดลายลงบริเวณกลางชามด้านในก่อนเคลือบทับ ลายที่พบส่วนใหญ่ได้แก่ ปลาคู่ สิงห์ ช้าง นกยูง ดวงอาทิตย์ ลายก้านขดและลายก้านขดผสมลายปลา ซึ่งเป็นลวดลายพิเศษที่ไม่เคยพบในเครื่องถ้วยชามของแหล่งเตาอื่น ๆ ในประเทศไทยหรือต่างประเทศมาก่อน

แม้ว่าเครื่องถ้วยในกลุ่ม “ชามตะไล” ที่พบจากแหล่งเตาเวียงบัวจะเหมือนกับเครื่องถ้วยในกลุ่ม “ชามมอญ” ของแหล่งเตาเชลียงศรีสัชนาลัย และแหล่งเตาสันกำแพงเชียงใหม่ และอาจมีส่วนคล้ายคลึงกับชามของแหล่งเตาบ่อสวกเมืองน่าน แต่เครื่องถ้วยจากแหล่งเตาเวียงบัว มีลวดลายกดประทับจากตรามีแบบแผนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ลวดลายดังกล่าวสันนิษฐานว่าสื่อให้เห็นความรู้ที่ลึกซึ้งในเชิงปรัชญาเกี่ยวกับจักรวาลและธรรมชาติของช่างในสมัยนั้น ที่สำคัญยังไม่พบร่องรอยที่ชัดเจนเกี่ยวกับพุทธศาสนาปรากฏอยู่ในเครื่องถ้วยเหล่านั้น ชวนให้เชื่อได้ว่าแหล่งเตาเวียงบัวที่ขุดค้น มีมาก่อนที่เมืองรอบกว๊านพะเยาจะรับนับถือพุทธศาสนา เป็นแหล่งเตาที่มีอายุมากกว่า 800 ปี และเชื่อว่าน่าจะมีอายุเก่าแก่พอ ๆ กับแหล่งเตาเชลียงเมืองศรีสัชนาลัย และอาจจะเก่าก่อนแหล่งเตาที่เมืองน่าน ก่อนแหล่งเตาเวียงกาหลง ก่อนแหล่งเตาสันกำแพงและแหล่งเตาอื่น ๆ ในล้านนา

อย่างไรก็ตาม การค้นพบแหล่งโบราณคดีเตาเผาเวียงบัว จ.พะเยา น่าจะเป็นกระตุ้นความสนใจของนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาศึกษาค้นคว้าในแง่ของประวัติศาสตร์และเที่ยวชมแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ จนกระทั่งพัฒนากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพะเยาก็เป็นได้

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น